ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #สังคายนาศาสนา ! ดร.เทอดศักดิ์ จะชี้นำชาติสู่ความมั่นคง

#สังคายนาศาสนา ! ดร.เทอดศักดิ์ จะชี้นำชาติสู่ความมั่นคง

14 December 2020
982   0

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การเมือง การปกครอง ได้โพสข้อความระบุว่า

สังคายนาศาสนา นำชาติสู่ความมั่นคง

เมื่อครั้งพระโคตมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ได้คำนึงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว หากไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้การริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ เรียกว่าสังคายนา สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน

ขณะนั้นล่วงปลายพุทธกาลแล้ว พระมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว เหล่าสาวกก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร ครั้งนั้นพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วกล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้

ในศาสนาพุทธ สังคายนา (บาลี: สํคายนา) คือการประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระโคตมพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามศัพท์ “สังคายนา” หมายถึง สวดพร้อมกัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังคีติ” แปลว่า สวดพร้อมกัน มาจากคำว่า คายนา หรือ คีติ แปลว่า การสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน คำนี้มีมูลเหตุมาจากวิธีการสังคายนาพระธรรมวินัย ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีวิธีการคือนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงจำไว้มาแสดงในที่ประชุมพระสงฆ์ จากนั้นให้มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดขึ้นพร้อมกัน การสวดพร้อมกันแสดงถึงการลงมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ และเป็นการทรงจำกันไว้เป็นแบบแผนต่อไป

ฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่าง ๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ

หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร (พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ)เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกคือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเองได้ปรินิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วภาระจึงตกอยู่กับพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้มีอายุพรรษามากที่สุด

การทำสังคายนาในประเทศไทย ครั้งที่ 1 : เมื่อพ.ศ.2020 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนาไทย ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ในพระพุทธศาสนา ในครั้งนั้น เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ก็โปรดให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก

ครั้งที่ 2 : เมื่อพ.ศ.2331 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 9 ในพระพุทธศาสนา ในครั้งนั้นเมื่อทำเสร็จแล้วโปรดให้ปิดทองแท่งทับทั้งปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง

ครั้งที่ 3 : เมื่อพ.ศ.2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระองค์ท่านเสวยสิริราชสมบัติครบ 25 ปี นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 10 ในพระพุทธศาสนา

ครั้งที่ 4 : เมื่อพ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เพราะพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 นั้น ชุดหนึ่งมีเพียง 39 เล่มเท่านั้น มีบางคัมภีร์ที่ยังไม่ได้พิมพ์ และบางคัมภีร์พิมพ์แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้โปรดเกล้าฯให้กราบทูลอาราธนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นประธานในการตรวจสอบทานชำระต้นฉบับที่ขาดหายไปเพิ่มอีก จากที่มีอยู่ 39 เล่ม ให้ครบ 45 เล่ม การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยจนจบบริบูรณ์ และได้ขนานนามพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสยามรัฐ มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย พิมพ์จำนวน 1,500 ชุด จัดทำตั้งแต่พ.ศ.2468 ถึงพ.ศ.2473 จึงสำเร็จ เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว ได้พระราชทานในพระราชอาณาจักร 200 ชุด พระราชทานนานาประเทศ 450 ชุด เหลืออีก 850 ชุด พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

ครั้งที่ 5 : เมื่อพ.ศ.2483 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ต่อกัน ได้มีการตรวจชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์เป็นครั้งแรก เพราะพระไตรปิฎกฉบับก่อนที่ได้ทรงโปรดให้จัดสร้างขึ้นในรัชกาลก่อนๆนั้น เป็นภาษาขอมบ้าง เป็นภาษาบาลีอักษรไทยบ้าง ทั้งนี้ก็โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวเถร)วัดสุทัศน์เทพวรารามได้ทรงปรารภว่า ประเทศไทยเราควรจะมีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยจนครบถ้วนบริบูรณ์สมกับเมืองพระพุทธศาสนา กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) และรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นชอบด้วย จึงนำความกราบบังคมทูล และได้โปรดให้งานนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน โดยมอบให้กรมธรรมการ (ปัจจุบันคือกรมการศาสนา) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพื่อเผยแผ่ต่อไป เริ่มดำเนินงานตั้งแต่พ.ศ.2483 ถึงพ.ศ.2500 และได้ขนานนามว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย จัดพิมพ์จำนวน 2,500 ชุด ชุดละ 80 เล่ม จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ครั้งที่ 6 : เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2514 เนื่องในงานอันเป็นมงคลสมัยสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระไตรปิฎกภาษาไทยมาแต่งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนั้น ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ 25 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2514 พอดี ทางราชการได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษกถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ คณะกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเห็นสมควรทูลเกล้าฯ ถวายการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยครั้งนี้ในปีรัชดาภิเษกนี้ด้วย จึงตกลงเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ใหม่ว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514 โดยจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 2,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม เท่ากับจำนวนฉบับภาษาบาลีที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 7 : กรมการศาสนาได้ทำโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงเสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2520 และกรรมการมหาเถรสมาคมได้พิจารณาเห็นชอบและมีมติให้ดำเนินการได้ กรมการศาสนาได้เริ่มดำเนินการจัดพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ.2521 เสร็จสมบูรณ์ต้นปีพ.ศ.2522 และได้จัดพิมพ์จำนวน 2,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม และเรียกชื่อว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เหมือนเดิม

