เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #น้ำปิงวิกฤติ ! สปช.1 ประกาศเตือน ต้องระวังเต็มที่ วัดได้สูงสุด 335 ลบ.ม.

#น้ำปิงวิกฤติ ! สปช.1 ประกาศเตือน ต้องระวังเต็มที่ วัดได้สูงสุด 335 ลบ.ม.

15 September 2022
215   0

 


สชป.1 แจงสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำปิงตอนบน รอบนี้พีคสุดที่จุด P.67 วัดได้ 335 ลบ.ม.ต่อวินาที ปตร.ท่าวังตาล ยังทำหน้าที่ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เมืองเชียงใหม่รอดอีกครั้ง เผยฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 210 มม. ชี้ฝน 60 มม. กระจายทั้งลุ่มน้ำปิง เข้าขั้นวิกฤติ

วันที่ 15 ก.ย. 65 ที่ห้องปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOG) สำนักงานชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเตล ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ (เชียงใหม่,ลำพูน,แม่ฮ่องสอน) ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน

โดย นายสุดชายฯ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปิงตอนบนตั้งแต่ อ.เชียงดาว ไหลเข้าสู่เขตเศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ ปริมาณน้ำมีมากได้รับอิทธิพลฝนต่อเนื่องมาตั้งแต่พายุมู่หลานทำให้มีน้ำหลากในช่วงวันที่ 12-14 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานีวัดน้ำ P.1 เชิงสะพานนวรัฐ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงดังกล่าว กระทั่งเช้าวันนี้ (15 ก.ย.65) ตั้งแต่เวลา 8.00 – 11.00 น. มีปริมาณน้ำค่อนข้างสูง ประตูระบายน้ำท่าวังตาลก็ได้ทำหน้าที่โดยการยกบานเพื่อระบายน้ำออกจากเมืองเชียงใหม่ไปได้อย่างรวดเร็ว

“แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเขตตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ทางด้านเหนือขึ้นไปที่เป็นจุดฟันหลอยังเกิดปัญหาเมื่อมีน้ำเท้อขึ้นไป จำเป็นต้องใช้กระสอบทรายกั้นแล้วสูบออก สำหรับ 2-3 วันที่ผ่านมาปริมาณน้ำในลำน้ำปิงที่ P.1 เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แต่ยังไม่ถึงระดับวิกฤติ เมื่อฝนไม่เติมลงมาก็ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด ส่วนด้านท้ายยังคงทำหน้าที่ได้อย่างดี ปตร.ท่าวังตาล ได้ระบายน้ำออกไปด้านท้ายไม่ทำให้ตัวเมืองเชียงใหม่ได้รับผลกระทบ” ผส.ชป.1 กล่าว

นายสุดชาย พรหมมลมาศ สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อเมืองเชียงใหม่คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขณะนี้มีน้ำอยู่ราว 232.78 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% ของความจุ ได้มีการพร่องน้ำระหว่างน้ำเข้ากับน้ำออกให้มีความสมดุล วันนี้มีน้ำเข้าประมาณ 8.5 ล้าน ลบ.ม. ได้ระบายออกวันละ 4 ล้าน ลบ.ม. ด้านท้ายมีจุดคอขวดจำเป็นต้องระบายออกโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อด้านท้ายน้ำ จุดคอขวดที่ว่านี้มีอยู่ที่ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

ซึ่งขณะนี้ระบายได้แล้วราว 24 ลบ.ม.ต่อวินาที การระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ แบบสมดุลจะระบายอยู่ที่ 4 – 10 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อด้านท้ายน้ำและตัวเมืองเชียงใหม่

“ในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนของสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการตามนโยบายทั้ง 13 มาตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นหลัก ปัจจุบันก็ได้ดำเนินการทั้ง 13 มาตรการอย่างต่อเนื่อง และได้รายงานผลการปฏิบัติการดำเนินการไปยังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติทุกวัน ซึ่งสถานการณ์โดยภาพรวมยังถือว่ายังไม่มีปัญหา” นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าว

