ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #มายด์รู้ตัวเจอศึกใหญ่ ! หลังโดนแจ้งจับ 112 เพิ่มอีกบาน

#มายด์รู้ตัวเจอศึกใหญ่ ! หลังโดนแจ้งจับ 112 เพิ่มอีกบาน

26 March 2021
490   0

วันนี้ (24 มี.ค.) ทวิตเตอร์ @Mindpatsrvl ของ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ROOT แนวร่วมกลุ่มเรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โพสต์ภาพขณะเจ้าตัวไปไหว้พระที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ และโพสต์ข้อความระบุว่า “เอาฤกษ์เอาชัยที่วัดชนะสงคราม เพราะจากนี้คงได้เจอศึกใหญ่ที่ต้องสู้กับรัฐเผด็จการประยุทธ์ ถึงเวลาที่เรามารวมพลังกันต่อสู้กับเผด็จการ ทุกคนจะได้เห็นและเข้าใจว่าแท้จริงแล้วใครกันที่ล้มเจ้าและการปกป้องสถาบันที่แท้จริงเป็นเช่นไร #ม็อบ24มีนา #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร #ม็อบปกป้องสถาบัน”

ทั้งนี้ ในช่วงค่ำของวันนี้ น.ส.ภัสราวลี จะไปขึ้นเวทีปราศรัยที่ชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ และในวันรุ่งขึ้น มีกำหนดที่อัยการจะยื่นคำร้องต่อศาล ในคดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ถนนสาทรใต้ ตามมาตรา 112 และมาตรา 116 พร้อมกับผู้ต้องหารวม 13 คน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หนึ่งในนั้นคือ น.ส.เบญจา อะปัญ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ราษฎรโขง ชี มูล และกลุ่มขอนแก่นพอกันที

สำหรับวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณขนาดเล็กเรียกกันว่า วัดกลางนา เพราะตั้งอยู่กลางทุ่งนา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงรวมชาวรามัญและพระสงฆ์รามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ให้มาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่รอบวัด และให้สร้างปฏิสังขรณ์วัดเพื่อให้พระสงฆ์รามัญได้จำพรรษาแล้วตั้งนามใหม่ว่า วัดตองปุ โดยได้ลอกเลียนนามวัดและขนบธรรมเนียมของวัดในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี ซึ่งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์รามัญจำพรรษาอยู่มาใช้ ต่อมารัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้ วัดตองปุ เป็นวัดของสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีแก่ทหารรามัญในกองทัพ ที่เป็นกำลังสำคัญในการรบกับพม่า หลังจากบ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกกับพม่าแล้ว ทรงสถาปนาวัดใหม่ทั้งหมดอีกครึ่งหนึ่ง แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมารัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ตามเหตุการณ์ ซึ่งทำการรบเอาชนะได้ถึง 3 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2328-2330 ว่า วัดชนะสงคราม