เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #DESล่าขบวนการล้มเจ้า ! สมศักดิ์-ปวิณ ล่าข้ามโลกออกระเบียบให้สื่อใหม่ต้องรับผิดชอบ

#DESล่าขบวนการล้มเจ้า ! สมศักดิ์-ปวิณ ล่าข้ามโลกออกระเบียบให้สื่อใหม่ต้องรับผิดชอบ

19 May 2021
452   0

 

!!!!!!!!!!!!!!!ก.ดิจิทัล-สตช.ประสานฝรั่งเศสเร่งล่าตัว “สมศักดิ์ เจียม”!!

“รมว.ดิจิทัลฯ” เผยจับมือ สตช. ล่าตัว “สมศักดิ์ เจียม” ประสานฝรั่งเศสส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดนทั้งคดี พ.ร.บ.คอมพ์-ม.112 หลังสุมหัวปล่อยข่าวอัปมงคล เตรียมออกระเบียบใหม่ให้เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และร่วมรับผิดชอบกรณีหมิ่นสถาบัน เฟกนิวส์ หลอกขายสินค้า บ่อนออนไลน์ อีกทั้งเร่งทำประชาพิจารณ์ก่อนออกฎหมายดูแลเพจข่าว แก้ปัญหาเสนอข่าวมั่ว

ในยุคที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทนำในสังคม ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วชนิดเรียลไทม์ แต่ปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือ “เฟกนิวส์” หรือข่าวปลอม ข่าวปล่อย ตลอดจนการใช้สื่อเพื่อปลุกกระแสหรือให้ร้ายโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการ “ให้ร้าย จาบจ้วง และหมิ่นสถาบัน” กระทั่งล่าสุดถึงขั้นมีการปล่อยข่าวที่ไม่เป็นมงคลต่อองค์ประมุขของไทย สร้างความขุ่นข้องใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าหน่วยงานที่รับบทหนักในการเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็คือ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่นำเสนอข่าวและข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบัน รวมถึงเฟกนิวส์หรือข่าวปลอมที่นำเสนอผ่านสื่อโซเชียลอย่างจริงจัง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยเฉพาะเฟกนิวส์ที่เกี่ยวกับโควิค-19 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการขออำนาจศาลให้ออกคำสั่งไปยังแพลตฟอร์มของสื่อนั้นๆ ให้ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลโดยเร่งด่วน

โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการขอคำสั่งศาลให้มีการปิดกั้นเพจและเฟซบุ๊กไปแล้ว 12,259 ยูอาร์แอล ยูทูบ 4,015 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 1,773 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ 222 เว็บ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการ 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี หลังจากศาลมีคำสั่งไปแล้วแพลตฟอร์มของสื่อนั้นๆ อาจไม่ดำเนินการปิดกั้นก็ได้เพราะสื่อดังกล่าวตั้งอยู่ในต่างประเทศ การดำเนินส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขาด้วย

“ข้อมูลเท็จที่เสนอผ่านโซเชียลนั้นมีหลายแบบ เช่น ต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น การประท้วง ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง สร้างความเข้าใจผิด คือข่าวปลอมซึ่งจะมาเป็นช่วงๆ ช่วงที่มีม็อบก็จะมีข่าวปลอมเรื่องการเมือง ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะมีข่าวปลอมเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งพบมากในขณะนี้ โดยมีเจตนาดิสเครดิตรัฐบาลและให้ข้อมูลเท็จเนื่องจากไม่ต้องการให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดร็ว สร้างความเสียหายให้ส่วนรวมอย่างมาก เราจึงต้องเร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ข่าวเท็จลุกลามบานปลาย” รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว

สำหรับกรณีเฟกนิวส์เรื่องข่าวอัปมงคลที่เกี่ยวกับสถาบันซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนไทยเป็นอย่างมากนั้น นายชัยวุฒิ ชี้แจงว่า ทางกระทรวงดิจิทัลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาล และแจ้งไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กขอปิดกั้นข้อมูลของผู้โพสต์และปิดเฟซบุ๊กดังกล่าว ประมาณ 10 กว่ายูอาร์แอล หรือ 10 กว่าราย เช่น เพจของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพจของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ พร้อมทั้งดำเนินคดีต่อบุคคลดังกล่าวตามความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตร์ เนื่องจากเป็นกรณีที่สร้างความตื่นตระหนกและสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระทรวงดิจิทัลฯ จึงไม่อยากจะแถลงข่าวหรือพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนักเพราะเท่ากับเป็นการกระทำผิดซ้ำ หรือไปจุดประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากยิ่งขึ้น

