เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #พระมหากษัตริย์ : พระราชฐานะ และพระราชอำนาจ

#พระมหากษัตริย์ : พระราชฐานะ และพระราชอำนาจ

7 September 2019
2404   0

ประมุขของรัฐเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของรัฐทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย ดังนั้นทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญได้กำหนดฐานะของประมุขของไว้ต่างจากบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมุขของรัฐแบบพระมหากษัตริย์นั้น แม้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศจะทรงมีพระราชฐานะเหมือนกับประมุขแบบอื่น ๆ แต่ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ได้บัญญัติยกย่องพระมหากษัตริย์มากยิ่งกว่าประมุขของรัฐแบบอื่นทั้งรัฐธรรมนูญไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงปกครองบริหารราชการแผ่นดินมาโดยตลอดเป็นเวลานาน ประชาชนเองก็ยังจงรักภักดีอยู่เสมอมา และเหตุผลในทางทฤษฎีซึ่งถือกันแต่เดิมว่าพระมหากษัตริย์คือตัวแทนแห่งสวรรค์และพระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็น “สมมติเทวราช” รัฐธรรมนูญของประเทศที่มีประมุขแบบพระมหากษัตริย์ จึงบัญญัติยกย่องพระมหากษัตริย์ไว้เสมอ

คำว่า “พระมหากษัตริย์” นั้น รัฐธรรมนูญอังกฤษได้แยกออกเป็น King และ Crow คำว่า King หมายถึง พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นบุคคล ในรัฐธรรมนูญของไทยจะใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” (The person of the King) ส่วน Crow หมายถึง ตำแหน่ง (office) ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ พระมหากษัตริย์ในฐานที่เป็นบุคคลอาจสวรรคตไป แต่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ยังคงอยู่ตลอดไป โดยมีผู้เป็นพระราชวงศ์องค์อื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

พระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ “รัฐบาล” โดยที่รัฐบาลมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนประจำและส่วนไม่ประจำ ส่วนประจำนั้นเป็นส่วนประกอบของรัฐบาลที่ถาวรคือ “พระมหากษัตริย์” ซึ่งทรงมีหน้าที่บริหารกิจการของประเทศจากเบื้องบน ในฐานะทรงเป็น “ประมุขของรัฐ” และส่วนที่ไม่ประจำคือ คณะรัฐมนตรี

การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์มีส่วนประกอบจะต้องพิจารณาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พระราชฐานะ และ พระราชอำนาจ

1. พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์

1.1.พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ(sacred) และละเมิดมิได้

ในประเทศที่มีการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังเช่นประเทศไทย นั้น พระมหากษัตริย์ “ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ(sacred) และละเมิดมิได้” ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งปวง และทรงพ้นจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยบุคคลทุกคน ทั้งนี้เพราะทรงเป็นประมุขของปวงชนทั้งชาติ ไม่เลือกว่ามีความคิดทางการเมืองอย่างใดนับถือศาสนาใด ลัทธิใด มิฐานะและชาติกำหนดอย่างไร ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งปวง ก็เพราะทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงเข้ากับฝ่ายใดไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น และในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งมวลก็ทรงพ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง เพราะทรงดำเนินการไปตามแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ (The King can do no wrong –Le roi ne peut mal faire) ตามคำกล่าวที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ได้ปกครอง” (The King reigns but not rules- Le Roi ragne mais il ne Gauverne pas) ซึ่งหมายความว่า

ก. ความไม่ต้องรับผิดชอบ

ประมุขของรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์อันเกี่ยวด้วยราชการแผ่นดินจึงต้องมีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการกระทำของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้รับการวิพากษ์วิจารณ์แทนพระมหากษัตริย์ การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำของพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นการรับรองว่าพระปรมาภิไธยที่ได้ลงไว้ในเอกสารนั้นด้วย

ข. ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ประมุขของรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์ได้รับการคุ้มกันหลายประการด้วยกันคือ

(1) ห้ามมิให้อภิปรายหรือล่วงเกินเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในทางรัฐสภา

ในทางรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะตำหนิพระมหากษัตริย์ใยทางรัฐธรรมนูญไม่ได้ ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา มีหน้าที่ห้ามการอภิปรายในทางสภาซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และไม่รับญัตติของสมาชิกรัฐสภาแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อความเลิกล้างการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การกระทำต่างๆ ซึ่งเห็นได้ขัดว่าเป็นการกระทำของคณะรัฐมนตรี เช่น พระราชดำรัสเปิดรัฐสภา วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรย่อมวิจารณ์ได้เป็นธรรมดา แต่ต้องวิจารณ์ในแง่ที่เป็นการกระทำของคณะรัฐมนตรี

(2) ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

ในทางอาญา การห้ามมิให้กล่าวหา หมายถึง การกล่าวต่อเจ้าพนักงานในทางอาญา เช่น การร้องทุกข์หรือการกล่าวโทษว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดทางอาญา และเจ้าพนักงานจะจับกุมพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะศาลยุติธรรมย่อมไม่รับฟ้องขอให้พระมหากษัตริย์เป็นจำเลย และแม้พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดทางอาญาไม่ว่าจะได้กระทำก่อนหรือขณะทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งนี้เพราะแม้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็จริง แต่ทรงอยู่เหนือกฎหมายธรรมดา จึงไม่อาจจะนำกฎหมายมาบังคับใช้กับพระมหากษัตริย์ได้

ในทางแพ่ง ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ดุจกัน เช่น พระมหากษัตริย์ทรงซื้อของแล้วไม่ชำระเงินย่อมจะเรียกร้องเอาจากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ได้แต่ทูลเกล้าฯขอร้องสิทธิ (Petition of right) เพื่อทรงพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย สำหรับประเทศไทยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ ราษฎรจึงอาจฟ้องร้องสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หรือผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้
หลักการเรื่องนี้ แม้ในกฎหมายระหว่างประเทศเองก็ยอมรับว่า จะฟ้องร้องหรือกล่าวหา ประมุขของรัฐในทุกรูปแบบไม่ได้เลย แต่กรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นเป็นความคุ้มกันทางกฎหมายระหว่างประเทศและการทูตมากกว่า อันต่างจากกรณีการคุ้มครองกันตามรัฐธรรมนูญในประเทศซึ่งเป็นเรื่องกฎหมายภายใน (Constitutional immunity)

แต่ในปัจจุบันประมุขของรัฐก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาต่อ “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” (International Criminal Court: ICC) ได้ ที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยธรรมนูญจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (RomeStatute of the International Criminal Court) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 หากประมุขของรัฐไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาในระบบประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ กระทำผิด“อาชญากรรม” อันได้แก่ อาชญากรรมเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The crime of genocide) อาชญากรรมต่อความเป็นมนุษย์ (Crimes against humanity) อาชญากรรมสงคราม (War crimes) และอาชญากรรมเกี่ยวกับการรุกราน (The crime of aggression) แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจครอบคลุมเฉพาะรัฐซึ่งเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม หรือรัฐซึ่งมิได้เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม แต่ได้ให้ถ้อยแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ต่อนายทะเบียนแล้วเท่านั้น
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและการเครารพสักการะของประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศที่ครอบคุลมถึงประมุขของรัฐที่อาจถูกดำเนินคดีได้ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ประเทศได้มิได้เข้าร่วมเป็นภาคีหรือให้ถ้อยแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ

ค. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเคารพสักการะ

การยกย่องพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์จะเสร็จไปที่ใด ๆ ทางราชการจะต้องจัดให้มีการเคารพเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเป็นหน้าที่ของราษฎรตามรัฐธรรมนูญที่จะทำการเคารพดุจกัน การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะนั้น ย่อมเป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และจะต้องไม่ทรงปรึกษาหารือกับนักการเมืองใด ๆ นอกจากคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี และพระมหากษัตริย์ย่อมทรงเว้นเสียซึ่งการกระทำใด ๆ โดยเปิดเผยอันอาจทำให้ประชาชนนำไปวิพากษ์วิจารณ์เช่นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือกล่าวถึงปัญหาในทางการเมืองที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ในประเทศ และในเวลาเดียวกันพระมหากษัตริย์จะต้องประกอบกรณียกิจทางสังคม เช่น การสังคมสงเคราะห์ (Charity) ต่างๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ฯลฯ เป็นต้น การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในทางสงเคราะห์เช่นนี้ถือว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้สถาบันการมีพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ได้ พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นสังคมกษัตริย์ (Social King) พระมหากษัตริย์จะไม่แยกพระองค์ออกจากประชาชนของพระองค์

