เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #จบแล้วเหมืองทองอัครา ! ไทยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย แถมบริษัทยอมทำตามเงื่อนไข

#จบแล้วเหมืองทองอัครา ! ไทยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย แถมบริษัทยอมทำตามเงื่อนไข

5 August 2022
418   0

 

จับตาข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ กรณีปิดเหมืองทองอัครา มากว่า 5 ปี นำไปสู่ข้อสรุปที่ยิ่งกว่า WIN-WIN ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทองคำแบบครบวงจร ขณะที่ของเดิมบริษัทอัคราฯ จะส่งไปให้ ‘Heraeus’ ในฮ่องกงผลิตและแยกเพื่อให้ได้ทองคำบริสุทธิ์ 99.9% แต่จากนี้ไปต้องบริษัท PMR ของไทยเท่านั้น ระบุแร่ทองและแร่เงินตามพื้นที่ประทานบัตร มีมูลค่ารวม 9 หมื่นกว่าล้านบาท เตรียมเปิดตัวความร่วมมือและผลงานทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ‘อัครา-PMR’ ในงาน Bangkok Gems & Jewelr Fair ในวันที่ 7-11 ก.ย.นี้ ขณะที่เหมืองทองอัคราได้ต่อใบอนุญาตทั้ง 3 ประเภท พร้อมเปิดเหมืองทอง คาดจะเป็นต้นปี 2566 และรับคนไทยเข้าทำงานกว่า 1 พันคน
.
5 ปีผ่านไปหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้คำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำนั้น มีการฟ้องร้องและต่อสู้ระหว่างรัฐบาลไทยและคิงส์เกตในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไปพร้อมๆ กับการเจรจาคู่ขนานเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
.
ถึงวันนี้การเจรจาคู่ขนานกำลังนำไปสู่เส้นทางที่ทุกฝ่ายอาจจะเกิดความรู้สึกว่ายิ่งกว่า WIN-WIN โดยเฉพาะข้อโต้แย้งที่รัฐบาลงัดมาต่อสู้นั้น ทำให้เหมืองทองอัคราต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ นั่นคือ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ที่ใช้อยู่เดิม ทำให้การบริหารจัดการแร่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการดูแลผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง แต่ของใหม่เข้มข้นกว่าต้องมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ ไว้ เช่น กองทุนฟื้นฟูเหมืองแร่ กองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ เป็นต้น
.
รวมถึงการเก็บค่าภาคหลวงของเดิมอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการเก็บค่าภาคหลวงจะคำนวณตามราคาทองคำ ปัจจุบันราคาทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ว่ากันว่าอัตราค่าภาคหลวงสำหรับแร่ทองคำของประเทศไทยมีอัตราสูงที่สุดในโลกหากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่
.
“รายได้จากค่าภาคหลวงส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรกลับสู่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตั้งของเหมืองแร่ เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนต่อไป”
.
ขณะเดียวกัน บริษัทอัคราฯ ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่ทองคำ จำนวน 44 แปลงในอำเภอชนแดน และวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ปี 2560 มีอายุไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2563-25 ต.ค.2568
.
อีกทั้งได้มีการต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จำนวน 4 แปลง ประกอบด้วย ประทานบัตรที่ 25528/14714 ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และประทานบัตรเลขที่ 26910/15635 ประทานบัตรที่ 26911/15366 และประทานบัตรที่ 26912/15367 ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2564-29 ธ.ค.2574
.
พร้อมกันนั้น ได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปีตั้งแต่ 19 ม.ค.2565-18 ม.ค.2570 ซึ่งในการต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรม บ.อัคราต้องจัดทำแนวพื้นที่กันชนที่มีระยะห่างจากชุมชนตามที่กฎหมายกำหนดด้วยเช่นกัน
.
จากผลการเจรจาคู่ขนานในคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ นั้น ทำให้ บริษัทอัคราฯ มีความมั่นใจว่าเหมืองทองคำอัคราที่ถูกปิดไปกว่า 5 ปี จะมีโอกาสได้กลับมาเปิดแน่ ปัจจุบันจึงอยู่ในกระบวนการซ่อมบำรุงโรงงาน และเครื่องจักร รวมทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรภายในแล้วเสร็จ เพื่อจะได้มีการเปิดรับพนักงานในทุกระดับประมาณ 1 พันคน ซึ่งจะเป็นคนไทย 99% และจะเน้นรับพนักงานที่อยู่รอบชุมชนเข้าทำงาน
