เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ฝายแกนซอยซีเมนต์ !ช่วยพลิกผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรสีเขียว

#ฝายแกนซอยซีเมนต์ !ช่วยพลิกผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรสีเขียว

10 February 2022
672   0

วันพฤหัสบดี ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้มอบหมายให้นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านน้ำและที่ดินเป็นตัวแทนของประธานคณะกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ไปติดตามความคืบหน้าการใช้นวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ตามแนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อชุมชน ในพื้นที่ อำเภอแวงน้อยและ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

จากการสำรวจฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในลำห้วยยางบง บ้านหนองหญ้าขาว ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย พบว่าโครงสร้างของฝายยังคงมีความมั่นคงแข็งแรง ปริมาณน้ำที่กักเก็บ อยู่หน้าฝาย สูงกว่าด้านท้ายฝายประมาณเกือบ 1 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณพื้นที่รอบลำห้วย ชาวบ้านได้มีการขุดสระกักเก็บน้ำ พร้อมขุดเจาะบาดาลน้ำตื้นระดับความลึกที่ 26,30,40 เมตร ตามลำดับจำนวนหลายบ่อ

นายธรรมรักษ์ จันกระจ่าง ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่แห่งนี้ประสบกับภัยแล้งทุกๆปี แต่พอมีการก่อสร้างฝายฯขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ลำห้วยก็กลับมีน้ำตลอดทั้งสายทั้งปีที่สำคัญ ก็คือเมื่อมีการขุดสระและเจาะบ่อบาดาลก็ได้น้ำบาดาลในปริมาณมากทุกบ่อ ซึ่งคงเป็นเพราะ มาจากการเก็บกักน้ำของแกนฝาย แกนดินซีเมนต์ที่ สามารถกักน้ำใต้ดินเอาไว้ ได้เป็นจำนวนมากนั่นเอง

ในวันเดียวกันนายภัทรพล ณ หนองคายยังได้เดินทางไปตรวจสอบฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในแม่น้ำชี ที่ บ้านท่าม่วงและบ้านกุดหล่ม ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท พบว่าหลังผ่านพ้นฤดูฝน ไป แล้วปริมาณน้ำในแม่น้ำชี ยังคงมีระดับ ความสูง ในขณะนี้สภาพฝายทั้งสองแห่ง ยังสามารถเก็บกักน้ำได้ตามปกติในระดับ ความสูงของฝายแกนดินซิเมนต์

นางภาส ประเสิร์ฐ​ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี กล่าวว่า เมื่อประมาณ 3 ปี ที่ผ่านมา เมื่อหมดฤดูฝนน้ำในแม่น้ำชีจะเริ่มแห้งขอด แต่ เมื่อมีการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ขึ้น มา ชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ครอบคลุมทั้งตำบล ตนเองนั้นได้ใช้โซล่าเซลสูบน้ำในแม่น้ำชีขึ้นมาใช้ในครัวเรือน รวมทั้งใช้ทำการเกษตรและปศุสัตว์ตามแบบวิถีพอเพียงได้เป็นอย่างดี เธอพบว่าชีวิตที่เคยอัตคัด แร้นแค้นเพราะขาดน้ำที่จะใช้หลังฤดูฝนทำให้สมาชิกของครอบครัวส่งแยกย้ายกันออกไปหางานทำคนละทิศคนละทาง แต่เมื่อมีการสร้างฝายแก่นสอดดินซีเมนต์ขึ้นแล้วได้ช่วยให้ครอบครัวของเธอสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ครอบครัวสามารถกลับมาร่วมทำงานได้อย่างเป็นปกติสุข

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าฝายแกนดินซิเมนต์ ซึ่งมีราคาค่าก่อสร้างถูก ประหยัด ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง เพราะฝายแกนดินซีเมนต์เพียงหนึ่งตัวก็สามารถใช้ประโยชน์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ทั่วทั้งตำบลได้

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตระหนักดีว่าความทุกข์ยากของพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่คือการขาดแคลนน้ำหลังฤดูฝน ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องฝายแกนซอยซิเมนต์ ออกไปยังภาครัฐ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและพี่น้องเกษตรกรทั้งที่เป็นตัวบุคคล เป็นกลุ่มและเป็นเครือข่ายอยู่ทั่วไป แต่งานของเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักนวัตกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กแบบนี้ เราจึงใคร่ขอความร่วมมือจากทุกท่านหากพบปัญหาที่เกษตรกรขาดแคลนน้ำ และต้องการที่จะได้รับข้อเสนอแนะจากเรา ท่านสามารถติดต่อ

ผอ.ภัทรพล ณ หนองคาย จังหวัด ขอนแก่น

โทร 087857999

สวัสดีครับ… จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

9 กุมภาพันธ์ 2565