ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #จับตา มท. สั่งหว่านงบแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง 1.58 หมื่นล้านเร่งปิดจ๊อบ 30ก.ย. เสี่ยงทุจริต?

#จับตา มท. สั่งหว่านงบแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง 1.58 หมื่นล้านเร่งปิดจ๊อบ 30ก.ย. เสี่ยงทุจริต?

4 September 2019
951   0

“…ในเมื่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยและระเบียบกระทรวงการคลัง ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ทำไมกระทรวงมหาดไทย ไม่รอความชัดเจนในการการจัดระเบียบเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อน แต่กลับรีบเร่ง ในการเดินหน้าโครงการเหล่านี้ ให้แล้วเสร็จภายใน สิ้นเดือน 30 กันยายน 2562 นี้ …น่าสนใจว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณผ่านโครงการแก้ไข และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด วงเงินกว่า 15,800 ล้านบาท ดังกล่าว จะอยู่ในข่ายโครงการเฝ้าระวังจับตามองของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยหรือไม่…”

“ขณะนี้สั่งการให้แต่ละสำนักเฝ้าระวังของสำนักงาน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)  เริ่มดำเนินการค้นหาข้อมูลโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลแล้ว ภายหลังคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจากนั้นจะจัดลำดับความเร่งด่วนของความเสี่ยงแต่ละโครงการว่า โครงการไหนใหญ่ โครงการไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต หากพบว่า ในช่วงตั้งต้นของโครงการที่มีความเสี่ยง จะเฝ้าระวังตรวจสอบว่า มีการทำอะไรช่วงไหน ขอรายละเอียดโครงการมาพิจารณา นอกจากนี้จะแจ้งเตือนรัฐบาลว่าให้เฝ้าระวัง มีการวางแผนป้องกันความเสี่ยงหรือยัง นี่คือการป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้ต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการในส่วน Big Data เพื่อให้ประชาชนหาข้อมูลได้เต็มที่ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่าโครงการไหนมีความเสี่ยง สามารถลงมติเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ให้ยับยั้งโครงการดังกล่าวไว้ก่อนได้”

คือ คำยืนยันของ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณผ่านโครงการของรัฐบาลที่ประกาศออกมาล่าสุด

พล.อ.บุณยวัจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนการของการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานของรัฐนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือกับนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. ว่า ความโปร่งใสในการดำเนินโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรเปิดเผยรายละเอียดโครงการในเว็บไซต์หน่วยงานท้องถิ่นนั้น ๆ เลย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่า อยู่ในขั้นตอนใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีวัตถุประสงค์อะไร ใครเป็นผู้ประมูลชนะ ราคาเท่าไหร่ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ตอนนี้ อปท. จำนวน 1,852 หน่วย ได้ส่งแผนป้องกันและต่อต้านการทุจริตมาให้ ป.ป.ช. หมดแล้ว หลังจากนั้น ป.ป.ช. จะติดตามผลต่อไป

“ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากงบประมาณเงินอุดหนุน ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่เกิดปัญหา เบื้องต้นได้หารือกับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดูรายละเอียดว่าจะจัดระเบียบงบประมาณเงินอุดหนุนว่าอย่างไร ต้องมีหลักเกณฑ์โดยละเอียดอย่างไร เพราะขณะนี้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเป็นอีกอย่าง ระเบียบกระทรวงการคลังเป็นอีกอย่าง ขัดแย้งกันหมด ทำให้ที่ผ่านมางบประมาณเงินอุดหนุนมีปัญหา ต้องมีการจัดระเบียบตรงนี้เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน” กรรมการ ป.ป.ช.ระบุ

ไม่ว่าผลการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณผ่านโครงการของรัฐบาลที่ประกาศออกมาล่าสุด จะออกมาเป็นอย่างไร

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2562 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด แจ้งเวียนไปถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้รับทราบแนวทางปฏิบัติการใช้จ่ายเงินงบประมาณผ่านโครงการแก้ไข และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด วงเงินกว่า  15,800 ล้านบาท 

โดยระบุว่า ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0211.6/ว 5018 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 แจ้งให้จังหวัดเตรียมเสนอแผนงาน/โครงการ ตามร่างแนวทางปฏิบัติโครงการแก้ไข และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด นั้น

ในคราวประชุมมอบนโยบายของกระทรวงมหาดไทยแก่ผู้บริหารและผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบาย และแนวทางในการเสนอแผนงาน/โครงการในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ซึ่งอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ภายในกรอบวงเงิน 15,800 ล้านบาท แยกเป็นสําหรับ 74 จังหวัด จังหวัดละ 200 ล้านบาท และสําหรับจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดละ 500 ล้านบาท สรุปดังนี้

1. ให้จังหวัดเป็นหน่วยรับงบประมาณ และให้ส่วนราชการ/หน่วยงานที่เสนอแผนงาน/ โครงการ หรือส่วนราชการ/หน่วยงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าเหมาะสม เป็นหน่วยดําเนินการ

2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเน้นย้ำหัวหน้าสํานักงานจังหวัดให้ความสําคัญในการบูรณาการ และประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และให้ชี้แจงแก่ส่วนราชการที่จะเสนอขอรับการสนับสนุน งบประมาณในการดําเนินโครงการ ให้มีเป้าหมายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาจําเป็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล โดยไม่กําหนดวงเงินงบประมาณรายโครงการ แต่ให้พิจารณาตามสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยให้มี การกระจายพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาและบูรณาการการดําเนินงานของส่วนราชการที่รับผิดชอบตามแนวทาง ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562

3. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย เช่น สํานักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด สํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ที่ทําการปกครองจังหวัด เป็นต้น และหน่วยงานอื่น ที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง เสนอแผนงาน/โครงการฯและร่วมพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการฯ

4. ให้จังหวัดจัดประชุมคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2562 โดยให้รวบรวมคําของบประมาณจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการฯ ที่มีความพร้อมในการดําเนินการ ได้แก่ ความพร้อมของพื้นที่ดําเนินการ ไม่มีปัญหาด้านมวลชน มีแบบรูปรายการ ประมาณราคาค่าก่อสร้าง (ปร.4 ปร.5) และสามารถ ดําเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ ให้จัดทํารายงานการประชุม ซึ่งระบุเหตุผล ความจําเป็นของแต่ละแผนงาน/โครงการให้ชัดเจน

5. ให้ส่งคําของบประมาณ แผนงาน/โครงการ ตามแบบที่กําหนดไว้ในแนวทางปฏิบัติฯ ตามข้อ 1 พร้อมรายงานการประชุม กบจ. ให้กองจัดทํางบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) ระหว่างวันที่ 3 – 5 กันยายน 2562 โดยสามารถทยอยส่งโครงการที่มีความพร้อมไปเพื่อพิจารณาได้ก่อน โดยไม่จําเป็นต้องรอ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด

6. ให้จังหวัดประสานกองจัดทํางบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) อย่างใกล้ชิดในช่วง การพิจารณาอนุมัติแผนงาน/โครงการ ระหว่างวันที่ 6 – 11 กันยายน 2562 และเมื่อได้รับแจ้งการอนุมัติแล้ว ให้จังหวัดเตรียมความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้รอข้อวินิจฉัย แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างจากกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งจังหวัดทราบ โดยด่วนต่อไป และในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้กําหนดเงื่อนไขให้มีการลงนามในสัญญาเมื่อได้รับการจัดสรร งบประมาณ ทั้งนี้ งบลงทุนจะต้องดําเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 และ งบดําเนินงานจะต้องก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2562

7. หากผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณามอบอํานาจให้หัวหน้าส่วนราชการประจํา จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัด หรือหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ จังหวัด เป็นหน่วยดําเนินการ ให้พิจารณาให้เป็นไปตามภารกิจ อํานาจหน้าที่ และสมรรถนะของหน่วยงาน เพื่อให้การดําเนินโครงการบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

8. กรณีแผนงาน/โครงการ ดําเนินการในพื้นที่ใด ให้หน่วยงานที่มีภารกิจอํานาจหน้าที่ โดยตรงเป็นหน่วยดําเนินการ โดยให้ประสานกับอําเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อชี้แจงทําความเข้าใจกับประชาชน

9. ให้จังหวัดจัดส่งแผนงาน/โครงการและสรุปวงเงินคําของบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก กองจัดทํางบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) ให้กระทรวงมหาดไทยตามแบบที่กําหนด ภายในวันที่ 12 กันยายน 2562

10. ให้จังหวัดศึกษาแนวทางปฏิบัติการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ สํานักนโยบายและแผน สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย www.ppb.moi.go.th หัวข้อ “ข่าวประชาสัมพันธ์”

11. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทําความเข้าใจกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนว่า งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ในครั้งนี้ มิใช่งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นงบประมาณของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ดังนั้น จังหวัดจึงต้องเสนอแผนงาน/โครงการตามปัญหา ข้อเท็จจริงในพื้นที่และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)

หากพิจารณารายละเอียดคำสั่งการเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าว โดยเฉพาะในข้อ 6 . ที่ระบุว่า “…เมื่อได้รับแจ้งการอนุมัติแล้ว ให้จังหวัดเตรียมความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้รอข้อวินิจฉัย แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างจากกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งจังหวัดทราบ โดยด่วนต่อไป และในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้กําหนดเงื่อนไขให้มีการลงนามในสัญญาเมื่อได้รับการจัดสรร งบประมาณ ทั้งนี้ งบลงทุนจะต้องดําเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 และ งบดําเนินงานจะต้องก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2562”

จะพบว่า มีลักษณะรูปแบบการดำเนินงาน ตรงตามข้อมูลที่ พล.อ.บุณยวัจน์ ระบุถึงผลการหารือเบื้องต้น กับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ไว้ว่า “จะต้องดูรายละเอียดว่าจะจัดระเบียบงบประมาณเงินอุดหนุนว่าเป็นอย่างไร ต้องมีหลักเกณฑ์โดยละเอียดอย่างไร เพราะขณะนี้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเป็นอีกอย่าง ระเบียบกระทรวงการคลังเป็นอีกอย่าง ขัดแย้งกันหมด ทำให้ที่ผ่านมางบประมาณเงินอุดหนุนมีปัญหา ต้องมีการจัดระเบียบตรงนี้เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน..”

อันนำมาซึ่งคำถามสำคัญ คือ ในเมื่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยและระเบียบกระทรวงการคลัง ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ทำไมกระทรวงมหาดไทย ไม่รอความชัดเจนในการการจัดระเบียบเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อน แต่กลับรีบเร่ง ในการเดินหน้าโครงการเหล่านี้ ให้แล้วเสร็จภายใน สิ้นเดือน 30 กันยายน 2562 นี้

น่าสนใจว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณผ่านโครงการแก้ไข และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด วงเงินกว่า  15,800 ล้านบาท ดังกล่าว จะอยู่ในข่ายโครงการเฝ้าระวังจับตามองของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยหรือไม่

ถ้าใช่อะไรจะเกิดขึ้นกับโครงการที่มีวงเงินตัวเลขการใช้จ่ายสูงนับหมื่นล้านบาทเหล่านี้บ้าง

Cr.isaranews

สำนักข่าววิหคนิวส์