ด้าน นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา (ผจบ.) สำนักงานชลประทานที่ 1 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปริมาณฝนสะสมของภาคเหนืออยู่ที่ 1,172 มม. สูงกว่าค่าปกติ 210 มม. หรือราว 22% โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ค่อนข้างสูงกว่าค่าปกติราว 100-200 มม. ซึ่งหากเปรียบเทียบกับฝนสะสมในปี 2554 จะพบว่า ใกล้เคียงกับปี 2554 ต่ำกว่าเล็กน้อย

“สำหรับสถานกาณณ์น้ำท่าซึ่งเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำปิงตอนบนสุดมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 39.20 ลบ.ม.ต่อวินาที เลื่อนลงมาที่จุดบรรจบกับน้ำแม่งัด p.75 วัดได้ 125.80 ลบ.ม.ต่อวินาที ลงมาที่จุดฝายแม่แฝกวัดได้ 149 ลบ.ม.ต่อวินาที ทางฝั่งฝายแม่แตงตรวจวัดระดับน้ำได้ที่ 132 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้ง 2 สายคือ แม่น้ำปิง กับแม่น้ำแตง มารวมกัน ที่จุด P.67 วันเมื่อเช้าวันนี้ได้ที่ 310 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งสูงสุดที่ P.67 วัดได้ตอนเวลา 05.00 น. ของวันนี้ วัดได้ 335.20 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ลดระดับลงมากแล้ว เมื่อเคลื่อนมายังจุด P.1 ปริมาณน้ำสูงสุดวัดได้เมื่อเวลา 10.00 น. วัดได้ 358.25 ลบ.ม.ต่อวินาที และลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง (เมื่อเวลา 16.00 น. วัดได้ 320.70 ลบ.ม.ต่อวินาที)” ผจบ. สชป.1 กล่าว

จากสถานการณ์ฝนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งตกหนักเบาสลับกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงตอนบนเพิ่มสูงแล้วลดต่ำลง 2 ครั้ง โดยที่จุด P.67 ปริมาณน้ำสูงสุดวัดได้เมื่อช่วงเที่ยงคืนวันที่ 13 ก.ย. 65 วัดได้ 339 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นก็ลดระดับลง แล้วกลับเพิ่มขึ้นอีกเมื่อมีฝนเพิ่มในพื้นที่ตอนเหนือซึ่งสูงสุดที่จุดวัด P.67 วัดได้ 335 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันที่ 15 ก.ย. 65 ต่อคำถามที่ว่าปริมาณฝนตอนเหนือเพิ่มอีกมากน้อยเท่าไรอาจทำให้แม่น้ำปิงเข้าสู่ภาวะวิกฤติ

นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง แจงว่า แต่เดิมการคำนวณปริมาณน้ำที่จะเข้าเมืองเชียงใหม่คิดจากแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่ปิง แม่แตง และแม่งัด นอกนั้นจะเป็นน้ำสาขาสายย่อย เช่น น้ำแม่ริม ซึ่งยังไม่มีจุดวัดที่ชัดเจน รวมถึงลำน้ำสาขาย่อยๆ อีก เช่น น้ำแม่เตาไห ซึ่งจะไหลลงน้ำปิงโดยตรงก่อนเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงการระบายน้ำจากชุมชน ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำปิง

เพราะฉะนั้นความคาดเคลื่อนของการประเมินก็อาจจะมีบ้าง โดยข้อเท็จจริงแล้ว หากฝนตก 60 มม.ต่อชั่วโมง กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ เพราะจะมีปริมาณน้ำค่อนข้างสูงจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง หากฝนเป็นหย่อมๆ ก็จะขึ้นอยู่กับการจราจรของน้ำจุดไหนจะมาก่อนมาหลัง ประเด็นนี้ทางชลประทานจะทำอย่างเต็มที่ที่จะให้น้ำมาไม่พร้อมกัน หากหน่วงน้ำไว้จุดใดได้ก็จะหน่วงน้ำไว้ก่อน
.
.