ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #หางโผล่แล้ว ! นปช.พะเยาขนคนเดินทางร่วมชุมนุมกับม๊อบปลดแอก

#หางโผล่แล้ว ! นปช.พะเยาขนคนเดินทางร่วมชุมนุมกับม๊อบปลดแอก

18 September 2020
838   0

18 ก.ย. 2563 นปช.พะเยา เริ่มเดินทางร่วมชุมนุม 19 ก.ย. 2563 ถูกรถขับตามประกบ ด้าน ตร. ใช้แผน ‘ชุมนุม 63’ ดูแลการชุมนุม สั่งกำลังหมื่นนายห้ามพกพาอาวุธ คณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ลงพื้นที่สังเกตการณ์ พร้อมแถลงข่าวเป็นระยะ ส่วนสมชัย ศรีสุทธิยากร แนะธรรมศาสตร์เปิดพื้นที่ให้แกนนำได้พูดคุยกับ จนท.รัฐ หาทางออกเรื่องความปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานว่า วันนี้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พะเยา ชุดหลัก ได้เริ่มเดินทางออกจากต้นทาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ด้วยรถยนต์ส่วนตัว มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร ระหว่างทางมีด่านตรวจยานพาหนะแม่ต๋ำ ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา ได้สอบถามการเดินทางของกลุ่ม นปช.พะเยา ที่ไปร่วมกิจกรรมชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.

ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงานกลุ่ม นปช.พะเยา กล่าวว่า เดิมทีทางกลุ่มได้ติดต่อเช่ารถตู้จำนวน 3 คัน เพื่อให้สมาชิกโดยสารเข้ากรุงเทพฯ แต่ปรากฏว่ารถตู้แจ้งกลับมายกเลิกด่วนทั้งหมดว่าไม่สามารถรับงานได้ ทำให้ตนและผู้ร่วมเดินทางต้องปรับแผนการเดินทาง จากรถตู้มาเป็นรถยนต์ส่วนตัว เพื่อแยกกันเดินทางไปตามจุดนัดหมาย และพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจากหลายหน่วยงานขับรถประกบติดตาม อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่สนใจ เพราะเป้าหมายคือการร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพมหานครวันที่ 19-20 ก.ย. 2563

ด้านไทยพีบีเอส รายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จะใช้แผนรักษาความสงบชุมนุมสาธารณะ หรือแผนชุมนุม 63 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2563 และการชุมนุมจากนี้ตลอดไป แทนแผนกรกฎ 52 ที่ใช้มานานกว่า 10 ปี จึงไม่ทันสมัย เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง และมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปรับปรุงแผนขึ้นมาใหม่ให้มีความทันสมัย เหมาะสม สอดคล้องเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่บังคับใช้เมื่อปี 2558 ซึ่งแผนได้ทำเสร็จและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาพรุ่งนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่จะมีการนำ “แผนชุมนุม63” ใช้กับสถานการณ์ชุมนุมจริง

สำหรับ “แผนชุมนุม 63” ยังยึดแนวทางปฏิบัติกับผู้ชุมนุมจากมาตรการเบาไปหาหนักเหมือนแผนกรกฎ 52 และเป็นแผนที่ไม่มุ่งเน้นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ แต่เน้นเรื่องการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการดูแลการชุมนุม เช่น ขอศาลให้การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า กำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งตำรวจหญิง รวมกว่า 10,000 นาย จะเริ่มเข้าพื้นที่ประจำจุดเพื่อรักษาความปลอดภัยตั้งแต่คืนนี้ ยืนยันการข่าวยังไม่พบ การพยายามสร้างสถานการณ์ของมือที่ 3 มีรายงานว่า ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในวันพรุ่งนี้ มีคำสั่งห้ามพกพาอาวุธ อย่างเด็ดขาด

ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยถึงการดูแลความปลอดภัย การชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า สถานการณ์โดยทั่วไปยังไม่น่าเป็นห่วง และยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องการขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนกรณีแผนการดูแลความสงบเรียบร้อยที่จากเดิมมีการกำหนดใช้แผน “กรกฎ52” เป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะมีการปรับไปใช้ “แผนชุมนุม 63” ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพิ่งลงนามอนุมัติคำสั่งใช้ไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ชี้แจงว่าแผนที่ปรับเปลี่ยนไป เป็นเพียงกรอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ต่างๆ เท่านั้น เป็นเรื่องภายในของตำรวจ โดยยืนยันว่าในการปฏิบัติก็จะดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้กำชับไม่ให้ใช้ความรุนแรงและเน้นย้ำดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด

สำหรับเรื่องภาพรวมการชุมนุม รวมถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยการชุมนุม ตลอด 2 วันนี้ เนื่องจากการชุมนุมไม่ได้จำกัดแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงที่เดียว แต่มีขึ้นพร้อมกันในหลายจังหวัด ดังนั้นจึงต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ให้รายละเอียด

นอกจากนี้ เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สมคิด เชื้อคง ประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครอง
และประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในคณะกรรมาธิการการปกครอง และคณะ แถลงข่าวว่า คณะทำงานได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 2563 ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีความเห็นว่าควรเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยในวันที่ 19 ก.ย. 2563 คณะทำงานฯ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอาสาสมัคที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 80 กว่าคน จะร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยจะตั้งเต็นท์อำนวยการบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อประสานงานความร่วมมือระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

คณะทำงานฯ จะแถลงข่าวถึงสถานการณ์การชุมนุม ใน 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 11.00 น. 14.00 น. และ 17.00 น. พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลผู้ชุมนุมทุกคนเหมือนญาติมิตร
และลูกหลาน ตลอดจนช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะประสงค์ร้ายต่อผู้ชุมนุม

ขณะที่สมชัย ศรีสุทธิยากร โพสต์เฟซบุ๊กในฐานะอดีรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า การดูแลสถานที่ราชการให้ปลอดภัย เป็นหน้าที่ของอธิการบดีและ ผู้ว่า กทม. แต่การดูแลประชาชนให้ปลอดภัยเป็นคุณธรรมที่สูงล้ำกว่า แนะมหาวิทยาลัยควรเปิดพื้นที่ให้แกนนำการชุมนุมร่วมวางระบบความปลอดภัยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ และกรุงเทพมหานคร