เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สัมมนาแก้จน !กมธ.จัด พิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

#สัมมนาแก้จน !กมธ.จัด พิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

10 August 2022
227   0

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องสัมมนา บี 1-1 อาคารัฐสภา คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม จัดสัมมนาและพิธีลงนาม (MOU) ความร่วมมือเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยมี นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภา ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนคณะกรรมการสถานศึกษา 23 โรงเรียน เข้าร่วมในพิธี


.
นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นไปได้ ผลจากการพัฒนา 60 ปี ทำให้ประเทศมีความเจริญเติบโตในทุกด้าน แต่ยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่กว่า 2 ทศวรรษ จำนวนคนยากจนขยับขึ้นลงตามสถานการณ์วิกฤติ นอกจากนั้น ความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ ในสังคมยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ดังนั้น ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพคือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ดังตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่สามารถฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม สำหรับประเทศไทยก็มีตัวอย่างให้เห็นเพียงแต่ว่ายังมีจำนวนที่น้อย และดำเนินการกันไปตามลำพังอยู่ที่บริเวณชายขอบของระบบการศึกษาของประเทศเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว และได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา จำนวน 6 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียน การสอนจนสามารถสร้างพลเมืองรุ่นเยาว์ ให้มีอาชีพ มีศักดิ์ศรีและมีงานทำ ลดความเหลื่อมล้ำและเอาชนะปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนขนาดเล็กที่ใกล้ถูกยุบสามารถปฏิรูปโรงเรียนและเปลี่ยนแปลงโรงเรียน สร้างนวัตกรรมการศึกษา และพัฒนาชุมชนโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาชุมชนรอบโรงเรียน ทั้งนี้ แนวคิดโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ถือเป็นแนวคิดที่มีความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาแนวใหม่ ที่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำและลดความยากจนได้ โดยมีลักษณะสำคัญ 10 ประการคือ 1) มุ่งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ 2) เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง 3) การปรับการเรียนเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ 4) คิดนอกกรอบ ทำสิ่งที่แตกต่าง 5) สอนประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในชีวิตจริง 6) เอาใจใส่ต่อกลุ่มชายขอบ 7) ตั้งคำถามให้คิด คิดคำตอบให้ตรงคำถาม 8) ฝึกวินัยต่อตนเอง 9) ฝึกนวัตกรรมรุ่นเยาว์ และ 10) เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอกชีวิตสำหรับทุกคน ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ ด้วยความร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม และเครือข่ายศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด (สภาประชาสังคมไทย) จึงได้ประสานความร่วมมือขยายเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยในปี 2565 มีพื้นที่ที่สนใจเข้าร่วมแล้ว จำนวน 108 แห่ง ใน 21 จังหวัด ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อนจำนวน 20 โรงเรียน ส่วนที่เหลือจะได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีสนับสนุนต่อไป
.
สำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “โรงเรียนร่วมพัฒนากับการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม” โดย นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา 20 โรงเรียน โดยมี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นายพลเดช ปิ่นประทีป ในฐานะประธานมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม และผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้ลงนาม และมีการเสวนาในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ” โดย นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา นายมณเฑียร บุญตัน กรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ กรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา นางทิพาพร ตันติสุนทร อนุกรรมาธิการ ตสร.การปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ และ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
.
โอกาสนี้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้กล่าวชื่นชมนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ในฐานะที่เป็นปัญญาชน เป็นนักคิด และเป็นนักปฏิบัติซึ่งกล้าที่จะปรับแนวทางในการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้สังคมได้รับประโยชน์
.
จากนั้น ในช่วงบ่ายได้จัดให้มีการสัมมนากลุ่มย่อยในหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงานเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา” พร้อมทั้งได้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันของผู้เข้าร่วมการสัมมนาอีกด้วย