ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #ธนาคารพลาด !!เงินเข้าบัญชีอื่นเจ้าของบัญชีมีความผิดหรือไม่?

#ธนาคารพลาด !!เงินเข้าบัญชีอื่นเจ้าของบัญชีมีความผิดหรือไม่?

1 July 2017
777   0


ธนาคารโอนเงินผิดพลาด !!เงินไปเข้าบัญชีผู้อื่นเจ้าของบัญชีมีความผิดหรือไม่?
อันดับแรกจะผิดหรือถูกเราจะต้องมาศึกษาหลักกฎหมายกันก่อนนะครับว่ามีหลักกฎหมายใดบ้างที่จะเกี่ยวข้องกับหัวเรื่องของเรา หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็คือ ยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ บัญญัติว่า

“ ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือผู้เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (วรรคแรก)

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง ” (วรรคสอง)

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น สำคัญอยู่ที่คำว่า “ ครอบครองทรัพย์ ” จะผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ดูว่า มีการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นด้วยการเบียดบังเพื่อเอาทรัพย์นั้นหรือเปล่า ถ้ามีลักษณะพฤติการณ์อย่างนี้ถือว่าเข้าความหมายของคำว่าครอบครองทรัพย์แล้ว คือพูดง่ายๆเลยว่าทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิดแล้วหรือไม่ ถ้าอยู่ในความครอบครองแล้วก็ผิด หลักประการต่อมาเมื่อทรัพย์อยู่ในความครอบครองแล้วและเบียดบังไปโดยทุจริต ครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์เลยครับ

 

ตัวอย่าง นายวิโรจน์เป็นหนี้นายสมบูรณ์ จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท นายวิโรจน์ต้องการใช้หนี้นายสมบูรณ์ ด้วยความไว้วางใจนายภูมิพัฒน์เลยส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อให้นายภูมิพัฒน์ นำไปมอบให้กับนายสมบูรณ์ แต่ปรากฏว่านายภูมิพัฒน์ไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้นายสมบูรณ์แต่กลับเบียดบังเอาไว้เสียเอง การกระทำของนายภูมิพัฒน์ ครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์แล้ว พิจารณาได้จากหลักประการแรกว่า นายวิโรจน์ได้ส่งมอบการครอบครองเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นายภูมิพัฒน์เพื่อให้นำไปใช้หนี้ถือว่า นายภูมิพัฒน์ได้มีการครอบครอบเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว พิจารณาหลักประการที่สองเห็นว่า นายภูมิพัฒน์ได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไว้เสียเองโดยเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง การกระทำของนายภูมิพัฒน์จึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์แล้ว

เมื่อเราศึกษาถึงหลักกฎหมายความผิดฐานยักยอกทรัพย์แล้ว ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านขออธิบายข้อแตกต่างความผิดฐานยักยอกทรัพย์กับความผิดฐานลักทรัพย์ไปในคราวเดียวกันเลยนะครับว่า วิธีการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นยักยอกทรัพย์ การกระทำใดเป็นลักทรัพย์ให้พิจารณาว่า ถ้าเป็นยักยอกทรัพย์ เจ้าของทรัพย์ต้องมีการส่งมอบการครอบครอบทรัพย์นั้นๆ ให้กับผู้กระทำผิดก่อน เมื่อส่งมอบทรัพย์แล้วผู้กระทำผิดได้ทำการเบียดบังทรัพย์นั้นไปโดยเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น

ส่วนความผิดฐานลักทรัพย์ เจ้าของทรัพย์ไม่มีการส่งมอบการครอบครองนะครับ เพราะลักทรัพย์เป็นเรื่องแย่งการครอบครองคือ เจ้าของทรัพย์ไม่ได้เต็มใจมอบทรัพย์นั้นให้ไปครอบครองนะครับ เช่น นายสมบัติวางโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะทำงานแล้วเข้าห้องน้ำต่อมานายสมเกียรติเดินมาเห็นโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวอยู่บนโต๊ะจึงหยิบไป เราก็มาพิจารณาการกระทำของนายสมเกียรติว่าเป็นลักทรัพย์หรือเป็นยักยอกทรัพย์ กรณีนี้เป็นลักทรัพย์เพราะว่านายสมบัติไม่ได้มอบการครอบครอบโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวให้กับนายสมเกียรติเลย แต่ลักษณะการกระทำของนายสมเกียรติที่หยิบโทรศัพท์ไปถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองเพื่อตัดกรรมสิทธิ์โดยให้ได้ทรัพย์คือโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวมาเป็นของตนโดยเจตนาทุจริต ถือว่าการกระทำของนายสมเกียรติเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

