เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #อังกฤษ วุ่นแน่ ! รัสเซียประกาศไม่ขายก๊าซให้ เยอรมันก็เงินเฟ้อสาหัส หลังร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

#อังกฤษ วุ่นแน่ ! รัสเซียประกาศไม่ขายก๊าซให้ เยอรมันก็เงินเฟ้อสาหัส หลังร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

3 April 2022
395   0

 

  เชลล์ บริษัทพลังงานรายใหญ่ของสหราชอาณาจักรจะไม่สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซียของลอนดอน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันเสาร์ (2 เม.ย.) ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งทะยาน

“ลอนดอนต้องการเป็นผู้นำของทุกอย่างที่ต่อต้านรัสเซีย พวกเขาแม้กระทั่งต้องการอยู่หน้าวอชิงตันด้วยซ้ำ! นี่คือค่าชดใช้” เปสคอฟกล่าว เขาอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสหราชอาณาจักรเป็นเพียงประเทศเดียวที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรก๊าซพรอม แบงก์ของรัสเซีย สถาบันการเงินแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เปิดช่องทางรับชำระค่าก๊าซธรรมชาติของมอสโก และผลของมาตรการดังกล่าวก็คือสหราชอาณาจักรไม่สามารถชำระค่าก๊าซธรรมชาติได้

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปูตินลงนามในกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง บังคับให้บรรดาผู้ซื้อในรายชื่อ “ประเทศไม่เป็นมิตร” จะต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิลและสกุลเงินตราต่างประเทศกับธนาคารก๊าซพรอม สำหรับจ่ายค่าอุปทานก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ผู้ซื้อจะโอนเงินที่จะชำระไปยังบัญชีของก๊าซพรอมแบงก์ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จากนั้นแบงก์แห่งนี้จะแปลงเป็นรูเบิล และโอนไปยังบัญชีสกุลเงินรูเบิลของผู้ซื้อ เพื่อจ่ายค่าก๊าซของรัสเซียต่อไป

ในขณะเดียวกันมีรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในเยอรมนี พุ่งทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยประมาณการว่าดีดตัวขึ้น 7.3% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 มี.ค.) นอกจากนี้ มันยังเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์

การพุ่งขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เป็นผลสืบเนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งทะยานขึ้นเกือบ 40% ในเดือนมีนาคม

“ราคาก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกครั้ง และกำลังก่อผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อระดับสูง” สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีกล่าว พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันคล้ายกับที่เยอรมนีตะวันตกเผชิญในปี 1981 หรือเกือบ 1 ทศวรรษก่อนที่พวกเขาจะรวมชาติกับเยอรมนีตะวันออกในปี 1990

สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ระบุด้วยว่าการดีดตัวของดัชนี CPI ยังได้ปัจจัยหนุนจากภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมันเป็นปัจจัยที่ดันราคาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อขั้นท้ายสุดของเดือนมีนาคมจะมีการเผยแพร่ในวันที่ 12 เมษายน

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปทานพลังงานและราคาที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ยังทำให้ เยอรมนี ชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของยุโรปปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2022 ลงจาก 4.6% เหลือเพียง 1.8%

“เราเผชิญกับช่วงเวลาเลวร้ายจากระลอกคลื่นโอมิครอนอยู่ก่อนแล้ว และตอนนี้สิ่งต่างๆ มืดมัวยิ่งขึ้น” สำนักข่าว DW ของเยอรมนี อ้างคำกล่าวของ โมนิกา ชนิตเซอร์ จากสภาผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจของเยอรมนี “หากกระแสพลังงานของรัสเซียหยุดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะเสี่ยงอันตราย”

เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เยอรมนีประกาศใช้แผนฉุกเฉินทางพลังงาน หลังพบสัญญาณในเบื้องต้นในความเป็นไปได้ที่เผชิญกับความวุ่นวายหรือถูกรัสเซียตัดการส่งก๊าซธรรมชาติ มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ก่อนถึงเส้นตายในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) ที่รัสเซียกำหนดให้ “บรรดาประเทศไม่เป็นมิตร” ในนั้นรวมถึงเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในอียู เริ่มจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นรูเบิล แทนดอลลาร์หรือยูโร

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (30 มี.ค.) เครมลินระบุว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบชำระใหม่จะไม่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และจะให้เวลาพวกผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในการเปลี่ยนสกุลเงิน

(ที่มา : รัสเซียทูเดย์)