เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ทักษิณ กระอัก ! โดนฟ้อง 112 อีกคดี พบค้างคดีเก่า อีก 31 คดี

#ทักษิณ กระอัก ! โดนฟ้อง 112 อีกคดี พบค้างคดีเก่า อีก 31 คดี

6 September 2023
402   0

 

   วันนี้ (5 ก.ย.) จากกรณีที่นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในคดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน และคดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ปฯ เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี เหลือจำคุกต่อไปอีก 1 ปี นำมาซึ่งข้อสงสัยว่าปัจจุบันนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ยังมีคดีอาญาเหลือค้างที่อาจเป็นมูลเหตุให้ต้องได้รับโทษจำคุกเหลืออยู่นอกจาก 3 คดี อีกหรือไม่

รายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ได้สืบค้นข้อมูลคดีค้างของนายทักษิณ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องฟ้องร้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย พบว่ามีจำนวน 8 คดี


1. คดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดาจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ขณะที่นายทักษิณได้หลบหนีออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศ ไม่เดินทางไปฟังคำพิพากษา (หมดอายุความ)

2. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

3. คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

4. คดีให้นอมินีถือหุ้น ‘ชินคอร์ปฯ’-เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว

5. คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ศาลยกฟ้อง

6. คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ศาลยกฟ้อง

7. คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (คดีข้าวจีทูจีล็อตสอง) โดย ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่านายทักษิณมีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค ถ.เลียบทางด่วนรามอินทรา ระหว่างนายทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง โดยนายทักษิณสั่งให้แต่งตั้ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (จำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตแรก ปัจจุบันหลบหนี) เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) และสั่งการชัดเจนว่าให้ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ดูแลเรื่องการระบายข้าว

8. คดีการอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 และคดีอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ล่าสุดนายทักษิณถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาไปแล้ว เท่ากับปัจจุบันนายทักษิณไม่มีคดีค้างที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องฟ้องร้องศาลอีกแล้ว

อย่างไรก็ดี นายทักษิณยังมีคดีกล่าวหาที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.อีก 2 คดี ได้แก่ 

1. คดี นายทักษิณ ถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาพร้อมกับพวก กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบการทำเหมืองแร่ดีบุก จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

2. คดีกล่าวหา นายทักษิณ กับพวก อนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) เมื่อครั้งกลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 51% เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และมีการแก้ไขข้อบังคับหลายกรณี ซึ่งในบอร์ด ทอท.ขณะนั้นมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นบอร์ดรวมอยู่ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้แล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด


อีกด้านหนึ่ง เมื่อสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลคดีของอัยการและศาลต่างๆ เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายทักษิณ ที่หน่วยงานตรวจสอบต่างๆ มีการส่งสำนวนเข้ามาเพื่อให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาสำนวนฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย พบว่าตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีอยู่จำนวน 31 คดี ส่วนใหญ่เป็นข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รองลงมาเป็นข้อหาเกี่ยวกับทุจริตประพฤติมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ โดยหลายคดีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวนของ ป.ป.ช.ตามที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว

แต่มี 1 คดีเป็นเรื่อง ขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด คาดว่าเป็นกรณีขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อกเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2549

สำหรับสถานะทางคดีนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในจำนวน 31 คดีนี้ มี 21 คดีที่ถูกระบุว่าเป็นสำนวนที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา และมีจำนวน 9 คดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนคดีที่เหลือมีทั้งส่งสำนวนกลับคืน และศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในสำนวนคดีที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหานั้น มีอยู่ 1 คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้องไปแล้ว คือ การกระทำความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 และเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกรณีในช่วงปี 2558 ที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญ ไปแจ้งความเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และพูดพาดพิงสถาบันฯ และได้มีการออกหมายจับนายทักษิณไปแล้ว

สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีนี้ ต่อไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะต้องไปอายัดตัวนายทักษิณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ จากนั้นทำการสอบปาก และส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุด (อสส.) อีกครั้ง ซึ่งถ้าอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องจะทำสำนวนส่งให้ศาลพิจารณา ถ้าศาลรับฟ้อง ก็จะต้องมีการเบิกตัวนายทักษิณ มาขึ้นศาลอีกครั้ง