ครั้งที่ 8 : โดยที่กรุงรัตนโกสินทร์ได้ดำรงมั่นคงมาครบ 200 ปี ในปีพ.ศ.2525 ทางคณะสงฆ์เห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา และได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงบัดนี้ ก็โดยอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งพระบรมมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ตลอดมา กรมการศาสนาจึงได้นำเรื่องเสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2524 ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมลงมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการจัดพิมพ์ได้ ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้จัดพิมพ์จำนวน 3,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม

ครั้งที่ 9 : เมื่อพ.ศ.2530 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 11 ในพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชประสงค์ และทรงห่วงใยบรรดาพสกนิกรชาวไทยมุสลิม ในอันที่จะให้ทุกคนรู้ซาบซึ้งถึงแก่ความหมายแห่งอัลกุรอาน อันเป็นคัมภีร์ฉบับสูงสุดในศาสนาอิสลาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสไว้ว่า “…คัมภีร์อัลกุรอาน มิใช่จะเป็นคัมภีร์ที่สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง…”

ท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ ประธานมูลนิธิต่วน สุวรรณศาสน์ เล่าเรื่องนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ให้มีการจัดแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย เนื่องมาจากการเสด็จงานเมาลิดกลางเมื่อ พ.ศ. 2503 ซึ่งในงานเมาลิดกลาง มีการจัดนิทรรศการคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เป็นภาษาต่างๆ มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน

เนื่องจากมีคนที่สนใจทำไว้ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่มีใครทำสำเร็จเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่ทำอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับท่านกงสุลซาอุดิอาระเบีย มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ และได้ทูลเกล้าถวายคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาอังกฤษ พระองค์มีพระราชดำริ ให้ดำเนินการจัดแปลภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้รู้ และเข้าใจความหมายในคัมภีร์ฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้เยาวชนได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักคำสอนที่มีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระองค์ทรงห่วงสองเรื่อง คือ เรื่องของภาษาไทย กับ เรื่องของการนำความหมายในการนำมาใช้

ภายหลังจากนั้นได้มีพระราชดำรัส ในเรื่องนี้กับท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ว่าควรจะให้มีการแปลคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอาหรับโดยตรง ไม่ใช่แปลมาจากภาษายาวี หรือภาษาอังกฤษ การที่ต้องแปลจากต้นฉบับนับเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีการค้นคว้าจากพจนานุกรม ศึกษาจากผู้มีความเชี่ยวชาญ และนักวิชาการหลายแขนง

เมื่อท่านจุฬาราชมนตรีฯ เข้าเฝ้า ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี ก็จะทรงย้ำเรื่องนี้อย่างสนพระราชหฤทัย และรับสั่งถามว่า ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ทรงติดตามด้วยความตั้งพระทัยจริงอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้ท่านจุฬาราชมนตรีฯ ได้ดำเนินการจนสำเร็จ ท่านทรงห่วงหลายอย่าง เช่น ถ้าแปลออกมาแล้วอาจเกิดความไม่เข้าใจระหว่างศาสนา ท่านทรงหนักใจ (ตระหนัก) ในเรื่องนี้มาก ท่านทรงรับสั่งว่าต้องหาวิธีการศึกษาให้เข้าใจ ต้องเอาตำรับตำราเปิดดู เพื่อให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้องชัดเจนจริงๆ จึงได้รับสั่งให้ ท่านจุฬาราชมนตรีต่วน จึงลงมือแปลจนสำเร็จ

ศาสนานั้นมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมจิตใจของประชาชน ปัจจุบันประเทศไทย มีศาสนา ทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหม ซิก ฮินดู ที่ทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี ศาสนาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ หากมีการ “สังคายนาศาสนา” ด้วยการตั้งคณะกรรมการของแต่ละศาสนา แปลงคำของทุกคำสอน และออกระเบียบในการปฏิบัติให้ศาสนิกชน ที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกันให้เหมาะสมกับชนชาติเผ่าไทย เพื่อดำเนินเดินชีวิตตามคำสอน ที่ถูกที่ควร ตามยุคสมัย ที่เปลี่ยนแปลงตามไปตามกาลเวลา ทั้งระเบียบ ระบบ ธรรมเนียมปฏิบัติ

โดยใช้ภาพยนต์ เป็นตัวเสริม ด้วยการนำภาพยนต์ เรื่อง ศรีอโยธยา สุริโยทัย นเรศวรมหาราช ขุนรองปลัดชู พันท้ายนรสิงห์ คุณทองแดง ครุฑ ฯลฯ อันจะส่งผลให้ปลูกจิตสำนึกความเป็นชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 7 ฯลฯ

ที่สำคัญจะเป็นการจารึกเชิงประวัติศาสตร์ว่า ในยุคการครองราชของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีการ “สังคายนาศาสนา” ซึ่งจะเป็นพระองค์แรกที่สังคายนาในทุกศาสนา อันเป็นครั้งสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ที่บูรพมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ที่ได้ทรงทำมาในเชิงการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ที่สร้างคุณความงามดีต่อชาติ อันจะสร้างเสริม ความมั่นคงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สืบต่อไปในภายนี้ และภายหน้าตลอดไป

“ ตำแหน่งอยู่ได้ไม่นาน แต่ตำนานอยู่ตลอดไป ”

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
5 ธันวาคม 2563
(วันพ่อแห่งชาติ)