เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สังศิต’ มั่นใจ ‘ชีวะภาพ’ !แก้ปัญหาชาวบ้านถูกเพิกถอนโฉนดได้ !?

#สังศิต’ มั่นใจ ‘ชีวะภาพ’ !แก้ปัญหาชาวบ้านถูกเพิกถอนโฉนดได้ !?

18 December 2022
156   0

 

 

 

‘กรณีที่ดิน 3,920 แปลง ในพื้นที่ 3 ตำบล อำเภอสากเหล็ก จังหวัพิจิตร ถูกเพิกถอนโฉนด เนื่องจากความคลาดเคลื่อน การประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ’ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย‘ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี 2509 โดยประกาศกระทรวงฉบับที่ 167 เหลื่อมล้ำทับซ้อนเข้ามาในพื้นที่ 3 ตำบลอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตรซึ่งราษฎรทำกินอยู่ก่อนแล้ว’

‘สังศิต’ มั่นใจ ชาวบ้าน 3 ตำบล มี ความชอบธรรมในที่ดิน 3,920 แปลง เพราะ สภาบริหารคณะปฏิวัติมีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2515 ให้จำแนกป่าไม้ถาวร ‘ป่าสากเหล็ก – ดงทับไทร ‘คือส่วนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรทั้งหมดให้เป็นที่จัดสรรเพื่อเกษตรกรรมและให้กรมป่าไม้ระงับการสงวนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่จนปัจจุบันแต่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพื่อคืนสิทธิครอบครองให้กับประชาชน’

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่ ประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของประชาชน พื้นที่อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพิจิตร โดยได้รับการต้อนรับจาก นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน

นายสังศิต กล่าวนำต่อที่ประชุมว่า ‘คณะกรรมาธิการฯได้รับการร้องเรียนจากตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน คือ นางอารมณ์ คำจริง และคณะ และได้นำเข้าสู่การพิจารณาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ได้พิจารณาศึกษาและทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และเห็นว่าปัญหาเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินในพื้นที่อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน ในอดีตได้มีความพยามยามของหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

‘ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบทอดมาจากในอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เริ่มมีเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล มากขึ้น เช่น การถือครองที่ดิน ที่ต้องมีโฉนดที่ดินเพื่อรับรองว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น และหน่วยงานที่เกิดขึ้นหลังปี 2475 ยังถือว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นของหลวงหรือของพระเจ้าแผ่นดิน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความหมายของคำว่าที่ดินที่เป็นของหลวงหรือของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เริ่มกลายไปเป็นที่ดินของรัฐหรือที่ดินของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ

‘ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนาน ผ่านรัฐบาลมาหลายชุด แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย และจากการที่ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่เป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เข้ามาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยความพยายาม ทุ่มเททำงาน จนได้ข้อสรุปว่า โฉนดที่ดิน 3,920 แปลง ในพื้นที่ตำบลคลองทราย ตำบลท่าเยี่ยม และตำบลหนองหญ้าไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร มีหลักฐานยืนยันว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2515 สภาบริหารคณะปฏิวัติ มีมติให้จำแนกป่าไม้ถาวร “ป่าสากเหล็ก – ดงทับไทร” คือส่วนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรทั้งหมด ให้เป็นที่จัดสรรเพื่อเกษตรกรรม และให้กรมป่าไม้ระงับการสงวนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าคำสั่งดังกล่าวยังไม่มีการยกเลิก แต่ยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ เพราะฉะนั้น หลักฐานดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ‘

‘แต่การที่จะทำให้ที่ดินดังกล่าวเป็นของพี่น้องประชาชนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ยังจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการและระยะเวลาในการดำเนินการต่อไป ซึ่งถ้าดำเนินการโดยระบบราชการปกติจะมีความล่าช้าเพราะยังขาดทั้งบุคลากรและงบประมาณในการดำเนินงานโดยต้องตั้งโครงการของบประมาณในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ล่าช้าออกไปอีก เพราะฉะนั้น ทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการให้กรมป่าไม้ดำเนินการของบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อจัดจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการรังวัดที่ดิน จัดทำแผนที่ เก็บรวมรวมข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ด้วย’

