ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เพื่อไทยหางโผล่แล้ว ! เดินหน้าแก้ ม.112-116 จี้ปล่อยแก๊งล้มเจ้า

#เพื่อไทยหางโผล่แล้ว ! เดินหน้าแก้ ม.112-116 จี้ปล่อยแก๊งล้มเจ้า

1 November 2021
345   0

  เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงพรรคมีท่าทีผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 และมาตรา 116 ว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้อง พท.ไม่ได้นิ่งเฉย เราได้รวบรวมข้อเรียกร้องจากการชุมนุมเพื่อนำมาสู่ที่ประชุม และผลักดันข้อเรียกร้องเหล่านั้นเข้าที่ประชุมสภาต่อไป เพื่อให้เกิดการรับฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด เพราะเราเห็นว่าเสียงของทุกคนมีคุณค่า และมีความสำคัญที่เราไม่สามารถมองข้ามและละทิ้งไปได้

นี่จึงเป็นที่มาของแถลงการณ์พรรค เพื่อให้เกิดการทบทวนมาตรา 112 และมาตรา 116 ไปจนถึงพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการชุมนุม ไปจนถึงการติดตามและเรียกร้องการให้ประกันตัวแก่นักเคลื่อนไหว หรือผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเราจะใช้ช่องทางสภาอย่างถึงที่สุด เราต้องไม่นิ่งนอนใจให้เรื่องเหล่านี้เงียบไป

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าการเสนอแก้มาตรา 112 และมาตรา 116 จะเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า พท.ชัดเจนว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เรารับฟังข้อเรียกร้องมาจากประชาชน ถ้ามีความขัดแย้ง เราก็เชื่อว่า สภาจะเป็นที่ที่แก้ไขความขัดแย้งในสังคมได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ เชื่อว่าหากมีแนวทางการแก้ไขข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ตรงกัน จะผ่านวิกฤติศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลไปได้ เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำ ถ้าประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม จะเกิดการแก้ไขไปในทิศทางเดียวกัน และจะเป็นการแก้ปัญหาขัดแย้งในระยะยาว

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเสรีภาพทางความคิด เพื่อไม่ให้ผู้เห็นต่างกลายเป็นผู้ถูกจองจำ เราจะดำเนินการต่ออย่างป็นรูปธรรม นำข้อเสนอของประชาชนเข้าสู่สภา โดยเราจะสอดประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด เราจะเอาจริงเอาจังผลักดันข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้น แถลงการณ์ดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากที่พรรคได้แสดงวิสัยทัศน์ก่อนหน้านี้ว่า เราเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิด รวมทั้งต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การประกันตัว

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรค กล่าวว่า อย่างแรกรัฐจะต้องไม่เป็นต้นตอของความขัดแย้ง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง คือการสร้างความขัดแย้งให้กับสังคม ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องกลับมายึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อดำรงไว้ซึ่งสังคมที่เท่าเทียมและเป็นประชาธิปไตย