เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » โวยแจกคนละครึ่ง ! ส.ส.ก้าวไกล อ้างไม่สน SME คิดไม่ออกก็แจก

โวยแจกคนละครึ่ง ! ส.ส.ก้าวไกล อ้างไม่สน SME คิดไม่ออกก็แจก

18 February 2022
453   0

   เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันแรกนั้น

จากนั้นเวลา 16.30 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุลส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลนี้คิดอะไรไม่ออกก็แจกแต่คนละครึ่ง ซึ่งเงินไปแล้ว 2.2 แสนล้านบาทแล้ว แต่เศรษฐกิจของประเทศยังวนเวียนที่เดิม แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ดี แต่ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาวได้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนฟื้นฟูประเทศที่จริงจังได้แล้ว เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลกู้เงินไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมงบกลาง 2.4 แสนล้านบาท เงินเกือบ 2 ล้านล้านบาท แต่ใช้วางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่เกิน 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะพลิกเศรษฐกิจอะไรได้เลย เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เหมือนเดินถอยหลัง หลายประเทศใช้ช่วงเวลานี้อัดฉีดเงินลงทุนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ประเทศไทยรัฐบาลแทบไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลย และตนไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่ฟื้น

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่จะเก็บภาษีที่ดิน 100% เต็ม หลังจากลดมาแล้ว 2 ปี มีการขอร้องว่า ปีนี้ลดภาษีที่ดินอีกปีได้หรือไม่ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังบอกว่า ไม่ได้เพราะจะเป็นภาระทางการคลัง ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดไปแล้ว 6 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จำนวนมาก ตนอยากถามว่าตรงนี้เป็นรายได้ใคร เพราะที่จริงแล้วไม่ใช่รายได้ของรัฐบาล แต่เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และที่มีปัญหาเพราะรัฐบาลไม่เคยชดเชยหรือจ่ายคืนหนี้เขา ติดหนี้ 6 หมื่นล้านบาท แต่ใช้หนี้ 1 หมื่นล้านบาท อีกประการสำคัญคือเศรษฐกิจจะฟื้นได้อย่างไร ถ้าเกษตรกรยังมีรายได้ตกต่ำต้องคอยลุ้นว่า ประกันรายได้ในปีต่อๆ ไปจะได้เงินหรือไม่ เพราะตอนนี้เงินที่เอามาใช้ในการประกันรายได้ไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งการกู้จาก ธ.ก.ส.โดยรัฐบาลมีกรอบวงเงินอยู่ จากเดิมตั้งไว้ 30% ได้ขยายมา 35% แต่มีทีท่าว่าจะไม่พอ เพราะประกันรายได้ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น

“เดี๋ยวนายกฯ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ก็จะบอกว่าที่ติดหนี้ ธ.ก.ส.นาน เป็นเพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ ตรงนี้ก็ถูกต้องเพราะหมายถึงรัฐบาล คสช.ด้วย ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตอนนี้หนี้จำนำข้าวเหลือประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่หนี้ที่เหลือคือหนี้ของรัฐบาล คสช. และรัฐบาลปัจจุบัน อาจจะบวกกับหนี้ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ อีกเล็กน้อย ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่ยอมใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยทำแบบนี้มา 3 ปีแล้ว พอมากู้เงิน ธ.ก.ส.ก็มีความไม่แน่นอนสูง จึงเกิดปัญหาว่าการประกันรายได้ที่จะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตกลายเป็นไม่มั่นคง นี่คือการบริหารเศรษฐกิจแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หมุนงบประมาณแบบปีชนปี บริหารแบบขายผ้าเอาหน้ารอด ให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมด้วยตนเอง แต่ตัดภาพเวลาที่รัฐบาลไปโอบอุ้มเจ้าสัวกลุ่มทุน ช่างแตกต่างจากเวลาที่โอบอุ้มประชาชน และเอสเอ็มอีในประเทศเหลือเกิน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

นส.ศิริกัญญาอภิปรายด้วยว่า หากการควบรวมทรู ดีแทค สำเร็จ ก็น่ากระทบค่าครองชีพประชาชน โดยบอร์ด กสทช. ได้แก้ประกาศริบอำนาจตัวเอง บอกว่าหากจะควบรวมไม่ต้องมาขออนุญาต ให้ควบรวมแล้วมารายงานให้ทราบ หากเกิดผลกระทบค่อยมาออกมาตรการ ที่ตนไม่เข้าใจกระบวนการสรรหา กสทช.จากสภาเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยชื่อ กสทช.ชุดใหม่ไปค้างที่นายกฯ ยังไม่ยอมทูลเกล้าฯ จริงหรือไม่ ขอตั้งคำถามว่า นายกฯ จะรอให้บอร์ดชุดนี้ ดูแลดีลนี้ให้จบก่อนใช่หรือไม่ ประชาชนต้องทนสภาพนี้อีกนานแค่ไหน เมื่อไหร่จะยอมรับ ไม่เหลือความชอบธรรม ความนิยม เมื่อไหร่จะลงจากอำนาจ ให้ประชาชนได้เลือกผู้นำที่เขาต้องการ เป็นคำถามที่น่าจะถามแทนใจประชาชนทั้งประเทศ