‘เมื่อวานเย็นวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม ได้ประชุมหารือเบื้องต้นร่วมกันระหว่างประธานคณะกรรมาธิการฯ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้แทนกรมป่าไม้ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้นำเรียนต่อที่ประชุมต่อไป ‘นายสังศิตกล่าว

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลำดับเรื่องราวต่อที่ประชุมว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวสะสมมาอย่างยาวนาน แต่จากการที่ได้ร่วมมือทำงานกับคณะกรรมาธิการฯทำให้เห็นความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาดังกล่าว อดีตผู้บริหารของกรมป่าไม้หลายท่านได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนาน แต่เรื่องก็เงียบหายไปเมื่อปี 2537 จนเมื่อปี 2558 สถาบันการเงินพบว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่นำมาจำนองหรือค้ำประกันเงินกู้อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ

‘จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาโดยกรมป่าไม้อีกครั้งหนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้นำข้อมูลจาก “ประวัติป่าสงวนแห่งชาติ” มาร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อมีการสืบค้นข้อมูลจากประวัติป่าสงวนแห่งชาติซึ่งมีการบันทึกข้อมูลและกระบวนการการทำงานต่าง ๆ อย่างละเอียด แต่เนื่องจากในสมัยก่อนเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่ทีการพัฒนามากนัก จึงทำให้การใช้คนลงเดินสำรวจเพื่อรังวัดพื้นที่เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดเป็นปัญหาดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งจากแนวเขตปกครองที่มีการขีดพื้นที่เขตของอำเภอวังทองบางส่วน ทับซ้อนเข้ามาในเขตพื้นที่ของอำเภอสากเหล็ก และมีแผนที่ในสมัยก่อนหลายฉบับที่มีความทับซ้อนกัน จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการทำแผนที่ในการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ’

‘ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการเก็บพื้นที่ป่าไม้ไว้ จึงมีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติต่าง ๆ ไว้ ซึ่งในอดีตกระทรวงเกษตราธิการทำหน้าที่ในการออกสำรวจและประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนโดยมีคณะกรรมการป่าสงวนประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด ป่าไม้เขต นายอำเภอ และหน่วยงานอื่น ๆ มีขั้นตอนในการติดประกาศให้มาคัดค้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งมีหน่วยงานในกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ลงไปสำรวจและจำแนกที่ดินที่จะประกาศเป็นป่าสงวนโดยประชุมร่วมกับทางจังหวัดว่าที่ดินส่วนใดควรให้ประกาศเป็นป่าสงวน และที่ดินส่วนใดที่ควรจำแนกออกมาให้ราษฎรทำกินหรือนำไปออกเอกสารสิทธิ์ให้ราษฎร ถ้าเห็นชอบในการจำแนกที่ดินออกมาให้ราษฎรทำกิน ก็จะตัดพื้นที่ส่วนนั้นออกมาจากแผนที่เขตป่าสงวน’

ปัญหาในพื้นที่สามตำบลของอำเภอสากเหล็ก เกิดขึ้นในช่วงปี 2508 – 2509 จากความคลาดเคลื่อนของหน่วยราชการทั้งสองฝ่ายที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้มีการยืนยันข้อมูลพื้นที่ป่าสงวนให้ตรงกัน นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2515 สภาบริหารคณะปฏิวัติ ได้มีมติให้จำแนกป่าไม้ถาวร “ป่าสากเหล็ก – ดงทับไทร” คือส่วนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรทั้งหมด (พื้นที่สามตำบล คือ ตำบลคลองทราย ตำบลท่าเยี่ยม และตำบลหนองหญ้าไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ประมาณ 39 ตารางกิโลเมตร) ให้เป็นที่จัดสรรเพื่อเกษตรกรรม และให้กรมป่าไม้ระงับการสงวนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จนเมื่อปี 2521 ทางกรมป่าไม้ได้แจ้งให้ป่าไม้เขตจังหวัดพิษณุโลกลงมาสำรวจ รังวัด เพื่อที่จะดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าสงวนแห่งชาติ แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปเมื่อปี 2537

