ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #แฉ ปั่นสวรรคต ร.8 ! รศ.หิรักษ์ อดีตรองอธิการ มธ. ฉะเจตนาสร้างข่าวปลอม

#แฉ ปั่นสวรรคต ร.8 ! รศ.หิรักษ์ อดีตรองอธิการ มธ. ฉะเจตนาสร้างข่าวปลอม

11 October 2021
494   0

 


วันที่ 13 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวง ร.9 ของปวงชนชาวไทย ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะจัดพิธีรำลึกถึงพระองค์ท่านอย่างไรบ้าง ส่วนประชาชนทั่วไปก็คงจะทำบุญ ตักบาตร ถวายเป็นพระราชกุศล ใน social media ก็คงจะมีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ และข้อความเทิดพระเกียรติกันอย่างเนืองแน่น และแน่นอนว่าในเพจของสำนักข่าวต่างๆ ก็จะโพสต์เรื่องราวของพระองค์กันแทบทุกเพจ
.
เพจของสำนักข่าวต่างๆ ที่อยู่ในค่ายของกลุ่ม 3 นิ้ว ที่ผูกขาดเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อประชาธิปไตย ก็คงจะโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และเรื่องราวของพระองค์กันทุกสำนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสำนักข่าวเหล่านี้ ในโอกาสทำนองนี้ทุกครั้ง มักเลือกมุมที่เหมือนกับเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ติดตามเข้ามาแสดงความเห็นที่เป็นลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กระนั้น
.
การแสดงความเห็นที่เป็นลบต่อสมเเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือกรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เรื่องที่ 2 คือเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ก่อให้เกิดโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ว่าเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพียงเพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และไม่ได้ประโยชน์จริงต่อประชาชนที่เดือดร้อนแต่อย่างใด และยังมีการกล่าวหาว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือ propaganda อีกด้วย
.
ในโอกาสนี้จึงใคร่ขอนำไปสำรวจข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยขอเริ่มที่ กรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก่อน
.
การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ขณะนั้นเป็นรัฐบาลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ในวันสวรรคต รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ฉบับแรกว่าสาเหตุของการสวรรคตเป็นอุบัติเหตุ จากอาวุธปืน
.
ในการสอบสวนชันสูตรพระบรมศพในชั้นแรกมิได้ทำอย่างละเอียด แพทย์ประจำพระองค์ หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ เป็นแพทย์ที่ถูกตามมาเป็นคนแรก ได้ทำความสะอาด เช็ดพระโลหิต และได้พบบาดแผลเหนือคิ้วซ้าย และได้ทำความสะอาดบาดแผล ซึ่งลักษณะเป็นรอยแฉก 4 แฉก จึงทำความสะอาดบาดแผล และเย็บแผลให้ติดกัน โดยไม่พบรอยกระสุนออกแต่อย่างใด
.
ต่อมา รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2489 มีประธานศาลฏีกาเป็นประธาน และมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ คณะกรรมการได้อนุญาตให้ประชาชนเข้าฟังการสอบสวนได้ ชาวบ้านจึงเรียกคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ว่า “ศาลกลางเมือง”
.
ในวันเดียวกัน อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้เชิญคณะแพทย์มาร่วมเป็นกรรมการชันสูตรพระบรมศพ มีพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นประธาน
.
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 10 มิถุนายน ขณะทำการเช็ดพระวรกาย นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ ได้พบรูกระสุนขนาด 1 นิ้ว ที่พระปฤษฎางค์(ท้ายทอย) ซึ่งพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าเป็นรูกระสุนออกจริง และต่อมาคณะกรรมการแพทย์กับคณะกรรมการสอบสวนจึงได้ทำการตรวจ และชันสูตรพระบรมศพอย่างละเอียดในวันที่ 21 มิถุนายน 2489 และได้มีการทดลองยิงศพต่างๆ ณ ห้องตรวจศพ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 22 มิถุนายน
.
ในการประชุมวันที่ 23 มิภุนายน คณะแพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุของการสวรรคตเป็นไปได้ 3 ประการคือ 1.อุบัติเหตุ 2.ปลงพระชนม์เอง 3.ถูกลอบปลงพระชนม์
.
จากการสอบปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดของศาลกลางเมือง สรุปพอสังเขปได้ว่า

1.หลังจากเสด็จประพาสสมุทรสาคร จังหวัดถวายเลี้ยงอาหารทะเล ผู้ที่กินปูทะเลมีอาการท้องเดินทุกคนพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็เช่นกัน ทรงประชวรพระนาภี(ท้อง)มาก วันที่ 8 มิถุนายน แพทย์จึงถวายน้ำมันละหุ่ง และพระโอสถออบตาลิดอน
.
2.เช้าวันที่ 9 มิถุนายน เวลาประมาณ 5 น.เศษ สมเด็จพระราชชนนี พร้อมด้วยมหาดเล็กรับใช้อีก 2 คน เสด็จ ไปยังห้องบรรทม ทรงปลุกและถวายน้ำมันละหุ่ง นมสด และน้ำอุ่น จากนั้นบรรทมต่อ
.
3.เวลาประมาณ 8 น. นายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กเฝ้าหน้าห้อง เห็นว่าทรงตื่นบรรทม เสด็จออกจากห้องสรง จึงนำน้ำส้มคั้นไปถวาย พระเจ้าอยู่หัวโบกพระหัตถ์ไม่เสวย แล้วเสด็จขึ้นแท่นบรรทม
.
4.เวลาประมาณ 9 น. สมเด็จพระอนุชาเสด็จมาหน้าห้องแต่งพระองค์พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งถามอาการจากนายบุศย์ ปัทมศริน และนายชิต สิงหเสนี มหาดเล็กหน้าห้อง ทั้งคู่ทูลตอบว่าทรงสบายขึ้น ขณะนี้บรรมทมต่อ สมเด็จพระอนุชาจึงเสด็จไปที่ห้องพระราชชนนี จากนั้นเสด็จประทับอยู่ที่ห้องเครื่องเล่น ซึ่งอยู่ติดกับห้องบรรทมของพระองค์
.
5.เวลาประมาณ 9.30 น มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด นายชิตได้ยินแต่ไม่แน่ใจว่าเสียงมาจากไหน ประมาณ 2 นาทีจึงเข้าไปในห้องบรรทม นายบุศย์คงรออยู่หน้าห้อง นายชิตให้การว่า เห็นพระเจ้าอยู่หัวบรรทมเหมือนปกติ แต่เห็นโลหิตเปื้อนพระศอและพระอังสา(ไหล่)ซ้าย นายชิตวิ่งไปที่ห้องพระบรรทมสมเด็จพระราชชนนี กราบทูลว่า ในหลวงยิงพระองค์ แต่ปรากฏความจริงในภายหลังว่า นายชิตเองไม่ได้เห็นเหตุการณ์เนื่องจากเข้าไปหลังได้ยินเสียงปืน
.
6.นางสาวจรูญ ตะละภัฏ ข้าหลวงของสมเด็จพระราชชนนี กำลังทำงานให้ห้องบรรทมของสมเด็จพระอนุชา ได้ยินเสียงปืน เสียงวิ่งและเสียงกราบทูลของนายชิต จึงวิ่งออกมาผ่านห้องเครื่องเล่น สมเด็จพระอนุชาประทับอยู่ห้องเครื่องเล่น ได้ยินเสียงคนวิ่ง เสียงสมเด็จะพระราชชนนีกรรแสง จึงเสด็จออกจากห้องเครื่องเล่น พอดีได้พบกับนางสาวจรูญ จึงรับสั่งถามว่า “เกิดอะไรกัน” นางสาวจรูญกราบทูลไปตามที่ได้ยินจากนายชิต สมเด็จพระอนุชาจึงทรงรีบเสด็จตามไปยังห้องพระบรรทม
.
