ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » การบินไทยเช็คเด้ง! ‘กรุงไทย’ ปฏิเสธจ่ายเงิน หลังศาลฯรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ

การบินไทยเช็คเด้ง! ‘กรุงไทย’ ปฏิเสธจ่ายเงิน หลังศาลฯรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ

1 June 2020
1489   0

เช็คสั่งจ่ายเงิน บริษัท การบินไทย ‘เด้ง’ แบงก์กรุงไทย สาขาสะพานขาว ปฏิเสธการขึ้นเงินให้กับผู้ที่นำไปขึ้นเงิน 1.85 แสนบาท หลังศาลล้มละลายมีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องฟื้นฟูกิจการ

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.63 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เช็คของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเช็คดังกล่าวเป็นเช็คของ บริษัท การบินไทย ที่จ่ายเงินให้กับชาวต่างชาติรายหนึ่งเป็นเงิน 185,240 บาท ผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาสะพานขาว แต่เช็คดังกล่าวไม่สามารถขึ้นเงินได้ โดยปรากฎข้อความบนเช็คว่า Check Returned (เช็คคืน) โดยมีสาเหตุจาก Lack of Funds (ขาดเงินทุน)

สำนักข่าวอิศราสอบถามเรื่องไปยังผู้บริหารบริษัท การบินไทย ได้คำตอบว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเจ้าหนี้สามารถหักกลบลบหนี้ของลูกหนี้ได้ คือ ในกรณีที่ลูกหนี้มีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย ทางธนาคารฯสามารถนำเงินฝากไปหักจากหนี้ของบริษัท การบินไทย ที่มีกับธนาคารกรุงไทยได้ แต่กรณีอย่างนี้ไม่ได้เป็นกับทุกธนาคาร เช่น ธนาคารกสิกรไทยได้ยืนยันมาแล้วว่าจะไม่ทำอย่างนี้

สำนักข่าวอิศราส่งเช็คฉบับนี้ไปให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยตรวจสอบ ซึ่งผู้บริหารรายดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธว่าเช็คดังกล่าวเช็คปลอมแต่อย่างใด

ผู้บริหารรายนี้ยังระบุว่า แม้ว่าเช็คดังกล่าวจะสั่งจ่ายผ่านธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.63 ที่ผ่านมา แต่หากผู้ได้รับการจ่ายเงิน นำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารฯ หลังวันที่ 27 พ.ค.63 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย แล้ว ก็อาจจะทำให้การสั่งจ่ายเงินผ่านเช็คของบริษัทการบินไทย มีปัญหาไม่สามารถขึ้นเงินหรืออายัดเงินไว้ได้ และการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายล้มละลาย

ทั้งนี้ ตามมาตรา 90/33 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และแก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า “ถ้าเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ เป็นหนี้ของลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้นั้นอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้ มาตรา 90/41 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่ามีการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง ในการนี้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้

ส่วนมาตรา 90/41 วรรคสองระบุว่า “ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอน
หรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น

ขณะที่มาตรา 90/41 วรรคสาม บัญญัติว่า “การเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามมาตรานี้ ไม่กระทบถึงสิทธิของ
บุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการยื่นคำร้องขอ”

ขณะเดียวกัน มาตรา 90/12 (9) บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิ้น นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น