ส่วนการตรวจสอบข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้นั้น ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำการตรวจสอบโดยใช้วิธีส่งข้อมูลไปสอบถามจากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ช่วยตรวจสอบ ซึ่งในส่วนของประชาชนที่เสพข่าวก็ควรดูแหล่งที่มาของข้อมูลเป็นหลัก โดยเลือกข้อมูลที่มาจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ มากกว่าจะฟังข้อมูลจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น นักการเมือง ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์

“สำหรับการดำเนินคดีต่อนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นผู้ปล่อยข่าวอัปมงคลเกี่ยวกับสถาบันนั้น ทางกระทรวงดิจิทัลได้ประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เร่งดำเนินการตามความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการในฐานความผิดตามมาตรา 112 ด้วย โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป รวมถึงประสานไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนด้วย” รมว.ดิจิทัล ระบุ

นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันอย่างต่อเนื่อง
นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันอย่างต่อเนื่อง

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียในประเทศไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง และให้สิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แม้จะโพสต์สิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ห้ามไม่ได้ ทำได้เพียงตรวจสอบและดำเนินคดีหลังจากที่โพสต์ไปแล้วเท่านั้น ซึ่งการดำเนินคดีทางกฎหมายนั้นหากผู้กระทำผิดอยู่ภายในประเทศการดำเนินการเอาผิดจะง่ายกว่า แต่หากพำนักอยู่ในต่างประเทศก็ค่อนข้างยาก โดยที่ผ่านมา มีการแจ้งความดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไปแล้ว 18,269 ยูอาร์แอล โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายชัยวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายในการดำเนินการต่อผู้ที่โพสต์ภาพหรือข้อความในลักษณะหมิ่นสถาบัน รวมถึงเฟกนิวส์ต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ อย่างเรื่องวัคซีนต้านโควิค-19 หรือโรงพยาบาลสนามนั้น เป้าหมายของกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้ต้องการนำคนผิดมาลงโทษเท่านั้น แต่มุ่งเน้นในเรื่องการป้องปรามให้คนเคารพกฎหมายและไม่กระทำผิดมากกว่า เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าการโพสต์หรือแชร์ข่าวปลอม ข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความตื่นตระหนก ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สังคมปั่นป่วน และบ้านเมืองเสียหายนั้นมีความผิดตามกฎหมาย

รมว.ดิจิทัลฯ ยังได้ชี้ถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการต่อผู้ที่โพสต์หมิ่นสถาบันและผู้เผยแพร่เฟกนิวส์ ว่า เนื่องจากที่ตั้งของสื่อดิจิทัลอยู่ในต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลไม่สามารถสั่งให้ปิดกั้นข้อมูล หรือปิดเฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ของผู้โพสต์ได้ทันที เพราะประเทศไทยไม่ได้มีซิงเกิลเกตเวย์ อีกทั้งผู้ประกอบการแพลตฟอร์มก็อยู่ในต่างประเทศ
รัฐบาลไทยไม่ได้มีอำนาจสั่งการ เพียงแต่ประสานขอความร่วมมือเท่านั้น

ดังนั้น ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานราบรื่นขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระว่างการศึกษาแนวทาง ซึ่งกฎหมายที่ออกมาใหม่นั้นจะกำหนดให้ 1) ผู้โพสต์ต้องยืนยันตัวตน สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนโพสต์ ซึ่งจะทำให้ผู้โพสต์ไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนโพตส์ทุกครั้งเพราะต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเอง 2) ผู้ประกอบการหรือเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย หากทางการไทยสั่งให้ปิดสื่อออนไลน์นั้นๆ ก็ต้องปิด 3) หากมีการโพสต์ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย เช่น หมิ่นสถาบัน เฟกนิวส์ โพสต์ขายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะหลอกลวง เปิดบ่อนพนันออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ว่าอะไรที่ผิดกฎหมายในสังคมกลับหาได้ในโลกออนไลน์ ส่วนจะร่วมรับผิดชอบอย่างไรนั้นกระทรวงดิจิทัลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาอยู่

