ข่าวประจำวัน » #ศาลฎีกายืนจำคุก 2 ปี “เชาวรินธร์” อดีต ส.ส.เพื่อไทยไม่รอลงอาญา โกงเงิน บ.กัมพูชากว่า 11 ล้าน

#ศาลฎีกายืนจำคุก 2 ปี “เชาวรินธร์” อดีต ส.ส.เพื่อไทยไม่รอลงอาญา โกงเงิน บ.กัมพูชากว่า 11 ล้าน

11 July 2019
1040   0

ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคเพื่อไทย ฉ้อโกงเงินค่าปูนซีเมนต์ บ.บีพีซี.เทรดดิ้ง กัมพูชา ที่จ่ายให้ ทีพีไอ กว่า 11 ล้านบาท จนท.คุมตัวเข้าเรือนจำ

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (10 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.639/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์ และบริษัท บี.พี.ซี เทรดดิ้ง จำกัด (ประเทศกัมพูชา) โจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ อายุ 72 ปี อดีต รมช.ศึกษาธิการ และ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1), 17 (1)

โจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2558 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 บริษัท บี.พี.ซี.เทรดดิ้ง จำกัด (ประเทศกัมพูชา) ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกปูนซิเมนต์ จากบริษัท ทีพีไอโพลีนพับบลิค จำกัด (ประเทศไทย) โดยทำใบสั่งซื้อส่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ในลักษณะจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล ซึ่งบริษัท ทีพีไอโพลีนฯ ได้ออกหลักฐานใบสำคัญเก็บเงินค่าสินค้าแจ้งให้บริษัท บี.พี.ซี.ฯ โอนเงินค่าสินค้าจำนวน 352,781 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 11,428,308.40 บาท ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด ของบริษัท ทีพีไอโพลีนฯ แต่ระหว่างวันที่ 6 – 9 พ.ค. 2557 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบสำคัญเก็บสินค้าเสียใหม่ เป็นว่าให้บริษัท บี.พี.ซี.ฯ โอนเงินค่าซื้อปูนซิเมนต์ จำนวน 11,428,308.40 บาท ผ่านเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขารัฐสภา ชื่อ Thai and Chinese Bhuddhist Culture หรือสมาคมวัฒนธรรมวิถีพุทธไทย-จีน ที่มีจำเลยเป็นนายกสมาคมฯ โดยทุจริต ซึ่งเป็นการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จนทำให้บริษัท บี.พี.ซี.ฯ หลงเชื่อว่าเป็นบัญชีของบริษัท ทีพีไอโพลีนฯ ผู้เสียหายที่ 2 แล้วโอนเงินค่าเข้าบัญชีเงินฝากโดยที่บัญชีดังกล่าวเป็นของจำเลยกับพวก ซึ่งต่อมาจำเลยได้โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง เหตุเกิดขึ้นที่แขวง-เขตดุสิต จำเลยให้การปฏิเสธในการต่อสู้คดี โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 352 วรรคสอง และให้จำเลยคืนเงินค่าชำระสินค้า 11,428,308.40 บาท แก่บริษัทโจทก์ร่วมด้วย

ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี

ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 ว่า การที่จำเลยแก้ไขข้อมูลบัญชีธนาคารอันเป็นเท็จ แม้ในทางนำสืบโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยในฐานะนายกสมาคมฯ เจ้าของบัญชีธนาคารดังกล่าว เป็นผู้เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือข้อความผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้บุคคลอื่นดำเนินการแก้ไขนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลในส่วนของบัญชีธนาคารอันเป็นเท็จ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำความผิดที่เป็นการนำข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) นั้น ผู้กระทำผิดสามารถกระทำได้ในที่ลับหรือกระทำในที่ใดก็ได้โดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นการยากแก่การหาประจักษ์พยานมายืนยันการกระทำความผิดได้ จึงต้องวินิจฉัยคดีจากพยานแวดล้อม รวมทั้งพฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดี

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากโจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวแล้ว วันรุ่งขี้นจำเลยได้เบิกถอนเงินออกไปจากบัญชีทั้งหมด โดยมีการโอนเงิน 10,742,600 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขาสีลม ของบุคคลหนึ่ง โดยอ้างว่าเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าสั่งซื้อไวน์ 42,600 บาท กับโอนเงินส่วนที่เหลือเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เป็นเงิน 685,708.40 บาท โดยอ้างว่าเพื่อใช้หนี้ที่จำเลยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่ายในการก่อสร้างรูปเคารพพระแม่โพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม แต่การเบิกถอนและยักย้ายเงินดังกล่าว จำเลยอ้างว่าเป็นเงินบริจาคนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยแทบทั้งสิ้น และเมื่อจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวแล้ว จำเลยจึงไปเบิกถอนเงินที่ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีย่าน จำนวน 6 แสนบาทถ้วน เนื่องจากไม่สามารถถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย สาขารัฐสภา ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ ส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำโดยเร่งรีบ เพื่อยักย้ายเงินออกไปจากบัญชี ซึ่งผิดปกติวิสัยในการจัดการเงินบริจาค นอกจากนี้ที่จำเลยอ้างว่า สาเหตุที่รีบโอนเงินให้บุคคลอื่นเป็นการชำระหนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเยอะ แม้จำเลยจะมีสำเนาสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงต่อศาล แต่ไม่มีพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเบิกความว่ามีหนี้ต่อกันจริง จึงเป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้าง และที่จำเลยอ้างว่ามีบริษัท เฮงซกเฮง จำกัด ประเทศกัมพูชาเป็นผู้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีสมาคมฯ เพื่อบริจาคในการสร้างรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ดังนั้นคดีนี้แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยาน แต่ตามพยานแวดล้อมที่นำสืบกันมาประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อมโยงกันมีน้ำหนัก เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เพื่อหลอกลวงให้โจทก์ร่วมโอนเงินค่าสินค้าเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าว แล้วจำเลยก็รีบถอนเงินออกไปเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาฉ้อโกง ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องในข้อหานี้แต่ลงโทษในข้อหายักยอกทรัพย์นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อฟังเป็นเช่นนี้แล้วไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยในส่วนข้อหายักยอกทรัพย์อีก เพราะไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 3 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 2 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหายด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาและศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี

โดยวันนี้ ร.ต.ท.เชาวรินธร์ เดินทางมาศาลพร้อมภรรยา ลูก ทนายความและบุคคลใกล้ชิด ที่ติดตามมาให้กำลังใจ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น คดีนี้มีการกระทำที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร โดย ป.วิอาญา มาตรา 20 ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีใด หรือให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายเป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุดมอบให้พนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ดำเนินการสอบสวนร่วมกับอัยการมีผู้กำกับ สน.ดุสิต รับผิดชอบสำนวน เมื่อดำเนินการแล้วส่งให้อัยการยื่นฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง ส่วนกรณีที่จำเลยฎีกาอ้างว่า บจก.บี.พี.ซี.เทรดดิ้ง โจทก์ร่วม ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีเพราะเงินที่โอนเข้าบัญชีนั้น เป็นของบริษัท ซกเฮง ฯ ข้อนี้ก็ได้ความจากบริษัทโจทก์ร่วมว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมมอบหมายให้โอนเงินเข้าบัญชีตามที่จำเลยแจ้ง ดังนั้นโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิอาญา (4) และที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นกรณีฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว ฎีกาของจำเลยไม่อาจทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนจำคุกจำเลย 2 ปี ตามศาลอุทธรณ์ และให้คืนเงินจำนวน 11,428,308.40 บาท แก่บริษัทโจทก์ร่วมด้วย

ภายหลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ไปยังห้องควบคุมตัวผู้ต้องขังชั้นล่างศาลอาญา เพื่อรอรับตัวกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว

ขณะที่ ร.ต.ท.เชาวรินธร์ เปิดเผยสั้นๆ ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาว่า ตนมีความเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้ฉ้อโกง เพราะตนเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และรัฐมนตรีหลายสมัยกรณีนี้ ตนเพียงแต่ทำหน้าที่รับโอนเงินเพื่อจะจัดสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม ที่ตนมีตำแหน่งนายกสมาคมฯอยู่เท่านั้นเอง
สำนักข่าววิหคนิวส์