จากหลักเรื่อง“พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ (The King can do no wrong –Le roi ne peut mal faire) นี้เอง หลักความเสมอภาคของบุคคลตามรัฐธรรมนูญที่รับรองว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันจะนำมาใช้กับพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐที่เป็นประมุขของราษฎรทุก ๆ คน และเป็นกลางทางการเมือง พระมหากษัตริย์จึงไม่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใด ๆ ได้ และไม่อาจที่โต้แย้งแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้แม้บุคคลนั้นจะได้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ก็ตาม แม้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือทรงเป็นสถาบันในทางรัฐธรรมนูญ หมายความว่า รัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะกำหนดพระราชฐานะและพระราชอำนาจได้ กฎหมายอื่นหาอาจกำหนดเช่นนั้นได้ ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ก็ทรงอยู่เหนือกฎหมายอื่นในประเทศโดยสิ้นเชิง

ผลของการที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางการเมืองจึงมีว่า โดยปกติแล้ว พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นถวายแต่พระองค์กระทำการใด ๆ โดยลำพังพระองค์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นตามคำแนะนำของสถาบันใดสถาบันหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเสมอ และผู้เป็นประมุขของสถาบันที่ถวายคำแนะนำหรือบุคคลที่ถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชโองการ และสถาบันนั้นหรือบุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองแทนพระมหากษัตริย์

 

โดยหลักแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจทางบริหารซึ่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นถวายแด่พระองค์และให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรับมนตรีมอบหมายเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองแทนพระมหากษัตริย์

1.2 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

นอกจากพระมหากษัตริย์จะมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในฐานะประมุขที่เป็นรัฐบาลส่วนที่ถาวรแล้ว ในทางรัฐธรรมนูญไทย พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยอีกด้วย

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ให้ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยนี้ สืบเนื่องมาจากคตินิยมโบราณ ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์คือผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทัพ ตามรูปศัพท์เอง “กษัตริย์” หรือ”ขัตติยะ” แปลว่า “นักรบผู้ยิ่งใหญ่” อันเป็นคตินิยมของอินเดียโบราณซึ่งถือว่าคนในวรรณะกษัตริย์ก็คือ นักรบด้วยนั้นเอง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หมวดกษัตริย์มิได้บัญญัติถึงพระราชฐานะข้อนี้ไว้ เพิ่งเริ่มบทบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2575 หมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา 5 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม” และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมาก็ได้บัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็บัญญัติข้อความเช่นเดียวกัน มีเพียงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 มาตรา 11 เท่านั้นที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง” แต่ในรัฐธรรมนูญต่อมาๆ ทุกฉบับตัดข้อความตอนท้ายออกไป

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย มีผลในพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์มี 2 ประการคือ

ก. พระราชฐานะที่จะทรงได้รับการยกย่องถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้ทรงอยู่เหนือสูงสุดของกองทัพไทยทุกกรมกอง อันเป็นการถวายพระเกียรติยศในทางสัญลักษณ์ เพราะในทางเป็นจริงพระมหากษัตริย์จะทรงลงมาบัญชาการกองทัพโดยพระองค์เองไม่ได้ ในทางถวายพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชฐานะดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทางปฏิบัติจึงมีการสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระปักษ์พระมหากษัตริย์ทุกปี

ข. การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย มีผลเท่ากับยอมรับว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพไทย ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และทรงมีพระราชอำนาจบังคับบัญชาการทหารและสั่งการเกี่ยวด้วยกองทัพได้โดยทรงใช้พระราชอำนาจทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้พระบรมราชวินิจฉัย และพระบรมราชโองการที่ทรงสั่งการในฐานะจอมทัพไทยจำต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งมีผลเท่ากับว่าทรงสั่งการตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกกฎอัยการศึกตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามโดยได้รับความเห็ฯชอบจากรัฐสภา ในด้านตัวบุคคลนั้น พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการทหาร โดยทำเป็นการประกาศพระบรมราชโองการเรื่องให้นายทหารรับราชการนั่นเอง

