ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #เอาทูต23ปท.ขวาง ! กมธ.กฎหมายแถลง อ้างกังวลพรบ.NGOขวางต่างชาติแทรกแซงไทย

#เอาทูต23ปท.ขวาง ! กมธ.กฎหมายแถลง อ้างกังวลพรบ.NGOขวางต่างชาติแทรกแซงไทย

2 March 2022
427   0

วันนี้ (2 มี.ค. 65) เวลา 11.30 น. ณ อาคารรัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน คนที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร และคณะ กมธ. แถลงข่าวผลการพบปะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนาย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และคณะทูตานุทูต พร้อมด้วยผู้แทนทางการทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวม 23 ประเทศ

นายชวลิต วิชยสุทธ์ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตจากหลายประเทศให้ความสำคัญกับร่างกฏหมายของไทย โดยมีความเป็นห่วง และมีความกังวลต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) พ.ศ. …. จึงได้มาสะท้อนข้อกังวลที่ได้รับจากแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยจะมีกฎหมายฉบับดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรภาคเอกชนในประเทศต่าง ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินการในประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะ กมธ. ได้รับข้อกังวลและข้อห่วงใยจากมิตรประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร อาจจะเป็นการแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งตนได้เรียนกับเอกอัครราชทูตทุกท่านที่ได้มาพบในวันนี้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

“สำหรับข้อกังวลทั้งหมดที่ทางเอกอัครราชทูตได้สะท้อนความคิดเห็นนั้น ทางคณะ กมธ. จะนำจะนำส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่คณะรัฐมนตรีก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งมายังรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามกระบวนการของการออกกฏหมายต่อไป” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า การหารือร่วมกันในวันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่มิตรประเทศที่เป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ และประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีที่ให้คำรับรองในเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ความห่วงใย ห่วงกังวลต่อร่างกฏหมายฉบับนี้ และขอยืนยันว่าข้อห่วงใยต่าง ๆ จากมิตรประเทศ คณะ กมธ. จะนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก คณะ กมธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่หลากหลายประเทศให้ความสำคัญ และให้ความห่วงใย ถือเป็นข้อดี เป็นการสะท้อนความคิดเห็นที่หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติเรื่องของสิทธิมนุษยชน มิติเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคประชาสังคมบางส่วนทำหน้าที่ในเรื่องของการให้คำปรึกษากับบรรดาบริษัทธุรกิจต่าง ๆโดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติซึ่งจะเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ในส่วนของคณะ กมธ. จะนำข้อเป็นห่วงต่าง ๆ นำเสนอไปยังรัฐบาล ความเห็นทั้งหมดเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากฎหมายฉบับนี้

“การหารือกันในวันนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์การทำหน้าที่ของสภาชุดนี้ของคณะ กมธ. ชุดนี้ที่ ได้รับเกียรติจากหลากหลายประเทศที่มาสะท้อนข้อห่วงใยต่าง ๆ คณะ กมธ. เห็นว่าควรจะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับมิตรประเทศต่าง ๆ ต่อไป และคณะ กมธ. จะทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบ และสรุปความเห็นต่าง ๆ ส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด” นายรังสิมันต์ กล่าว