“เนื่องจากเจ้าของแพลตฟอร์มมีรายได้จากการโฆษณา และสามารถนำยอดวิวมาคำนวณค่าโฆษณาได้ ดังนั้น หากเกิดปัญหาจากการโพสต์ข้อความที่มีลักษณะหลอกลวงประชาชน เช่น กินแล้วไม่แก่ กินแล้วไม่อ้วน หรือโพสต์หมิ่นสถาบัน ซึ่งส่งผระกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าคุณเป็นแพลตฟอร์มแล้วจะให้คนมาโพสต์หลอกขายของ หรือปล่อยให้สร้างบ่อนพนันออนไลน์ อย่างน้อยหากเรามีคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กใด เจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องปิดทันที อย่างที่ผ่านมา มีคำสั่งศาลให้ปิดเฟซบุ๊ก 12,259 ยูอาร์แอล แต่เจ้าของแพลตฟอร์มปิดกั้นจริงแค่ 5,740 ยูอาร์แอล ยังไม่ปิดกั้นอีก 6,519 ยูอาร์แอล ส่วนนี้ก็ยังคงสร้างปัญหาอยู่ เพราะเขามองว่ากรณีแบบนี้ไม่ผิด โดยเขาอาจจะใช้กฎหมายของสหรัฐฯ เป็นมาตรฐาน แต่นี่คือประเทศไทย” รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว

อีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ขณะนี้ทางกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังพยายามแก้ไขและวางแนวทางป้องกันปัญหาที่เกิดจากเพจที่มีลักษณะเป็นสื่อโซเชียล โดย นายชัยวุฒิ อธิบายว่า เนื่องจากสื่อออนไลน์ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อประชาชนอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยใดเข้ามากำกับดูแล หลายครั้งจึงเกิดการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ต่างจากสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ที่แตกแขนงมาจากหนังสือพิมพ์และทีวี ซึ่งสื่อเหล่านี้มีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กำกับดูแลอยู่ ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ จึงมีแนวคิดที่จะให้เพจต่างๆ ที่ทำหน้าที่เสมือนสื่อเข้ามาอยู่ในระบบ

“อย่างเพจอีจัน เพจแหม่มโพธิ์ดำ หรืออีกหลายๆ เพจที่ดำเนินการเสมือนสื่อ บางครั้งก็โพสต์ข่าวเพี้ยน ข่าวปลอม มีการตัดต่อภาพมั่วไปหมด แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปจัดการ กว่าจะมีคนออกมาแย้งว่าเป็นข่าวปลอม และลบข่าวดังกล่าวออกจากหน้าเพจ คนก็แชร์ไปทั่วแล้ว จึงเป็นปัญหาที่กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องเข้าไปดู ตอนนี้เรากำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 เดือนน่าจะได้ข้อสรุป โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนที่จะออกระเบียบหรือข้อกฎหมายมากำกับดูแล” รมว.ดิจิทัลฯ ระบุ

เชื่อว่าจากมาตรการดังกล่าว การให้ร้าย จาบจ้วงสถาบัน และปัญหาเฟกนิวส์ต่างๆ ที่สร้างความสับสนแตกแยกให้สังคมไทยคงจะลดน้อยถอยลง รวมถึงผู้นำเสนอข่าวและประชาชนที่เสพข่าวคงจะใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองก่อนที่จะโพสต์ เชื่อ หรือแชร์ข่าวนั้นๆ ออกไป!!

https://mgronline.com/specialscoop/detail/9640000048091

 

—————————————————————

ข่าวย้อนหลัง : www.vihoknews.com

กลุ่มเฟซบุ๊ก Vihoknews : https://m.facebook.com/vihoknews/

• LINE  : @vihoknews

. LINE กลุ่ม : https://line.me/ti/g2/rqsZ-ysjK2GM62hT1O0DPw?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default

• Twitter : @vihoknews

• YouTube : https://youtube.com/c/FaretzCassicam

สนับสนุนสถานี : มูลนิธิโฮรี่ 561-7-08721-7 ธนาคารกรุงเทพ

ทีมงาน : 082-107-0396