7.สมเด็จพระราชชนนีเสด็จถึงก่อน นายชิตแหวกพระวิสูตร(มุ้ง) เห็นพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหงายอยู่ในท่าหลับธรรมดา นางสาวเนื่อง จินตดุลย์ พระพี่เลี้ยง ตามเข้าไป เห็นสมเด็จพระราชชนนีอยู่ปลายพระแท่น โถมกอดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหงายอยู่บนพระยี่ภู่ (ที่นอน) พระเศียรหนุนพระเขนยเอียงไปทางขวาเล็กน้อย มีผ้าคลุมจากพระบาทถึงพระอุระ พระกรทั้ง 2 ข้างเหยียดไปอย่างธรรมดา พระหัตถ์ไม่งอ พระพักตร์มีพระโลหิตไหลเปื้อนเปรอะ พระเนตรปิดสนิท ไม่ได้ทรงฉลองพระเนตร นางสาวเนื่อง เป็นผู้ที่เห็นปืนวางอยู่บนบนผ้าคลุมบริเวณข้อศอกซ้าย ใกล้ๆ พระกร หันปากกระบอกปืนไปยังปลายพระบาท จึงใช้นิ้วชี้มือขวา กับนิ้วหัวแม่มือ จับกลางตัวปืนไปวางไว้บนตู้ด้านซ้ายมือ
.
รายงานการชันสูตรพระบรมศพของคณะแพทย์สรุปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตโดยอาวุธปืน ขณะที่บรรทม
.
คณะแพทย์ยังลงความเห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่า พระเจ้าอยู่สวรรคตจากการลอบปลงประชนม์มีความเป็นไปได้มากที่สุด โอกาสที่จะสวรรคตเพราะอุบัติเหตุมีน้อยมาก เนื่องเพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวร และเป็นเวลาเช้า มหาดเล็กรายงานว่ายังไม่ทรงตื่นจากบรรทม และอีกประการ แม้พระองค์จะทรงโปรดพระแสงปืน แต่ก็ทรงมีความระมัดระวังมากทุกครั้ง อีกทั้งปืน 11 มม. หรือ ยูเอสอาร์มี เป็นปืนที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดลั่นง่ายๆ อีกทั้งลักษณะแผลที่พระนลาฎที่เป็น 4 แฉก น่าเกิดจากการยิงจากระยะไม่เกินกว่า 5 เซนติเมตร
.
ความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการปลงพระชนม์เองก็มีน้อยมากเช่นกัน เนื่องเพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถนัดขวา แต่รูกระสุนอยู่พระนลาฎ เยื้องทางซ้ายเล็กน้อย การจะยิงพระองค์เองตรงจุดนั้น จะต้องจับปืนด้วยพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง หันปากกระบอกปืนมาทางพระนลาฎด้านซ้าย และเหนี่ยวไกปืนด้วยนิ้วโป้งทั้ง 2 พร้อมก้น ซึ่งยากลำบากเกินไป อีกทั้งพระกรยังอยู่ในลักษณะเหยียดเกือบตรงทั้ง 2 ข้าง พระหัตถ์ไม่มีอาการเกร็งแต่อย่างใด
.
ด้วยเหตุดังกล่าว ข้อสรุปของแพทย์เสียงข้างมากจึงเห็นว่า การถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด แต่ก็ไม่อาจชี้ชัดโดยปราศจากข้อสงสัยได้ อย่างไรก็ดี ความเห็นของกรมตำรวจ สาเหตุของการสวรรคต ยังเป็นเพราะอุบัติเหตุตามแถลงการณ์เดิมของรัฐบาล
.
ต่อมาเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กรมตำรวจโดยอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีหลวงชาติตระการโกศลเป็นประธาน คณะกรรมการตำรวจชุดนี้กลับลงมติในวันที่ 20 กันยายน 2490 ว่า “เป็นการลอบปลงพระชนม์โดยเด็ดขาด”
.
หากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เกิดจากการลอบปลงพระชนม์จริง ผู้ลอบปลงพระชนม์จะต้องวางแผนมาอย่างดี ใจเย็น มีความนิ่ง และมีความเลือดเย็นมาก คำถามที่ไม่เคยปรากฏคำตอบที่ชัดก็คือ หากเป็นการลอบปลงพระชนม์ ผู้ลอบปลงพระชนม์ลอบเข้ามาถึงแท่นพระบรรทม อำพรางหลักฐาน และหนีออกไปโดยไม่มีใครเห็นได้อย่างไร แม้จะบอกว่าการถวายอารักขา และรักษาความปลอดภัยที่พระที่นั่งบรมพิมานจะค่อนข้างหละหลวมก็ตาม
.
สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาอีกประการคือ ภายหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ กลับพบว่าปืนของกลางที่วางอยู่ข้างพระกร ไม่ได้เป็นปืนที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ด้วยการพิสูจน์ของกรมวิทยาศาสตร์ได้ระบุว่า “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ากระสุนที่ผ่านพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดจากการยิงของผู้อื่น โดยปืนยูเอสอาร์มี ขนาด 11 มม. และไม่ใช่กระสุนที่ยิงออกมาจากปืนของกลางที่วางพรางไว้บนพระแท่น สมมุติฐานว่าอุบัติเหตุโดยพระองค์เองและปลงพระชนม์เองจึงเป็นไปไม่ได้” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผู้ยิงสามารถมีเวลาอำพรางหลักฐานเหล่านี้ทันได้อย่างไร และด้วยเทคโนโลยีสมัยนั้น การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ จะเชื่อถือได้ 100% หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาตราบจนทุกวันนี้
.
สำหรับพระราชอนุชา หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยพระชนม์มายุเพียง 18 พรรษา และจากการให้ปากคำของข้าหลวงทุกคนตรงกัน รวมทั้งนายชิต และนายบุศย์ ซึ่งเป็นมหาดเล็กเฝ้าหน้าห้องพระบรรทม ว่าขณะได้ยินเพียงปืน พระราชอนุชาประทับอยู่ที่ห้องเครื่องเล่น เช่นนี้แล้ว พระองค์จะทรงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างที่พวกนิยม 3 นิ้วพยายามป้ายสีได้อย่างไร
.
ข้อครหาที่ว่ามีความพยายามทำลายหลักฐานและวัตถุพยาน ในพระแท่นบรรทม จากคำให้การของมหาดเล็ก และชาวที่ (พนักงานหญิงที่ดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชฐาน) เห็นได้ชัดว่า บรรดาวัตถุพยานได้ถูกเคลื่อนย้าย และแปรสภาพโดยเจ้าพนักงานชั้นผู้น้อย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นนำผ้าที่เปื้อนเลือดไปซัก เป็นต้น และพนักงานสอบสวนซึ่งเข้าไปในพระที่นั่งบรมพิมานตั้งแต่เวลา 11.00 น. ก็ไม่ได้สั่งการให้เก็บหลักฐานและวัตถุพยานดังกล่าวไว้แต่อย่างใด
.
สำหรับข้อสันนิษฐานของบางคนว่า ผู้ลอบปลงพระชนม์ หากมีจริง เป็นเพราะมีผู้เกรงว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จะทรงสละราชสมบัติเพื่อลงมาเล่นการเมืองนั้น มีข้อเท็จจริงจากคำให้การของ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผุ้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท คือ เนื่องเพราะมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะยกเลิก พ.ร.บ. ที่ว่าให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งว่า อย่างนั้นพระองค์ท่านก็เล่นการเมืองได้เหมือนกัน เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่ ม.ร.ว.สุมนชาติ ยืนยันว่า เป็นการรับสั่งเล่นๆ เพราะรับสั่งต่อมาว่า “นี่แหละเบอร์นาร์ด ชอว์นะ” ซึ่งเบอร์นาร์ด ชอว์ เป็นนักเขียนที่เคยเขียนหนังสือเรื่องทำนองนี้นั่นเอง
.
นั่นหมายความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เคยรับสั่งทำนองนั้นจริง แต่เป็นการรับสั่งเล่นๆ และรับสั่งอยู่ในวงแคบๆ ส่วนจะมีใครไปบอกต่อ และเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริงจัง ก็เป็นไปได้ แต่จะเป็นสาเหตุที่จะทำให้มีการลอบปลงพระชนม์หรือไม่ ยังไม่มีอะไรที่ชี้ชัดลงไปได้ และคงไม่มีทางที่จะชี้ชัดได้ตลอดกาล
.
หมายเหตุ : ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีสวรรคตส่วนใหญ่ มาจากหนังสือเรื่อง “เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ” โดยคุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

——————————-