ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#เป็นเรื่อง…!! อัยการหนุนแยกสอบสวนออกจากตร.

​#เป็นเรื่อง…!! อัยการหนุนแยกสอบสวนออกจากตร.

14 August 2017
580   0

           
          14 สิงหาคม 2560 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงอำนาจการสอบสวนคดีอาญา ว่า 

           เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปว่า ร้อยละ 79.83 เห็นด้วยกับการให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมการสอบสวนคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกเกิน 5 ปีหรือคดีที่มีการร้องเรียน เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบดูแลการสอบสวนให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีนักวิชาการหลายคนและกลุ่มประชาชนที่มีความคิดเห็นสนับสนุนในเรื่องนี้อยู่
           แนวหน้า -ทั้งนี้ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นระบบที่มีการแบ่งแยกการสอบสวนออกจากการฟ้องคดี โดยผู้ที่มีอำนาจสอบสวนคือพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะพนักงานสอบสวนของ สตช.เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีพนักงานสอบสวนในสังกัดองค์กรอื่น ๆ เช่นพนักงานฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น
            ส่วนอัยการจะทำหน้าที่ฟ้องคดีอาญาแต่ไม่ได้มีอำนาจสอบสวนและควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวน เว้นแต่คดีบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้อัยการเข้าไปมีอำนาจสอบสวนด้วย การที่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยแยกการสอบสวนออกจากการฟ้องคดี ทำให้เกิดปัญหาในการประสานงานและการทำงานร่วมกันของพนักงานสอบสวน และอัยการในการค้นหาความจริงในคดี
            ประการที่สำคัญคือ อัยการไม่สามารถเข้าไปควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดีได้ อัยการจะเริ่มทำหน้าที่ของตนก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนมาให้อัยการแล้ว ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ การกำหนดประเด็นและการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น อัยการต้องสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนในประเด็นต่าง ๆ และรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คดีล่าช้า และมักมีปัญหาในการสืบพยานของอัยการในชั้นศาลอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะที่เป็นพยานบุคคล
            แต่สำหรับระบบที่ให้อัยการมีอำนาจสอบสวน และควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวน และมีอำนาจฟ้องคดีอาญาด้วยนั้น จะเป็นระบบการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ และเป็นระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายเป็นสากลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

            นายธนกฤต อธิบายอีกว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้หลักที่ว่า อำนาจในการสอบสวนและฟ้องร้องคดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นกระบวนการเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบสวนและการฟ้องร้องคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความผิด เพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องลงโทษ ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ในกรุงปารีสและบรัสเซลส์ อัยการฝรั่งเศสและอัยการเบลเยี่ยม เป็นผู้ออกมาแถลงข่าวการดำเนินการสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ใช่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ออกมาแถลงข่าว เนื่องจากถือว่า การสอบสวนและการฟ้องร้องคดีเป็นกระบวนการเดียวกัน จึงต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้นอัยการฝรั่งเศสจึงมีทั้งอำนาจสอบสวนและฟ้องคดีอาญา โดยในส่วนของอำนาจสอบสวน อัยการฝรั่งเศสจะทำหน้าที่ ควบคุม และกำกับดูแลการสอบสวนคดีของตำรวจฝ่ายคดี (Judicial Police) ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน และมีอำนาจใช้ดุลพินิจลงไปสอบสวนคดีด้วยตนเองในคดีที่มีอัตราโทษสูงและคดีที่มีความสำคัญ โดยอัยการจะเข้าไปควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนตั้งแต่ที่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งทำให้การสอบสวนคดีมีความสมบูรณ์ โปร่งใส มีความผิดพลาดน้อย มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
           ส่วนเรื่องการปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญานั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ออกคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 999/2560 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2560 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีอำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่งในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้ระบบการสอบสวนมีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมและหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง

   สำนักข่าววิหคนิวส์