เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ปลดล็อคเปิดช่องหายใจ ! อย่าลืมเร่งฉีดวัคซีนคู่ขนาน

#ปลดล็อคเปิดช่องหายใจ ! อย่าลืมเร่งฉีดวัคซีนคู่ขนาน

27 August 2021
516   0

อย่าเพิ่งรีบดีใจ เตรียมเปิดกิจการค้าขายรับปลดล็อค 1 กันยายน 2564 จนลืมสิ่งที่คำนึงและจำเป็นต้องทำควบคู่กัน

เพราะเมื่อร้านอาหารเปิดนั่งกินในร้านได้ ห้างและศูนย์สรรพสินค้าเล็กใหญ่เปิดได้ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถหายใจได้บ้าง เจ้าของร้าน ลูกจ้างพอจะมีรายได้ประคับประคองกิจการและดำเนินชีวิตกันไปได้ แต่คำตอบสุดท้ายสำหรับรับมือโควิด 19 คือวัคซีน

ไม่ว่าจะอิงแอบไปกับยุทธศาสตร์เปิดประเทศ 120 วัน หรือนโยบายฉีดวัคซีน 100 ล้านโด๊สให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปี 64 หรือไม่ก็ตาม

คำตอบสุดท้ายก็อยู่ที่วัคซีนอยู่ดี

นั่นหมายถึงว่า ต้องมีปริมาณวัคซีนสำหรับฉีดอย่างเพียงพอ ไม่ใช่กระท่อนกระแท่น หรือต้องคอยลุ้นทั้งจำนวนที่สธ.รับมอบและการกระจายวัคซีนที่มักถูกแย่งชิงหล่นหายกลางทางก็มี

จนถึงขณะนี้ จำนวนตัวเลขวัคซีนก็ยังไม่แจ่มชัด ทั้งปริมาณสั่งซื้อเพื่อนำเข้า และแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศ มีเพียงการอ้างถึงภาพรวมเมื่อสิ้นปี 2564 จากทั้งรัฐบาล-สบค.และกระทรวงสาธารณสุข แต่จะเป็นช่วงไหนหรือเดือนไหนไม่มีใครกล้ายืนยัน

ที่แน่ๆ ซิโนแวคจะมากที่สุด จนคนเผลอคิดไปว่านี่เป็นวัคซีนหลักของประเทศไปแล้วด้วยซ้ำ ยอดสั่งจองและรับมอบภายในสิ้นปี 64 จะตกที่ 47.5 ล้านโด๊ส

สำหรับแอสตร้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและผอ.ศบค.ระบุตัวเลข 61 ล้านโด๊สภายในสิ้นปี 64 แต่จะทยอยหรือส่งได้แต่ละเดือนเท่าไหร่ไม่ได้แจกแจงยืนยัน หลังจากก่อนหน้านั้น ‘หมอตี๋’สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ระบุว่ายอดส่งมอบ 61 ล้านโด๊สจากบ.สยามไบโอไซแอนซ์ จะครบจำนวนในเดือนพฤษภาคม 65

ซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สั่งจองนำเข้า ถึงขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ 5-10 ล้านโด๊ส แต่ออร์เดอร์เพิ่ม ยังไม่ชัดเจนว่ายอดและการทยอยส่งจะเป็นอย่างไร

ไฟเซอร์ ยอดสั่งจองมีตัวเลขอยู่ที่ 20 ล้านโด๊ส แต่กำหนดส่งมอบจริงจะอยู่ที่ไตรมาส 4 ส่วนที่มีฉีดช่วงก่อนหน้านี้ เป็นวัคซีนบริจาคจากสหรัฐ

 

วัคซีนโมเดิร์นนา ที่อภ.(องค์การเภสัชกรรม) ลงนามกับบริษัทตัวแทนจำหน่าย 5 ล้านโด๊ส จะทยอยส่งมอบได้ก็ไตรมาส 4 และต่อเนื่องไตรมาสแรก ปี 65 จนมีข่าวรพ.เอกชนหลายแห่งประกาศคืนเงินจอง

สำหรับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือ JJ ที่เคยมีข่าวรัฐบาลเจรจาสั่งซื้ิอ จู่ๆก็เงียบหายไป วงในอ้างว่ายังผลิตไม่ทันจะส่งมอบให้ เช่นเดียวกับสปุตนิก วี ของรัสเซีย

ส่วนรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่ให้ความสนใจโนวาแวค วัคซีนที่ผลิตโดยใช้โปรตีนหรือชิ้นส่วนหนามแหลมของไวรัสโควิด 19 ขณะนี้เพิ่งอยู่ระหว่างทดลองกับมนุษย์เฟสสุดท้าย อย่างเร็วที่สุดก็อาจต้องรอถึงกลางปี 65

จึงเป็นคำถามปริศนาว่า วัคซีนจะมีในปริมาณที่สามารถเร่งฉีดให้คนไทยได้ครบ 50 ล้านคนที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

เพราะการคลายล็อคร้านอาหาร นั่งกินในร้านได้ 50% และ 75% ก็ยังมีมาตรการเข้มด้านสาธารณสุขครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง คือพนักงานบริการในร้านต้องฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม หากยังไม่ได้ฉีดหรือฉีดยังไม่ครบ ต้องตรวจ เอทีเคทุก 3-7 วัน โดยภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือเรื่ิองงบสำหรับซื้อหรือแจกจ่ายเอทีเคให้แต่อย่างใด จึงเป็นต้นทุนของร้านหรือของพนักงาน ขณะที่คนนั่งกินในร้าน ก็ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือกรณีต้องใช้ผลตรวจเอทีเคยืนยันแทน เท่ากับเป็นต้นทุนของลูกค้า ยิ่งมากันหลายคน ต้นทุนซื้อเอทีเคก็ยิ่งสูง

หรือแม้แต่กรณีบับเบิลแอนด์ซีลในโรงงานอุตสาหกรรมที่กำหนดให้เน้นการคัดกรอง แยกคนติดเชื้อไปกักตัวส่วนคนไม่ติดเชื้อก็ทำงานต่อไป โรงงานก็ไม่ต้องปิดกิจการ ในทางปฏิบัติ ภาครัฐก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องงบจัดซื้อเอทีเค หรือส่งมอบเครื่องตรวจเอทีเคให้กับโรงงานหรือคนงานแต่อย่างใด

แม้ชุดเอทีเคที่อภ.ให้รพ.ราชวิถีเรียกประกวดราคา จะได้ชุดตรวจราคา 70 บาท แต่หากมีแรงงานมาก ต้นทุนสำหรับโรงงานก็มากตามไปด้วย

ค่าใช้จ่ายเอทีเคจะลดน้อยลงหรือหายไปได้ จึงขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนของแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ดังนั้น ระหว่างคลายล็อค ภาครัฐซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดกับการรับมือโควิด 1 9 ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีน อย่างน้อยวันละ 5 แสนโด๊ส

ก่อนที่เจ้าของร้านอาหาร พนักงาน เจ้าของโรงงานและแรงงานจะหมดลมขาดใจตายไปเสียก่อน โดยไม่ต้องโดนถุงดำครอบหัว

 

นายประจักษ์ มะวงศ์ษา