ข่าวประจำวัน » มันคืออำนาจการบังคับบัญชา

มันคืออำนาจการบังคับบัญชา

6 October 2019
995   0

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การเมือง การปกครอง ได้โพสข้อความระบุว่า ในกรณีผู้พิพากษายิงตัวเองที่ยะลา สราวุฒิ เบญจกุล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงชัดเจน กฎหมายให้อำนาจอธิบดี รองอธิบดี แนะนำให้ความเห็นแย้งในคดีได้ เพื่อครองประโยชน์ของประชาชน คำพิพากษาถือว่าเป็นความลับไม่สามารถเปิดเผย ก่อนคำพิพากษาได้ เช่นนั้นจะรู้ผลล่วงหน้า และเป็นวิธีการของศาลที่จะปรึกษาหารือกันได้

ในคดีที่มีโทษสำคัญ กฎหมายพระธรรมนูญมาตรา 11(1) ที่ให้อำนาจอธิบดีนั่งพิจารณาคดี คำพิพากษาคดีใดๆของศาลนั้น หรือเมื่อตรวจคดีใดๆแล้ว มีอำนาจแสดงความเห็นแย้งได้ และสามารถให้คำแนะนำในข้อขัดข้อง และสามารถหารือในองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีได้ ในมาตรา 14 ยังระบุว่าให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในเขตอำนาจได้ผู้หนึ่ง ให้มีอำนาจหน้าที่ในมาตรา 11(1) และยังให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคไว้ด้วย เพราะคดีมีจำนวนมาก

อธิบดีจึงมีสิทธิจะตรวจคำพิพากษา ถ้าไม่ได้ขึ้นไปพิจารณาคดีก็มีข้อแนะนำได้ หากเขียนคำพิพากษามีจุดบกพร่องก็สามารถให้ทำการแก้ไขได้ ซึ่งกฎหมายให้ไว้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน แต่อธิบดีไม่สามารถไปก้าวก่ายคำพิพากษาของผู้พิพากษา หรือแทรกแซงการทำงานได้

เพราะหากผู้พิพากษาไม่เห็นตามนั้น ก็ยืนยันความเห็นของตนเองได้ ตัวอย่างคดีอธิบดีกรมศุลกากรถูกฟ้องมาตรา 157 อธิบดีศาลในขณะนั้น คือนายชีพ จุลมลต์ อดีตประธานศาลฎีกา มีความเห็นแตกต่างจากองค์คณะว่าควรลงโทษ องค์คณะมีความเห็นยกฟ้อง อธิบดีมีความเห็นให้ทบทวน แต่องค์คณะก็ยืนยันเหมือนเดิมว่ายกฟ้อง อธิบดีศาลฎีกาจึงมีความเห็นแย้ง

ในศาลภาค 9 มีคดีความมั่นคงจำนวนมาก การที่อธิบดีมีอำนาจในการตรวจสำนวน มีความเห็นแย้งได้ ก็เป็นกระบวนการปกติในกระบวนการทำงาน เพราะว่ากฎหมายให้อำนาจอธิบดีมีความเห็นแย้งได้ ในกรณีโทษร้ายแรง โทษประหารชีวิต ลงโทษตลอดชีวิต เป็นหลักการทำงานทั่วไปตามปกติของศาล 9 ภาคในประเทศไทย ตรวจเพื่อความเป็นมาตรฐานในภาคทั้งหมด เพื่อเป็นแนวทางเดียวกัน ถ้ามีความเห็นต่างอธิบดีก็สามารถเห็นต่างจากองค์คณะได้ สุดท้ายแล้วองค์คณะต้องพิจารณาว่าเห็นด้วยกับคำโต้แย้งของอธิบดีหรือไม่ ถ้ายังยืนยันเหมือนเดิม ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

ในคดีที่ยะลาอธิบดีก็ไม่ได้แทรกแซง หัวหน้าองค์คณะก็อ่านคำพิพากษาตามความเห็นของท่าน ที่พิพากษายกฟ้อง อันเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นชัดไม่มีใครแทรกแซงได้ ท่านอธิบดีก็ไม่สามารถแทรกแซงได้อยู่แล้ว

ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงศาลยุติธรรมก็จะนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาของกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในวันที่ 7 ตุลาคมนี้

สำหรับในคดีในเชิงการบริหารแล้วเป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (ราชาธิปไตย) ที่ให้อำนาจศาลยุติธรรมเป็นองค์กรอิสระ ที่มีกระบวนการบริหารจัดการองค์การ ตามหลักพื้นฐานของศาลยุติธรรม ในแต่ละภูมิภาค ลักษณะคล้ายคลึงกับการบริหาร หน่วยงานราชการปกติ ที่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา มีความเห็นโต้แย้ง ผู้ปฏิบัติได้ อันเป็นโครงสร้างการปกครองโดยปกติ ของหลักการปกครองของไทย ซึ่งเอกชนก็ใช้หลักลักษณะคล้ายคลึงกันมาใช้ในการบริหารด้วย ตามหลักการลำดับ อำนาจการบังคับบัญชาองค์กร

แต่องค์กรศาลยุติธรรม มีบทบัญญัติไว้ เคร่งครัด ชัดเจนกว่าเอกชน ในการปฏิบัติงานของผู้พิพากษา องค์คณะ ตุลาการ ที่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจเห็นแย้งได้ โดยยึดความยุติธรรม แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ดุลพินิจขององค์คณะอยู่ดี หากผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจซิ กลับเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน

“กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ให้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤตินั้นๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอจำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”

พระบรมราโชวาทพระพุทธเจ้าหลวง ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ นักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๕

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา

6 กันยายน 2562