ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #“คกก.ปฏิรูปประเทศด้านปราบโกง” รับฟังความเห็นนัดสุดท้าย ก่อนคลอดแผนฯปลาย ธ.ค. ชี้ปชช. 3 ภาคเห็นตรง ตั้งเครือข่ายร่วมตรวจสอบ-ออกกฎหมายคุ้มครองภาคประชาชน

#“คกก.ปฏิรูปประเทศด้านปราบโกง” รับฟังความเห็นนัดสุดท้าย ก่อนคลอดแผนฯปลาย ธ.ค. ชี้ปชช. 3 ภาคเห็นตรง ตั้งเครือข่ายร่วมตรวจสอบ-ออกกฎหมายคุ้มครองภาคประชาชน

21 November 2017
872   0

21 พ.ย.60 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ภาคกลาง) ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย โดยการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วย นักการเมืองระดับชาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น ตัวแทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ตัวแทนสถาบันการศึกษา และภาคประชาชน รวมกว่า 300 คน

แนวหน้า – โดยนายปานเทพ  กล้าณรงค์ราญ  ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นมาแล้วทั้งพื้นที่ภาคเหนือ จัดที่ จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ จ.ขอนแก่น, ภาคใต้ จัดที่ จ.สุราษฎร์ธานี และจ.สงขลา ที่รวมเอา 3 จ.ชายแดนภาคใต้เข้ามาด้วย

โดยการรับฟังความเห็นนี้เป็นไปตามข้อกำหนดของการทำแผนปฏิรูปที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เครือข่ายต่างๆอย่างกว้างขวาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นมาใช้ทำแผนปฏิรูปประเทศที่สมบูรณ์ ซึ่งเราจะร่างแผนปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ และเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตามผลของการสัมมนาภาคต่างๆที่ผ่านมาดูแล้วคล้ายๆกัน ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการทุจริต รวมทั้งสร้างเครือข่ายประชาชนต่อต้านการทุจริต และเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องการทุจริต การไต่สวนคดีทุจริต การจัดซื้อจัดจ้าง การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการบูรณาการหน่วยงานตรวจสอบ ทั้ง ป.ป.ช., ปปปง. และ สตง. เพื่อให้มีการประสานข้อมูลการทุจริต รวมทั้งเรื่องการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่า จะยกร่างแผนปฏิรูปได้เป็นรูปเป็นร่างภายในปลายเดือน พ.ย.นี้

ด้านนายอุทิศ ขาวเธียร กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวสรุปภาพรวมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน สรุปได้ 6 ประเด็น คือ


1.ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการทุจริตเกิดจากปัญหาระบบการปฏิบัติงานของข้าราชการ ที่มุ่งกำกับควบคุม มากกว่าการส่งเสริมแนวทางการป้องกันการทุจริต และผู้มีอำนาจมุ่งเอาเปรียบผู้ประกอบการในวงการต่างๆ ทำให้การพัฒนาประเทศไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง เกิดผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชน
2.ประชาชนเห็นว่าการแก้ปัญหาทุจริตที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ปัญหาลดลง แม้จะลดลงในแง่ตัวเลข แต่ผลกระทบจากปัญหาทุจริตไม่ได้ลดลง ทำให้ประชาชนยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น จึงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาจะต้องอาศัยการรวมตัว สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้มีอำนาจในการร่วมจัดการและร่วมตรวจสอบ กับภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจ
3.ในการสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปภาครัฐและภาคการเมืองจะมีส่วนร่วมก็ได้ ผ่านการสนับสนุนเรื่องกระบวนการและเข้ามาเป็นเครือข่าย โดยต้องมีประชาชนเป็นแกนหลัก ไม่ใช่ให้ภาครัฐเป็นแกนหลักแต่ประชาชนเข้าไปประกอบเพราะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง อาจจะทำในรูปสภาชุมชน โดยรัฐบาลจะต้องเร่งรัดออกกฎหมายรอรับการทำงานของเครือข่ายประชาชนภายใน 1 ปี โดยจะต้องมีอำนาจและบทบาทในการตรวจสอบการทุจริต และมีมาตรการคุ้มครองประชาชนที่เข้าไปตรวจสอบการทุจริตด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องปฏิรูปการทำงานของภาครัฐ ไม่ใช่เพียงหวังผลประโยชน์ หรือหวังผลทางการเมือง
4.ย้ำว่าเครือข่ายตรวจสอบภาคีประชาชนควรได้รับบทบาทและอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริต เพื่อให้มีข้อมูลที่โยงไปสู่การพิสูจน์พฤติกรรมในการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อมูลในส่วนที่เป็นความลับ เพราะปัญหาที่ผ่านมานั้นการขอข้อมูลภาครัฐจะอ้างว่าเป็นข้อมูลที่ลับไปทั้งหมด ทั้งที่บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับเรื่อความมั่นคง หรือไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับแต่อย่างใด
5.บุคลาการภาครัฐ หรือหัวหน้าหน่วยงานจะต้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหาการทุจริต เพราะหัวหน้าหน่วยงานถือเป็นคนที่ควบคุมการทำงานทั้งหมด หากไม่สามารถป้องกันการทุจริตในหน่วยงานได้ก็ต้องรับผิดชอบ และควรลงโทษไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่มีข้อมูลชัดเจนว่ากระทำผิด ไม่ใช่ให้อยู่ต่อเพราะจะกระทบกับการตรวจสอบ และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบตรวจสอบภายในด้วย รวมทั้งมีระบบบังคับในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ชัดเจน ไม่ใช่ให้อยู่ที่คนคนเดียว และวางหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคลากรที่มีประวัติการทำงานที่สุจริต
6.รัฐบาลจะต้องวางแผนงานให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยเข้าร่วมกับการสร้างเครือข่ายของประชาชน

 

สำนักข่าววิหคนิวส์