เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » ​ปฏิรูป อบต. สู่เทศบาล

​ปฏิรูป อบต. สู่เทศบาล

12 September 2017
1036   0

          หลังจากลุ้นให้มีการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นเวลาสามปี บัดนี้ก็เป็นผลสำเร็จแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านร่างกฎหมายยกฐานะ อบต. สู่เทศบาลแล้ว และในไม่ช้าก็จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลนั้น

          แต่ทว่าขณะนี้กำลังมีความสับสนเกิดขึ้น เพราะมีการสร้างความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลและ สนช. กำลังยุบ อบต. และทำให้ผู้ที่เข้าใจผิดหรือผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เกิดความสับสน แม้กระทั่งอาจแสดงท่าทีคัดค้านต่อความถูกต้องอันยิ่งใหญ่นั้น
          ก็ต้องบอกว่านับแต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย และทรงริเริ่มให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาลขึ้นเป็นแห่งแรกที่สมุทรสาคร โดยทรงมีเป้าหมายที่จะปรับขึ้นเป็นเทศบาลเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ปกครองบริหารจัดการท้องถิ่นให้เป็นไปตามความปรารถนาและประโยชน์สูงสุดของท้องถิ่น

 

         หลังสิ้นรัชกาลแล้ว เวลาเนิ่นนานไป งานปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นของพระองค์ท่านก็ชะงักงันและกระทั่งกลายพันธุ์ จนเกิดความสับสนอลหม่านขึ้นในทุกหัวบ้านหัวเมือง มีการปกครองหลายองค์กรหลายชนิดสับสนปนเปกัน
          ยกตัวอย่างเช่น ในตำบลหนึ่ง ๆ ก็มี อบต. บ้างก็มีเทศบาลอยู่ในตำบลเดียวกัน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องที่ อยู่ภายใต้อำนาจของอำเภอและจังหวัด ซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง และยังมี อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซ้ำซ้อนเข้ามาอีก นอกจากนั้นในระดับอำเภอหรือจังหวัดก็มีเทศบาลระดับต่าง ๆ ทั้งเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร จนสับสนอลหม่านไปหมด

          เมื่อครั้งที่พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เริ่มการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในยุคหลังนี้ โดยยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศประมาณ 400 แห่งขึ้นเป็นเทศบาลตำบล เป็นอันสิ้นสุดยุคสุขาภิบาลนับแต่บัดนั้นมา
          พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ทันได้ดำเนินการปฏิรูปต่อไปก็พ้นตำแหน่งไปเสียก่อน จึงค้างคาอยู่เพียงนั้น นั่นคือในประมาณ 400 ตำบล มี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซ้อนกันอยู่ คือมีทั้ง อบต. และเทศบาลตำบล ซึ่งยกฐานะขึ้นมาจากสุขาภิบาล งานที่จะต้องทำต่อคือควบรวม อบต. กับเทศบาลตำบลในตำบลเดียวกันเข้าด้วยกันจึงเป็นอันไม่ได้ทำ

 

         และยังไม่ต้องพูดถึงการยกฐานะ อบต. ทั่วประเทศขึ้นเป็นเทศบาลตำบล เพื่อปิดฉากรูปแบบ อบต. และยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบลมีรูปแบบเดียวคือเทศบาลตำบล และยังมิได้ดำเนินการปฏิรูปอีกขั้นหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้เทศบาลตำบลในพื้นที่ติดกันได้ควบรวมกัน โดยให้เป็นอำนาจของประชาชนในตำบลนั้น ๆ ที่จะลงประชามติ เพื่อให้เกิดการประหยัดในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นด้วย
          เมื่อมีการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีการเสนอแนวทางการปฏิรูปการปกครองต่อ คสช. เรื่องราวผ่านจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สู่นายกรัฐมนตรีไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้วก็เงียบหายไป จนเวลาเนิ่นนานผ่านไป และทำให้ขบวนการที่ผลักดันการปฏิรูปการปกครองพากันสิ้นหวัง เหนื่อยล้า โรยรากันไป

          และแล้วในขณะที่ความหวังและการรอคอยสิ้นไปนั้น ก็ปรากฏว่ามีการเสนอเรื่องนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้คือ

          ประการแรก ปรับฐานะ อบต. ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด ซึ่งจะมีผลทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบลเหลือเพียงรูปแบบเทศบาล ซึ่งมีอำนาจและมีประสิทธิภาพสูงกว่า อบต. โดยเฉพาะเส้นทางแห่งงบประมาณจะไม่ยืดเยื้อและตกหล่นระหว่างทางมากเกินไป จะทำให้ท้องถิ่นได้รับงบประมาณมากขึ้นจากจำนวนงบประมาณแม้เท่าเดิม
          ประการที่สอง ในตำบลใดที่มีทั้ง อบต. และเทศบาลตำบล ซึ่งยกฐานะขึ้นมาจากสุขาภิบาลเดิม ให้ควบรวมกันเหลือเป็นเทศบาลตำบลอย่างเดียว
          ประการที่สาม ในพื้นที่ตำบลติดต่อกัน ถ้าประชาชนในตำบลนั้น ๆ มีความเห็นพ้องลงมติเป็นประชามติให้ควบรวมเทศบาลตำบลทั้งสองตำบลเข้าด้วยกันก็ให้ควบรวมกันได้
          ประการที่สี่ ได้กำหนดการปรับฐานะเทศบาลโดยถือตามจำนวนประชากรในการกำหนดเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร เพื่อให้มีการปรับฐานะของเทศบาลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีอำนาจมากขึ้นตามจำนวนของประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้น ด้วยเหตุนี้ เทศบาลตำบลที่มีพื้นที่ติดต่อกันอาจควบรวมกันและถ้าหากมีประชากรถึงระดับที่จะเป็นเทศบาลเมืองก็สามารถยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองได้ หรืออาจยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครได้หากจำนวนประชากรถึงจำนวนที่กำหนด ซึ่งเป็นการให้อำนาจแก่ประชาชนในท้องถิ่นที่จะลงมติตัดสินใจกันเอง
          และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งของการที่รัฐบาลและ คสช. ให้ระงับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้วาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดก็เป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว

          ทำให้เกิดความพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเหลือเพียงประเภทเดียวคือเทศบาลทั้งประเทศแล้ว ซึ่งจะสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีและพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับและสั่งราชการกระทรวงมหาดไทยได้เปรยไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
          ดังนั้นหลังจากกฎหมายปรับฐานะ อบต. สู่เทศบาลมีผลบังคับใช้แล้วก็ย่อมเป็นสัญญาณหมายว่ามีความพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษคือกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาด้วย
          นี่จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นเรื่องที่ถือได้ว่าเป็นการสืบสานพระบรมราโชบายในการปฏิรูปการปกครองของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่เป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกหลังจากสิ้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น.
โดย สิริอัญญา 

วันอังคารที่ 12 กันยายน 2560

สำนักข่าววิหคนิวส์