เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ล่าจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ! ตร.-กสทช.บุกจับ9ราย พบหลอกลวงกว่า20ล้านครั้ง

#ล่าจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ! ตร.-กสทช.บุกจับ9ราย พบหลอกลวงกว่า20ล้านครั้ง

7 July 2022
299   0

 

ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับ กสทช.และ AIS ทลาย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ตรวจค้น 9 จุดทั่ว กทม. ยึดเครื่องส่งสัญญาณ IP PBX จำนวน 43 เครื่อง ใช้ใส่ซิมเบอร์ปกติ ส่งสัญญาณ 4G/5G โยนออกนอกประเทศ ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านใช้โทรหลอกเหยื่อในไทย 1 เดือน โทรได้ 20 ล้านครั้ง

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พร้อมด้วย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ‘AIS’ และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายแก็ง Call Center หลอกลวงประชาชน

สืบเนื่องจาก ผู้เสียหายถูกคนร้าย ‘แก็งคอลเซ็นเตอร์’ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ โทรเข้ามาแจ้ง มีการค้างค่าปรับ รวมถึงการพัสดุที่ผิดกฎหมาย ขอให้ผู้เสียหายทำการโอนเงิน เพื่อนำไปตรวจสอบ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนไปให้มิจฉาชีพ ต่อมาทราบว่าถูกหลอกลวง จึงดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จึงได้นำกำลังเข้าตรวจค้น จำนวน 9 จุด ในพื้นที่เขตบางนา ห้วยขวาง และลาดพร้าว ซึ่งเป็น “จุดที่ใช้ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือสำหรับโทรมาหลอกลวงประชาชน”

เจ้าหน้าที่จับกุมนาย สุรชาติ แซ่โจ พร้อมผู้ต้องสงสัยอีก 4ราย สามารถยึดของกลาง เช่นเครื่องสัญญาณ IP PBX จำนวน 43 เครื่อง เครื่องส่งญาณไร้สาย wireless router จำนวน 30 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร โทรศัพท์มือถือจำนวนมาก

หนึ่งในจุดที่เข้าตรวจค้น อยู่ที่แมนชั่นแห่งหนึ่งภายในซอยบางนา-ตราด 19 ซึ่งเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ เช่าห้องภายในแมนชั่น ชั้น 2 จำนวน 2 ห้อง ภายในห้องเป็นห้องโล่งๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ แต่มีอุปกรณ์เราท์เตอร์สำหรับส่งสัญญาณ 4G/5G สำหรับใช้โทรศัพท์จำนวนมาก และพบผู้ต้องสงสัยอีกจำนวน 4 คนอยู่ภายในห้องด้วย ซึ่งเบื้องต้นทั้ง 4 รายยังให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า จากการตรวจสอบประวัติการพูดคุยในโทรศัพท์มือถือ เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้

การตรวจค้นรวมทั้ง 9 จุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนายสุชาติ แซ่โจว ผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 1 ราย ในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และข้อหา นำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งนายสุชาติเป็นผู้ดูแล โดยได้รับค่าจ้างโอนเข้าบัญชาจากต่างประเทศ เดือนละ 2 หมื่นบาท และจากการตรวจค้น สามารถตรวจยึดอุปกรณ์เราต์เตอร์ได้รวม 43 เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถบรรจุซิมได้ 32 ซิม โทรได้ซิมละ 500 ครั้งต่อวัน

ดังนั้น ใน 1 เดือน จะสามารถโทรได้ถึง 20 ล้านครั้ง คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศไทยที่จะถูกมิจฉาชีพโทรไปหลอกลวง ซึ่งตำรวจได้ตรวจยึดอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ตรวจสอบขยายผลต่อไป

พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้ ถือเป็นการจับกุมเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ในไทย โดยอาศัยความร่วมมือจาก ‘ระบบ AIS Report Spam’ และร่วมกับ กสทช. ในการหาพิกัดของเครื่องส่งสัญญาณ ซึ่งวิธีการนี้ ทำให้มิจฉาชีพสามารถใช้ ‘เบอร์ประเทศไทย’ โทรศัพท์มาได้ แม้คนที่โทรจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยก่อนหน้านี้ที่มิจฉาชีพใช้เบอร์ +697 โทรมา แต่คนเริ่มรู้ทันไม่รับสาย จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้

วิธีการ คือการนำซิมเบอร์โทรศัพท์ปกติใส่เข้าไปในเครื่องนี้ และส่งสัญญาณ 4G/5G โยนออกไปนอกประเทศ ให้คนที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ที่ทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใช้โทรมาคุยกับประชาชนในไทย โดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ในการโทรข้ามประเทศ

จากนี้จะต้องตรวจสอบว่า ทำไมถึงมีการนำเข้าเครื่องส่งสัญญาณตัวนี้มาได้ และจะนำซิมโทรศัพท์มือถือที่ยึดได้ทั้งหมด ไปตรวจสอบชื่อผู้จดทะเบียนต่อไป ซึ่งจะมีความผิดด้วย คล้ายกับบัญชีม้า

สำหรับเครือข่ายนี้ จากการสืบสวนพบว่า เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีหัวหน้าผู้บงการ เป็นชาวต่างชาติ ตอนนี้รู้สัญชาติแล้ว อยู่ระหว่างขยายผลเพื่อจับกุมต่อไป

ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เครือข่ายคอลเซ็นเตอร์นี้ เช่าห้องที่คอนโด และใช้อุปกรณ์คล้ายตัวจ่ายไฟ เป็นเราต์เตอร์สำหรับใส่ซิมและส่งสัญญาณออกไป ซึ่งเครื่องส่งสัญญาณตัวนี้ หากจะมีการนำเข้ามาใช้ ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และการลักลอบนำเข้าประเทศมา ก็ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ด้วย

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง AIS พยายามมาตลอดที่จะสื่อสาร ให้ความรู้กับประชาชนในการตรวจสอบแยกแยะสายโทรศัพท์ของมิจฉาชีพ แต่มิจฉาชีพยังคงมีกลไก เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จึงได้เปิดศูนย์ 1185 Spam Report Center ขึ้นมา โดยทำงานใกล้ชิดกับตำรวจไซเบอร์ ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเบอร์โทรของมิจฉาชีพ ซึ่งมีประชาชนแจ้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทีมเทคโนโลยีจึงตรวจสอบหมายเลขที่ได้รับแจ้ง และส่งต่อข้อมูลให้ตำรวจไซเบอร์และ กสทช. ขยายผล จนสามารถจับพิกัดของเครือข่ายที่เป็นแหล่งกำเนิดสัญญาณได้

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า ปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันเกิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การปกป้องข้อมูลและการใช้งานระบบสื่อสารของลูกค้า ที่ผ่านมานอกเหนือจากการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสเพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ อาทิ AIS Secure Net , Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม,ฟิชชิ่ง,ไวรัสแล้ว AIS ยังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ อย่าง กสทช.และฝ่ายความมั่นคงอย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา การทลายเครือข่ายในวันนี้ถือเป็นผลจากการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเอไอเอส ยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

สายด่วน 1185 AIS Spam Report Center
คือบริการสายด่วน รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าเอไอเอส ในกรณีถูกมิจฉาชีพโทรเข้ามารบกวน หรือได้รับ SMS Spam ให้สามารถโทรเข้ามาแจ้งได้ฟรี ผ่าน IVR Self Service และ AI Chatbot เพื่อให้ข้อมูลเบอร์โทรหรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเอไอเอสจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มา รายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง