ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #บิ๊กตู่แจง”ไทยนิยม” ไม่ใช่ประชานิยม-ชาตินิยม แต่คือการปฎิรูปแบบไทย

#บิ๊กตู่แจง”ไทยนิยม” ไม่ใช่ประชานิยม-ชาตินิยม แต่คือการปฎิรูปแบบไทย

27 January 2018
597   0

“ประยุทธ์” แจง “ไทยนิยม” คือ การปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นไทย โดยไม่ทิ้งหลักสากล ต่อยอดจากประชารัฐ ไม่ใช่ประชานิยม เผยคณะกรรมการปฏิรูปฯจัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยในขั้นต้นทั้ง 11 ด้านแล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาต่อไป

วันนี้ (26 ม.ค.) เวลา 20.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ไทยนิยมที่มอบให้กับสังคมไทยในวันนี้ ไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยมเหมือนที่บางคนไม่เข้าใจแล้วพยายามบิดเบือนโดยไม่ศึกษาให้ดี เพราะชาตินิยมนั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภายนอกประเทศ หรือจากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิดลัทธิของชาติอื่น ชาตินิยมจึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อจะสร้างสำนึกความรักชาติ

สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยไม่ทิ้งหลักสากล และไทยนิยม ไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับยัดเยียดทุกคน ได้ไปพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชนด้วยการสร้างแนวคิดบริโภคนิยม ที่ผ่านมาประชาชนชอบพอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เหมือนกับนโยบายของที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง อาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง หลายๆ อย่างทำไม่ได้ ออกไม่ได้ เพราะว่าทุกคนต้องการคะแนนเสียงกันทั้งหมด มันเลยทำให้ปัญหาต่างๆ พอกพูนมาถึงรัฐบาล มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ งบประมาณต่างๆ ซึ่งนับวันจะมีปัญหามากขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ฉะนั้น เราถึงต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนว่าใครเดือดร้อนอะไรอย่างไรมากน้อยเพียงใด เราก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญให้มาก ว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคำว่า ประชานิยมนั้น มันแตกต่างจากไทยนิยม เพราะว่าไทยนิยมนั้นเป็นการต่อยอดขยายผลจากประชารัฐ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น 3 ประสาน คือ ราษฎร์ รัฐ และเอกชน ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะอยู่ในประเทศของเราเอง อันจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนด้วยกลไกประชารัฐของตน ของแต่ละท้องถิ่น ตรงความต้องการ และเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว ไทยนิยมนั้น จึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการ ตามความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกต้องที่ถูกที่ควร นิยมในสิ่งดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น จะต้องน้อมนำศาสตร์พระราชาด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เข้าใจถึงพื้นที่ เข้าใจถึงคน และประชาชนมาประยุกต์ใช้การบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อจะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อการพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่นเขาคือ กับดักทางการเมือง มีมากกว่าประเทศอื่นเขา ต้องแก้ไขตรงนี้ให้ได้ และจะต้องให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้ยั่งยืน ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราวและไม่เข้มแข็ง ให้ไปใช้ไปหมดไป เพราะฉะนั้น จะเห็นประชารัฐและไทยนิยมนั้น จะมีความเชื่อมโยงอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน ไทยนิยม เป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ หลักยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค การพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกประชารัฐ

ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็งเน้นการพึ่งพาตนเองได้ ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้วจะนำสู่ความสำเร็จประสิทธิภาพรวมของประเทศในที่สุด อยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงทั้งหมด

นายกฯ กล่าวเพิ่มด้วยว่า สำหรับการปฏิรูปประเทศ ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็ได้จัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยในขั้นต้น ทั้ง 11 ด้าน อันได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

โดยหลักการจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ต้องมีเป้าหมาย มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน รวมทั้งมีตัวชี้วัด ประเมินผลสำเร็จตามระยะเวลาไว้ด้วย ทั้งนี้ ในหลายประเด็นปฏิรูปอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้าง กระบวนการทำงานของส่วนราชการ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนทุกคน

สำหรับขั้นตอนต่อไป จะมีการเสนอร่างแผนปฏิรูปให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และขั้นตอนอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ เป็นระยะๆ

จากร่างแผนปฏิรูปดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่า เรานั้นยังมีงานที่ต้องทำ มีปัญหาอีกมากมายในการเดินหน้าประเทศไปสู่ความยั่งยืน การปฏิรูปนั้นเราจะต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ในการจัดทำแผนแม่บทของแต่ละส่วนราชการ แต่ละกิจกรรม ให้สอดคล้องต้องกัน ทั้งในเรื่องของแผนปฏิรูป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุกๆ 5 ปี ปัจจุบันแผนที่ 12 และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ต่อๆ ไปของทุกรัฐบาล

นายกฯ กล่าวอีกว่า สุดท้ายนี้ข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นถือว่าเป็นความรู้ สำหรับการเตรียมตัว เตรียมพร้อม เผชิญกับสิ่งท้าทายในอนาคต มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ หากใครศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติม จนเกิดปัญญา เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาตนเอง ไม่ให้หลุดกรอบ ตกกระแสการพัฒนาประเทศ หรือรู้เท่าทันแล้ว ก็จะช่วยให้เกิดการปรับตัวได้ทัน ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 และการเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยของเราที่ยั่งยืน

Cr.mgronline

สำนักข่าววิหคนิวส์