เหตุที่ต้องอธิบายข้อแตกต่างยักยอกทรัพย์กับลักทรัพย์ให้ได้ทราบเพราะมีหลายท่านหรือแม้แต่ผู้ศึกษากฎหมายบางท่าน ถ้าศึกษาไม่ละเอียดยังสับสนว่าอย่างไรเป็นยักยอกทรัพย์ อย่างไรเป็นลักทรัพย์ เพราะผลของการกระทำแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นยักยอกทรัพย์ ยังยอมความได้เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัวจึงยอมความกันได้ แต่ถ้าเป็นลักทรัพย์ยอมความไม่ได้เพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน

เมื่อเราศึกษาหลักกฎหมายมาพอสังเขปแล้ว เรามาเข้าเนื้อเรื่องกันเลยดีกว่านะครับ
แม้ในปัจจุบันนี้จะอยู่ในยุคเทคโนโลยีทันสมัย แต่ถึงอย่างไรความผิดพลาดก็ย่อมต้องเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้นบนโลกใบกลมๆ ใบนี้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีกแล้ว เรื่องก็มีอยู่ว่า มีพนักงานของธนาคารแห่งหนึ่งได้ทำหน้าที่ไปตามที่ๆเคยปฏิบัติมาโดยตลอด วันหนึ่งก็มีเรื่องเกิดขึ้นจนได้ เมื่อขณะที่ตนทำงานอยู่ได้ทำหน้าที่รับฝากเงินจากนายสมชาย จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อทำการโอนเข้าบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของบริษัท ร่ำรวย จำกัด แต่เรื่องผิดพลาดก็เกิดขึ้น ก็คือเมื่อพนักงานของธนาคารได้ทำการป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการรับฝากเงินรายนี้ โดยได้ทำการป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์ผิดพลาดในการรับฝากเงินเข้าไปในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของนายส้มหล่น ทำให้ยอดเงินของนายส้มหล่นมีมากขึ้น ซึ่งนายส้มหล่นเองก็ทราบว่าความจริงแล้วตนเองมียอดเงินคงเหลือในบัญชีที่เป็นจริงจำนวนเท่าใด นายส้มหล่นเองก็ทราบว่าเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นคงอาจเกิดจากการผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตนเองไม่ได้ให้ผู้ใดโอนเงินเข้ามาในบัญชีของตนเลยและตนก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของใคร และในบัญชีของตนเดิมก็มีเงินเพียงไม่กี่พันบาท และเงินดังกล่าวตนก็ไม่ได้ทำมาหาได้ขึ้นมาแต่อย่างใด แล้วเงินมันงอกเงยขึ้นมาได้อย่างไร อย่างนี้ส้มหล่นสมชื่อไหมครับ เมื่อสงสัยแต่กลับเพิกเฉยหรือเพราะถือว่าส้มหล่นจริงก็ไม่ทราบ แทนที่จะสอบถามธนาคารดังกล่าวแต่เปล่าเลย กลับถอนเงินจำนวนที่โอนเข้าผิดพลาดนั้นไปใช้จ่ายอย่างสบายใจ อย่างนี้เขาก็เรียกว่าไม่สุจริต เพราะว่าตนเองรู้อยู่เต็มอก รู้อยู่เต็มใจว่าเงินจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เงินของตนเอง เมื่อนายส้มหล่นถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกไปใช้แล้ว กฎหมายเขาถือว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าธนาคารได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้กับนายส้มหล่นแล้ว ถือได้ว่าเงินจำนวนนั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของนายส้มหล่น เพราะว่าธนาคารสำคัญผิดได้ส่งมอบเงินให้กับนายส้มหล่นไป กรณีเช่นนี้ กฎหมายเขาก็วางหลักไว้ว่า ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด เขาบอกว่ากรณีเช่นนี้เป็นเรื่องของการยักยอกทรัพย์ที่มีผู้ส่งมอบโดยสำคัญผิด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคสอง ดังนั้น นายส้มหล่นจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ส้มเลยหล่นมาลูกใหญ่เลยละครับ

ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นก็ควรที่จะตรวจสอบนะครับเพื่อความบริสุทธิ์ใจของเรา อะไรมันไม่ใช่ของเรามันก็ไม่ใช่ของเราอยู่วันยังค่ำนะครับ
ทนายเกรียงไกร นาควะรี