เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เข้าคารวะท่านประธานองคมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

#คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เข้าคารวะท่านประธานองคมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

7 October 2022
214   0

 

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 14.00 นาฬิกา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานฯคนที่หนึ่ง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ รองประธานฯคนที่สอง นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานฯคนที่สาม และนายภาณุ อุทัยรัตน์ รองประธานฯ คนที่สี่ และคณะอนุกรรมมาธิการอีกจำนวนหนึ่งได้เข้าคารวะและรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อขอรับคำแนะนำในการดำเนินงานต่อไปต่อ ท่านประธานองคมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ณ มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ท่านประธานองคมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กล่าวขอบคุณ และมีความยินดีที่ได้มีการพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนต่อไป

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กราบเรียนรายงานอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ เรื่องหลักคิด ปรัชญา และวิธีการทำงาน โดยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน นับแต่เริ่มต้น

สำหรับการค้นหาวิธีการแก้จนคณะกรรมาธิการฯ มิได้เริ่มต้นจากการลอกเลียนเอาทฤษฏีต่างประเทศมา เป็นต้นแบบใช้ให้กับสังคมไทย แต่พยายามค้นหารูปแบบการแก้จนที่มีลักษณะเฉพาะตัวของสังคมไทยเอง โดยการเริ่มต้นค้นคว้าจากความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจสังคมไทยระยะไกล้

คณะกรรมาธิการฯ มิได้ปฏิเสธปรัชญา ทฤษฎี แนวคิด และประสบการณ์การแก้จนของประเทศต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณประโยชน์ แต่ยังต้องอาศัยผลงานศึกษาและงานวิจัยด้านเอกสารของไทย ตลอดจนขอรับ ความรู้และประสบการณ์จากอดีตนายกรัฐมนตรี ปัญญาชน นักคิดและใช้การหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง

คณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ จำนวน 4 คณะในการดำเนินงานดังนี้คือ

1. คณะอนุกรรมาธิการ ตสร. มีนายพแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน นอกจากจะพิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ยังได้ร่วมงานกับนายมีชัย วีระไวทยะ ที่ได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทำโรงเรียนแบบใหม่ ซึ่งนายมีชัยได้ดำเนินการโรงเรียน ร่วมพัฒนา (partnership school) มาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว

โรงเรียนแบบใหม่นี้จะเน้นให้นักเรียนสามารถคิดและจินตนาการ ได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือเด็กนักเรียนมีทักษะในการประกอบอาชีพได้จริง สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ครอบครัวและโรงเรียน เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ไปเยือนโรงเรียนวัดเกาะซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่ายของโรงเรียนร่วมพัฒนาจึงให้การสนับสนุนแนวคิดของเรียนแบบนี้

2. คณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านน้ำและที่ดิน ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ได้ส่งเสริมการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยทำกิน จนถึงขณะนี้ได้มีการก่อสร้างฝายไปแล้วกว่า 300 แห่ง ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถพึ่งพิงตนเองได้ทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม

ประโยชน์ของฝายแบบนี้คือต้นทุนถูก ชุมชนและประชาชนสามารถ มีส่วนร่วมในการก่อสร้างได้ สร้างง่าย ใช้ดินในท้องถิ่นที่เป็นวัสดุส่วนสำคัญในการก่อสร้าง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีความคงทนถาวร ตามสมควร คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง สามารถสร้างเสร็จได้ภายในเวลา 1-15 วัน และเกษตรกรสามารถมีน้ำใช้ได้เพื่อการผลิต การบริโภคและอุปโภคตลอดปี ช่วยป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นของป่า

เมื่อมีน้ำแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ผู้บริโภคและสัตว์น้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งยังตระเตรียมช่องทางการตลาดให้ด้วย

3. คณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านเศรษฐกิจ มีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ เป็นประธาน ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการหาช่องทางการทำการตลาด อันเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรทั่วประเทศ

4. คณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ทำหน้าที่ดูแลเรื่องคนอยู่กับป่า และเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้อีกด้วย

ท่านประธานองคมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กล่าวขอบคุณ และได้รับทราบเรื่องการทำฝายแกนดินซิเมนต์มาพอสมควร สำหรับเรื่องการศึกษาแบบใหม่ เห็นด้วยและตรงกับใจท่านที่กำลังทำเรื่องการศึกษาอยู่ในเวลานี้

เรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอความเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะทำงานร่วมกันกับงานของมูลนิธิต่างๆ ที่ท่านประธานองคมนตรีรับผิดชอบอยู่ ท่านเห็นว่าควรมีความร่วมมือกันได้ดังนี้

1. โครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำหรับพื้นที่ของอุทยาน พื้นที่ของป่าไม้ โดยที่ชาวบ้านอยู่มานานแล้ว ข้อตกลงต่างๆ สามารถจะดำเนินการต่อไปได้ในลักษณะที่คนอยู่ร่วมกับป่า

นอกจากนี้เส้นทางคมนาคม ซึ่งแต่ก่อนเมื่อถึงฤดูฝนจะไม่สามารถเดินทางได้ เพราะเนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาสูงเป็นดินลูกรัง ปัจจุบันกรมป่าไม้ยินยอมให้ทำถนนคอนกรีต ความกว้างไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถขนย้ายผู้ป่วย และสินค้าทางการเกษตรออกมาขายได้

2. เรื่องแสงสว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อำนวยความสะดวกในการที่จะปักเสาพาดสายเข้าไปในบางพื้นที่ ซึ่งเท่าที่ทราบได้ดำเนินการมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2546- 2557 จนถึงปัจจุบัน คาดว่าโครงการปักเสาพาดสายน่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ในพื้นที่ทั้งหมด
โดยการดำเนินการได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ

3. เรื่องการศึกษาได้มีการดำเนินการปรับปรุงเพิ่มขึ้นในพื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ นักเรียนมีความปรารถนาที่จะเรียนต่อ โดยมีที่พักให้ในลักษณะโรงเรียนที่พักนอน

สำหรับพื้นที่ที่ค่อยๆ ไปดำเนินการปรับปรุงที่อยู่ในอำเภอปาย ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนที่ได้รับการพัฒนาค่อนข้างดี มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเริ่มมีการพัฒนาการตลาดและมีการจัดการพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับเป็นพื้นที่ อาศัยของชาวจีนกองพล 93 ทำให้เกิดการผสมผสานกันกับชาวบ้านในอำเภอนั้น

“จากการที่ได้มีการลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านๆ มีความต้องการใช้น้ำจากพื้นที่สูงในการทำการเกษตร จึงเห็นว่าสามารถที่จะหาทางออกร่วมกันกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้”

“สำหรับจังหวัดเชียงใหม่บางส่วนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีการตั้งหมู่บ้านโครงการหลวง แต่ก่อนเป็นถนนลูกรัง การคมนาคมไม่สะดวก ปัจจุบันเป็นเส้นทางลาดยางแล้ว ทำให้การคมนาคมค่อนข้างดีขึ้น”

4. ในส่วนของหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนที่ท่านประธานองคมนตรีรับผิดชอบอยู่ ยังคงเป็นการสอนแต่วิชาสามัญ โดยมิได้มีการเน้นเรื่องการประกอบอาชีพ ทำให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่ไม่สามารถต่อระดับอุดมศึกษาได้ เพราะไม่มีสัญชาติไทย จะขาดทักษะการประกอบอาชีพ

ดังนั้น เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อให้ นักเรียนมีความรู้ทางวิชาการและในขณะเดียวกันก็สามารถประกอบอาชีพได้

นอกจากนี้จะต้องทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้มีโอกาสรับการศึกษามากขึ้น

สำหรับอำเภอนครไทย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่งอนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ต่อได้ โดยท่านประธานองคมนตรีได้ขออนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้นได้อาศัยทำกินต่อ

ปัจจุบันบ้านนครไทยประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านน้ำคับ และหมู่บ้านน้ำจวง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน โดยเป็นความพยายามให้ประชาชนที่เคยจับอาวุธอยู่ในป่าได้มีที่ทำกิน ได้มีอาชีพ ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเรื่องอนามัยด้วย

“สำหรับโครงการกองทุนการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโครงการสุดท้าย ที่มอบหมายให้องคมนตรีเข้าไปช่วยดูแล โดยไปดูโรงเรียนที่อยู่ตามชายขอบว่าพอที่จะช่วยในเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งถ้าคณะกรรมาธิการเห็นว่ามีประโยชน์และเรื่องใดสามารถร่วมมือกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ความรู้ การพัฒนาท้องถิ่น ให้มีความยั่งยืน อย่างเช่นการส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าที่มีชื่อว่า ‘โต๊โมะ’ ก็ควรที่จะใช้ชื่อดังกล่าวต่อไป”

“ดังนั้นในเบื้องต้นคงจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันในด้านการศึกษา การอาชีพ โดยที่จะต้องมีการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้นและสามารถที่จะดำรงชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องมีการโฆษณาหรือเผยแพร่แต่อย่างใด แต่ทำในลักษณะปิดทองหลังพระ”

“สำหรับหลักการที่คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำดำเนินการอยู่แล้วนั้น เป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งได้มีการติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว”

ภารกิจของท่านประธานองคมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แบกรับอยู่ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน “ชายขอบ” ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล “ความเจริญ“ ทั้งที่เป็นเด็กไทยและเด็กที่ไม่มีสัญชาติก็ดี เด็กและเยาวชนไทยมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี การให้โอกาสแก่ชาวม้งที่เรียกกันว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย“ ได้มีโอกาสอาศัยทำกินในพื้นที่ป่าหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า” และให้เกษตรกรชาวม้งเหล่านี้ร่วมกันพิทักษ์รักษาผืนป่าเอาไว้ ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศ

คณะกรรมาธิการฯ รู้สึกเป็นเกียรติ อย่างสูงที่จะได้รับโอกาส เข้าไปเป็นส่วนเล็กๆ ในภารกิจที่มีเกียรตินี้

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

6 ตุลาคม 2565