.
ที่น่าสนใจสุดก็คือ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องเหมืองทองอัคราทั้งหมด และได้นำ นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เข้าให้ข้อมูลกับ ครม.ว่า ก่อนการปิดเหมืองนั้น บริษัทอัคราฯ จะส่งออกไปถลุงที่ฮ่องกง เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและแยกสินแร่ต่างๆ เพื่อได้ทองคำบริษัท 99.9% ก่อนที่จะส่งกลับมาประเทศไทยและส่งออกทองคำไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป แต่จากนี้ไปจะทำเช่นนั้นไม่ได้ และกำหนดเป็นเงื่อนไขจะต้องใช้บริษัทคนไทยเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทางอัคราฯ ยินดี พร้อมที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตทองคำได้ครบวงจร จะสามารถลดการนำเข้าทองคำส่งผลให้ไทยขาดดุลน้อยลง
.
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ได้มีการวิจารณ์กันว่าการที่บริษัทอัคราฯ ส่งออกไปเข้าสู่กระบวนการผลิตและแยกที่ต่างประเทศนั้นจะมีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่นั้น เรื่องนี้ทางบริษัทอัครา อธิบายว่า การที่บริษัทส่งไปดำเนินการที่ฮ่องกงนั้น เป็นเพราะบริษัทของคนไทยที่ทำธุรกิจถลุงแร่ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและแยกจะได้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์เพียง 96.5% แต่บริษัทต้องการความบริสุทธ์อยู่ที่ 99.9%
.
แต่เมื่อรัฐบาล โดย กพร.มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยสามารถผลิตได้ครบวงจร เราจึงได้ติดต่อบริษัทถลุงแร่ต่างๆ ในประเทศไทย ในที่สุดได้บริษัทที่จะดำเนินการผลิตได้ทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ตามที่เราต้องการได้แล้ว คือบริษัทรีฟายนิ่ง โลหะมีค่า จำกัด (PRECIOUS METAL REFINING COMPANY LIMITED : PMR) ซึ่งทางบริษัทอัคราฯ และ PMR จะร่วมเปิดตัวผลงานในงาน Bangkok Gems & Jewelr Fair ในวันที่ 7-11 กันยายน 2565 ที่อิมแพค เมืองทองธานี
.
“เมื่อเราได้ผงทองและเงินไปอบแห้งก่อนเข้าเตาหลอม จะได้เป็นแท่งโดเร ที่มีทองคำ 10% และเงิน 90% เราจะเอาแท่งโดเรส่งไปที่บริษัท Heraeus ในฮ่องกง เป็นผู้ดำเนินการผลิตและแยกเพื่อให้ได้ทองคำบริสุทธิ์ถึง 99.9% จากนั้นเราจะขายทองคำและเงินบริสุทธิ์ให้ธนาคารต่างๆ แต่หลังจากนี้เราไม่ส่งที่ฮ่องกงแล้ว เราจะส่งที่ PMR เป็นคนดำเนินการทำทั้งหมด”
.
สำหรับตัวเลขแร่ของบริษัทคิงส์เกต ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุไว้ว่ามีปริมาณแร่สำรองภายใต้พื้นที่ประทานบัตรปัจจุบัน แบ่งเป็นแร่ทอง 1.3 ล้านออนซ์ และแร่เงิน 12.2 ล้านออนซ์ ซึ่งแร่ทั้งหมดนี้จะถูกส่งไปที่บริษัท PMR ให้เป็นผู้สกัดโลหะเงินและทองคำ โดยแบ่งเป็นแร่ทองปีละ 100,000 ออนซ์/ปี และแร่เงิน 1,000,000 ออนซ์/ปี ปัจจุบันราคาทองคำ ณ เดือน ก.ค.2565 อยู่ที่ประมาณ 1,740 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
.
“ปริมาณแร่สำรองที่คิงส์เกต ระบุเท่ากับว่ามีแร่ทองมูลค่ารวม 81,432,000,000 บาท ส่วนแร่เงิน มีมูลค่ารวม 10,736,000,000 เมื่อรวมแร่ทอง และแร่เงินมีมูลค่าทั้งสิ้น 92,168,000,000 บาท”
——————————-

อาชญาบัตรพิเศษ และการต่ออายุประทานบัตร และได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ จะทำให้บริษัทสามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำซึ่งมีมูลค่ามหาศาลตามตัวเลขที่บริษัทคิงส์เกตฯ ประเมินไว้ถึง 9 หมื่นกว่าล้านบาทรออยู่ ส่วนรัฐบาลไทยสามารถตีกรอบให้บริษัทอัคราฯ เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ชุมชน ภายใต้ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญสุดทำให้นโยบายรัฐบรรลุเป้าหมายคือสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทองคำแบบครบวงจร

ส่งผลให้กระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทอัคราฯ มีความเชื่อมั่นว่าปมขัดแย้งต่างๆ จะยุติลงได้โดยไม่จำเป็นต้องให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในปลายปีนี้แน่นอน แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำผลเจรจาไปแจ้งให้อนุญาโตฯ ทราบเท่านั้น และประชาชนที่อยู่บริเวณเหมืองก็เตรียมพร้อมที่จะเข้าทำงานในเหมืองทองอัคราฯ กันแล้ว!