เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ไม่ใช่ polar Vortex ! อุตุฯ ตอก เป็นความกดอากาศมาจากจีน ทำให้หนาวขึ้น

#ไม่ใช่ polar Vortex ! อุตุฯ ตอก เป็นความกดอากาศมาจากจีน ทำให้หนาวขึ้น

4 April 2022
270   0

   4 เมษายน 2565 -หลังจากที่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัว เกี่ยวกับอากาศที่เย็นลงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นช่วงของฤดูร้อนว่า ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า Polar Vortex

แต่ต่อมาทาง กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศชี้แจงข่าวลือถึงสาเหตุที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง ว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ข้อความและภาพ ถึงสาเหตุที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวน หนาวเย็น ฝนตกหรืออากาศหนาวเย็นช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน 2565 โดยผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ว่าเป็นผลจากปรากฏการณ์ Polar Vortex ทำให้เย็นวูบวาบ กระแสลมโลกเบี่ยงทิศ ผลพวงปัญหาโลกร้อนที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น

กรมอุตุนิยมวิทยาขอเรียนชี้แจงว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยม วิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มีนาคม 2565) ซึ่งโดยทั่วไปอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ส่วนความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าวแผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรกๆ

ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาค ตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น
ส่วนปรากฏการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึงดังกล่าว มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทยเพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรคคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไปโอกาสที่จะนำความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหมือนที่เคย เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

ดังนั้น อุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้จึง ไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวน ขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด