เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ประยุทธ์ต้องออกไป ! ไพศาล-จตุพร-นิติธร ฟาดกองเชียร์ประยุทธ์ ยันอยู่เกิน 8 ปีไม่ได้

#ประยุทธ์ต้องออกไป ! ไพศาล-จตุพร-นิติธร ฟาดกองเชียร์ประยุทธ์ ยันอยู่เกิน 8 ปีไม่ได้

14 August 2022
247   0

  ไพศาล-นิติธร-จตุพร ซัดกองเชียร์ “ประยุทธ์” ตะแบงอุ้มอำนาจเถื่อนดิบอยู่เกิน 8 ปี กังขาไม่นับรวมเวลานายกฯ ปี 57 ติงกล้าเหยียบย่ำพระบรมราชโองการ ร.9 หรือ? ย้อนไม่จงรักภักดีแล้วหรือ? ย้ำ ม.158 และ ม. 264 ระบุชัดเจนเวลานายกฯ สิ้นสุดเที่ยงคืน 23 ส.ค. ต้องออกไป เตือนไม่ทำตาม รธน. ระวัง ปชช.ลุยตะโกนไล่

เมื่อ 13 ส.ค. 2565 คณะหลอมรวมประชาชน โดยนายไพศาล พืชมงคล นายนิติธร ล้ำเหลือ เฟซบุ๊คไลฟ์ Exclusive Talk หัวข้อ 8 ปี “ประยุทธ์” ต้องไป โดยนายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานนปช. ดำเนินรายการและร่วมเสวนา

นายไพศาล กล่าวว่า เรื่องระยะเวลาเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีนั้น เป็นสถานการณ์ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญหน้าชนิดหนักกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา หากตุลาการรัฐธรรมนูญจะทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือโอบอุ้มกันแล้ว จึงไม่แตกต่างจากการโยนทิ้งหรือเหยียบย่ำใน 2 เรื่องสำคัญทันที คือไม่ยอมรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2557 อีกทั้งยังไม่ยึดถือ ไม่เอาหรือไม่ปฏิบัติตาม รธน. 2560 มาตรา 158 กับ มาตรา 264 ด้วย

ส่วนการอ้าง “รัฏฐาธิปัตย์” คือ ผู้มีอำนาจปกครองรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจของกษัตริย์ทรงใช้ และเป็นการยอมรับมาตั้งแต่ปี 2475 ว่า คนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และการยึดอำนาจแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จึงเท่ากับเป็นการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงได้มอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์กลับคืนให้พระมหากษัตริย์ และเมื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 การเข้าถวายสัตย์ย่อมทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสามารถทำหน้าที่ได้

นายไพศาล ท้วงติงว่า การไม่นับเวลานายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 เท่ากับเป็นการโยนทิ้งพระบรมราชโองการ พร้อมทั้งสงสัยว่า กล้าและบังอาจอย่างนั้นหรือ? จึงไม่นับรวมการแต่งตั้งประยุท์เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2557 อีกทั้งยังโยนทิ้ง รธน. มาตรา 158 ที่ระบุเวลาไม่เกิน 8 ปี และมาตรา 264 บัญญัติตามตัวอักษรชัดเจนว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” มีความชัดเจนอย่างจริง

“ใครจะเหยียบย่ำ ใช้คำพูด มีพฤติกรรมแบบศรีธนญชัยจึงต้องโยนทิ้งทั้ง 2 เรื่องนี้ทั้งสิ้นเพื่อเข้าอุ้มประยุทธ์ และที่อ้างจงรักษ์ภักดี ผมก็สงสัย จึงขอให้ประชาชนจับตา แล้วในบทราชปรารภ รธน. 2560 ที่ระบุถึงวิกฤตเกิดจากการฉ้อฉล บิดเบือนอำนาจ ทุจริต ดังนั้นการไม่ทำตาม รธน.จะไม่อายเด็กมันบ้างหรือ จึงบังอาจเอา รธน. มาล้อเล่น”

อีกอย่าง ตนไม่อยากให้กล่าวอ้างกันว่า ไม่รู้กฎหมาย เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นมีใครกระตือรืนร้นเตรียมการทำหน้าที่ตาม รธน. เมื่อนายกรัฐมนตรีอยู่ครบ 8 ปีแล้ว โดยประธานรัฐสภายังไม่วางมาตรการเรียกประชุมเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่ รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ต้องเตรียมทำหน้าที่ในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ดังนั้น จึงไม่ควรมาอ้างว่า ไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะ รธน.เขียนไว้ชัดเจน

ส่วนเรื่องเจตนารมณ์นั้น นายไพศาล กล่าวว่า อย่าไปถามคนร่าง รธน. เพราะคนร่าง รธน.จะเกิดการพลิกลิ้นได้ แต่ให้พิจารณาที่ตัวอักษร ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ได้ชัดเจน นอกจากนี้ ในการประชุมของผู้ร่าง รธน.นั้นมี 2 แบบ คือ ทางการมีลงมติ กับเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติ ถ้าไม่มีการคัดค้านก็ถือเป็นมติตามนั้น และสิ่งสำคัญนายกรัฐมนตรีจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่การมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้าไม่ยึดเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 เท่ากับเป็นโยนทิ้งพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 จึงเป็นการเหยียบย่ำใน 2 สิ่งสำคัญตามที่กล่าวมา

สำหรับทางเลือกของประยุทธ์ กรณีระยะเวลานายกรัฐมนตรีใกล้ครบ 8 ปีนั้น นายไพศาล ประเมินว่า มี 4 ทางออก คือ หนึ่งโยนให้ศาลวินิจฉัย สองยุบสภา จะอยู่ได้นานประมาณเกือบ 2 ปี สามยึดอำนาจตัวเอง ซึ่งจะทำได้หรือไม่ และสี่บอกพอแล้ว ดังนั้น ต้องคอยดูกันไป จะเลือกเอาทางเลือกใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าให้เสนอแล้ว ตนขอให้ประยุทธ์ เลือกลาออก ยอมลงจากอำนาจตามแบบอย่างของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีนายกรัฐมนตรีที่ถูกประชาชนตำหนิกรณีราคาน้ำมัน และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นคนดี สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านการถูกยึดอำนาจถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ แต่ยังประกาศพอแล้ว ไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ที่สำคัญสถานการณ์ช่วงนั้นแตกต่างจากสมัยนี้ซึ่งหนักกว่าถึงขั้นไปไหนห้ามพกปากกาเข้ามาต้อนรับกันแล้ว

ถ้าประยุทธ์ พ้นตำแหน่งไปแล้ว ไม่ว่าทางใดใน 4 ทางเลือก แต่ในกรณีสถานกาณ์แบบนี้ อำนาจน่าจะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปก่อน เพราะถือเป็นสถานการณ์วิกฤต จึงต้องเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นบัญชีพรรคคนเดิมที่เป็นแคนดิเดตหรือเลือกคนนอกอย่างประวิตรขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราว

“คนเหมาะก็มีอนุทิน ชาญวีระกูล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะแคนนิเดตและเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้ใหญ่ประสานได้ทุกพรรค จะทำให้ประยุทธ์ไปอย่างสบายใจที่สุด ไม่ต้องกลัวถูกเช็คบิลที่หลัง”

อีกอย่าง นายไพศาล กล่าวถึง การนำหลักการของกฎหมายอาญามาโยงเข้ากับกฎหมายมหาชน คือ กรณีกฎหมายไม่ให้บังคับใช้ย้อนหลัง จึงเป็นความอธิบายที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริงกับกฎหมายมหาชน แล้วจะไม่นำพระบรมราชโองการแต่งตั้งประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 มารวมกันด้วยหรือ? ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

นายนิติธร เสนอว่า ปี 2475 ได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและนายกรัฐมนตรีต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ ซึ่งยึดถือกันมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“นายกรัฐมนตรีปี 2557 เป็นไปตาม รธน. 2557 และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันก็เป็นไปตาม รธน. 2560 มาตรา 158 และ มาตรา 264 จึงไม่มีปัญหาด้าน รธน.เลย หากไม่นับนายกรัฐมนตรีปี 2557 แล้ว ผมข้องใจว่า นักวิชาการจะไม่เอานายกรัฐมนตรีที่ ร. 9 โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเลยใช่หรือไม่”

ดังนั้น การพิจารณาเจตนารมณ์ รธน.จึงต้องดูเจตนารมณ์ประชาชนด้วย ไม่ใช่เลือกตีความเพียงเจตนารมณ์ของ รธน.เท่านั้น เพราะอำนาจอธิปไตยของปวงชนที่ทำให้เกิด รธน. แล้วนายกรัฐมนตรีจะยอมรับหรือไม่ ทำไมโยนไปให้ ศาล รธน.วินิจฉัย รวมถึงสื่อมวลชนบางสำนักจึงเข้าข้าง อุ้มชูประยุทธ์ กันจนไม่มีหลักของกฎหมายบ้านเมืองให้ยึดถือกันแล้ว

อีกอย่าง ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีนั้น ต้องปฏิญาณตนตาม มาตรา 161 ว่า“ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ดังนั้น ประยุทธ์นำรัฐมนตรีปฏิญาณไม่ครบ ขาดในส่วนว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ตนข้องใจว่า ปล่อยกันมาได้อย่างไร ดังนั้นพฤติกรรมนี้เข้าข่ายไม่น่าไว้วางใจ แล้วใครจะรับผิดชอบ ศาล รธน.ก็ไม่ท้วงติงว่า ปฎิญาณไม่ครบ เท่ากับไม่ปฏิบัติตาม รธน. จึงทำให้มีพฤติกรรมน่าเคลือบแคลงสงสัย

“ถ้าศาลจะวินิจฉัย ต้องตัดสินก่อน 23 ส.ค. เพราะหากเลยไปหลัง 23 ส.ค. ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ และอย่าไปติดยึดการประชุมเอเปก ซึ่งล่าสุดแนวโน้มผู้นำประเทศมหาอำนาจจะมาประชุมกันไม่ครบทั้งจีน รัสเซีย และสหรัฐ เพราะการเตรียมการต้อนรับยังไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างไรกันเลย”

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่าง รธน. 2560 ยังไม่พูดอะไรเลยกับเรื่องเวลาของนายกรัฐมนตรี 8 ปี หากแสดงความเห็นคงจะเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการไม่ปฎิบัติตาม รธน.ของประยุทธ์ มีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ ดังนั้น หลังเที่ยงคืน 23 ส.ค. นี้ จะได้เห็นปรากฎการณ์ประชาชนออกมา นั่นคือเรื่องจริง

Cr.สยามรัฐ