เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สหรัฐบีบอาเซียน ! ส่งออกโซล่าเซล เอื้อประโยชน์จีน

#สหรัฐบีบอาเซียน ! ส่งออกโซล่าเซล เอื้อประโยชน์จีน

29 March 2022
410   0

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เตรียมสอบสวนการนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์จาก 4 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วยไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ว่าเข้าข่ายช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงมาตรการทางด้านภาษีจากทางสหรัฐฯ หรือไม่ ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์หวั่นการสอบสวนสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม
.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงในวันจันทร์ (28 มีนาคม) ว่า กระทรวงจะสอบสวนการนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายต่อต้านการทุ่มตลาดที่จำกัดการนำเข้าจากจีนหรือไม่
.
ทั้งนี้สหรัฐฯ นำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์จาก 4 ประเทศดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งหากพบว่าการนำเข้าดังกล่าวได้ช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐฯ ก็จะทำให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกลุ่มประเทศดังกล่าวจำนวน 50-250%
.
การสอบสวนด้านการค้าครั้งนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ Auxin Solar ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานหมุนเวียนที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อให้มีการสอบสวนว่าผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ 4 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วยไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐฯ หรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า หน่วยงานจะดำเนินการสอบสวนอย่างเปิดเผยและโปร่งใส เพื่อพิจารณาว่ามีการหลีกเลี่ยงกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหรือไม่
.
“การสอบสวนนี้เป็นเพียงก้าวแรก…และจะไม่มีการกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมในเวลานี้” Jeremy Edwards โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าว
.
ทางด้าน Mamun Rashid ซีอีโอของ Auxin Solar กล่าวว่า เขารู้สึกขอบคุณที่กระทรวงพาณิชย์ยอมรับการร้องเรียนและเข้าตรวจสอบกรณีนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนการ Backdoor ของธุรกิจแผงโซลาร์เซลล์ โดยผู้ผลิตจากจีนจะเข้าไปลงทุนในประเทศเล็กๆ ในเอเชีย เพื่อตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนโซลาร์ ด้วยหวังว่าจะลดต้นทุนและลดภาษีทุ่มตลาด รวมถึงภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีน
.
“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนปฏิเสธที่จะกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์ของตนอย่างเป็นธรรมในสหรัฐฯ และได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อดำเนินการตัดราคาผู้ผลิตและคนงานชาวอเมริกัน…เชื่อว่าการค้าที่เป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายการค้าของเรามีความสำคัญต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ ขึ้นมาใหม่ และสร้างธุรกิจแผงโซลาร์ในสหรัฐฯ อีกครั้ง” Rashid กล่าว
.
ทางด้านสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ (SEIA) เตือนว่า การสอบสวนดังกล่าวจะส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ หยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงแล้วอันเนื่องจากต้นทุนในระดับสูง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยท้าทายต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วสหรัฐฯ
.
ขณะที่ American Clean Power Association บริษัทชั้นนำด้านพลังงานสะอาด ระบุว่า การสอบสวนซึ่งอาจส่งผลให้มีการเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 240% จะขัดขวางอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง นำไปสู่การเลิกจ้างหลายพันคน และทำให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่วางแผนไว้เสียหายถึง 80% ในสหรัฐฯ
.
ผลลัพธ์ดังกล่าวจะสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายด้านพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เคยประกาศว่าจะลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลภายในปี 2035 และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเป็น 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% นอกจากนี้ยังสวนทางกับความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย
.
“การตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณว่าการเจรจาของฝ่ายบริหารของไบเดนเกี่ยวกับการสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นคำพูดที่ว่างเปล่า” Heather Zichal ซีอีโอของ American Clean Power Association กล่าว
.
โดย Zichal ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานของทำเนียบขาวภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เรียกร้องให้ไบเดนยกเลิกการตัดสินใจทันที
.