จนเมื่อปี 2558 มีการทำผังเมืองรวม และมีกรณีสถาบันการเงินค้นพบว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่นำมาจำนองหรือค้ำประกันเงินกู้อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ จนมีการร้องเรียนและนำมาสู่การตั้งคณะทำงานลงมาตรวจสอบแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดพิจิตร (กบร. จังหวัด) รับไปอ่านแปลภาพและขีดเขตที่ดิน ซึ่งอาจจะนำเข้าสู่กระบวนการของ One Map แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ไม่สามารถบอกได้ว่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และเมื่อใด ‘

นายชีวะภาพกล่าวต่ออีกว่า จากการสืบค้นเอกสารที่เกี่ยวข้องและข้อมูลประวัติป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. การเพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติในเขตตำบลคลองทราย ตำบลท่าเยี่ยม และตำบลหนองหญ้าไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ออกไปจากแผนที่ที่ปรากฎในท้ายกฎกระทรวงป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ซึ่งในปี 2522 ได้มีการลงพื้นที่รังวัดไว้ครั้งหนึ่งแล้ว โดยค้นพบเอกสารเป็นหนังสือปะหน้าที่ป่าไม้เขตจังหวัดพิษณุโลกส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2522 เรื่อง การรังวัดเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้ายท้องที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ที่ล้ำเข้าไปในเขตอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร แต่ยังสืบค้นหาข้อมูลการรังวัดดังกล่าวไม่พบ โดยหนังสือดังกล่าวได้รายงานผลการออกไปรังวัดดังกล่าวว่า ป่าไม้เขตจังหวัดพิษณุโลกได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ผู้ออกไปดำเนินการรังวัด ได้ปฏิบัติงานแล้วเสร็จแล้ว มีผลการดำเนินงานดังนี้
1) เนื้อที่ส่วนที่เพิกถอนจากลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย เนื้อที่ 46.69 ตารางกิโลเมตร 29,181.25 ไร่
2) ระยะทางการสำรวจเพิกถอน 54.6 กิโลเมตร
3) ฝังหลักเขต 7 หลัก
4) ปิดป้ายป่าสงวนแห่งชาติ 55 ป้าย
5) ถากต้นไม้ประทับตราครุฑ 68 ต้น ซึ่งต้องดำเนินการสืบค้นหาข้อมูลดังกล่าวต่อไป

2. การเพิกถอนเส้นเขตสงวนหวงห้ามที่ดิน (ตามพระราขกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลสากเหล็ก และตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร พุทธศักราช 2486) โดยหลังจากที่ได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว กรมป่าไม้จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อแจ้งว่ากรมป่าไม้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เส้นเขตสงวนหวงห้ามที่ดินดังกล่าว และเห็นควรให้กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์เสนอยกเลิกต่อไป

‘เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องของบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการสำรวจข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องทั้งด้านกายภาพ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และติดตามตรวจสอบข้อมูลเดิมที่เกี่ยวข้องที่มีมาก่อนหน้านี้เพื่อเป็นการทบทวนเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้อง การสำรวจ การรังวัด การทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเป็นรูปเล่มที่มีเรื่องราวเหตุผล ความจำเป็น เพื่อนำส่งให้อธิบดีกรมป่าไม้ให้ความเห็นชอบ และส่งให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบ แล้วจึงส่งไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบในการแก้ไข เพิกถอน แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อไป’

‘จากนั้น เรื่องทั้งหมดจะถูกส่งกลับมาที่กรมป่าไม้ ทางกรมป่าไม้จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวออกไปสองทาง คือ 1) ส่งไปให้คณะกรรมการการป่าไม้แห่งชาติให้ความเห็นชอบ และ 2) ส่งข้อมูลเส้นแผนที่ที่จะเพิกถอนไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น เพื่อเป็นการตรวจทานข้อมูลที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จากนั้นเสนอผ่านระบบขึ้นไปให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ..
📌📌ต่อท่อน 2 ครับ