อนึ่ง พึงสังเกตว่ายศจอมพลในทางราชการทหารมีความแตกต่างจากพระราชยศ “จอมทัพ” ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งปวง นอกจากนั้นตำแหน่งจอมทัพของพระมหากษัตริย์นี้ยังเป็นที่ยอมรับในรัฐธรรมนูญต่างประเทศ อาทิเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ มาตรา 68 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายทหาร ทรงเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ทรงถอดถอนและพระราชทานบำเหน็จบำนาญตามระเบียบที่กำหนดไว้ในกฎหมาย”

1.3 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ นี้ มีความหมาย 3 ประการ คือ

ก.การนับถือพุทธศาสนาเป็นเงื่อนไขของการเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์พระองค์ใดที่ไม่นับถือพุทธศานาไม่ว่าจะเป็นเพราะเป็นผู้ไม่นับถือศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้นก็ดี หรือนับถือศาสนา ลัทธิอื่นก็ดี แม้จะเข้าเกณฑ์เป็นผู้สืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ พุทธศักราช 2464 และรัฐสภาก็เห็นชอบด้วย ก็ไม่สามารถจะเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ทางที่ถูก ถ้ารัฐสภาทราบว่าพระราชวงศ์พระองค์นั้นไม่เป็นพุทธมามกะ ก็จะต้องไม่ให้ความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นทรงราชย์

ข. เมื่อได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ภายหลังพระมหากษัตริย์ทรงเปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น หรือกลายเป็นผู้ไม่นับถือศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ไม่สามารถจะเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ซึ่งหมายความว่าต้องนับถือพุทธศาสนาตลอดเวลาที่เป็นพระมหากษัตริย์ ในกรณีเช่นว่านี้ทางปฏิบัติก็คือคระรัฐมนตรีจะต้องถวายคำแนะนำให้สละราชสมบัติ

ค. พุทธศาสนาที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะได้นั้น จะต้องเป็นพุทธศาสนาในนิกายที่ประชาชนชาวไทยส่วนมากนับถือเท่านั้น คือพุทธเถรวาท พระมหากษัตริย์จะนับถือพุทธศาสนานิกายมหาญาณหรือวัชรนิกาย หรือนิกายเซ็นไม่ได้

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ แสดงให้เห็นชัดว่า พระมหากษัตริย์ มิได้มีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทย ที่บุคคลธรรมดามีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาลัทธินิกายได้ แต่พระมหากษัตริย์ไม่มีสิทธิเลือกในการนับถือศาสนาได้
ในทางปฏิบัติและธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของประเทศไทยที่พระมหากษัตริย์นับถือพุทธศาสนาและทรงอุปการะพุทธศาสนามาโดยตลอดไม่ขาดสาย ซึ่งก็สอดคล้องกับศาสนาของประชาชนชาวไทยโดยมากที่นับถือพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะอาจไม่มีความจำเป็น แต่การมีบทบัญญัตินี้มีผลเป็นการให้เอกสิทธิแก่พุทธศาสนา และยกย่องพุทธศาสนาเป็นศาสนาของรัฐ แต่รัฐธรรมนูญไม่อาจที่จะบัญญัติให้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติได้ เพราะเป็นการทำสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประชาชนซึ่งสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่ถูกกฎหมายบ้านเมืองลบล้างได้

ส่วนบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนาที่ประชาชนชาวไทยนับถือ แม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม เพื่อมิให้เห็นว่า ศาสนาอื่นๆ นอกจากศาสนาพุทธจะถูกทอดทิ้งจากรัฐ โดยที่ศาสนาพุทธจะได้รับอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่น และการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกมีผลทำให้การศาสนาเป็นกิจการส่วนหนึ่งของรัฐที่จะต้องมีการสนับสนุนส่งเสริมทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกันตามสัดส่วนการนับถือของประชาชนในประเทศ นอกจากนี้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกยังเป็นการประสานสามัคคีระหว่างชนชาวไทยนับถือศาสนาอื่นๆ กับชนชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนาด้วย เพราะศาสนาทุกศาสนาอยู่ในพระบรมราชนูปถัมภ์ด้วยกันทั้งนั้น

Cr.เพจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สำนักข่าววิหคนิวส์