ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เซ็นรถไฟทางคู่5เส้นทาง 7หมื่นล้านใช้บริการปี65

#เซ็นรถไฟทางคู่5เส้นทาง 7หมื่นล้านใช้บริการปี65

30 December 2017
830   0

รฟท.เซ็นสัญญารถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง 9 สัญญา วงเงิน 7 หมื่นล้าน พร้อมเปิดให้บริการปี 65 ด้าน “สมคิด” สั่งหน่วยงานคมนาคมจัดลำดับความสำคัญโครงการก่อนหลัง ศึกษาเส้นทางรถไฟเข้าแหล่งชุมชนสรุปภายในปีหน้า

ไทยโพสต์ – เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทผู้รับจ้างที่ผ่านการคัดเลือกด้านราคาทั้ง 9 สัญญาว่า การก่อสร้างรถไฟทางคู่นั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในด้านการขนส่งของไทยในการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนสู่ระบบราง และเพื่อให้เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ เชื่อมต่ออย่างครอบคลุมคล้ายกับการดำเนินการของประเทศญี่ปุ่น โดยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือการก่อสร้างโครงการต่างๆ

นายสมคิดกล่าวว่า ในอนาคต รัฐบาลจึงพิจารณาแนวทางการกระจายความเจริญสู่ชานเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาหลายโครงการมักจะดำเนินโครงการในเขตเมือง จะเน้นความสะดวกของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่อาจจะเกิดปัญหาความแออัดและเกิดปัญหาเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของชุมชนในเขตเมืองและชานเมืองตาม ทั้งนี้ หากภาครัฐมุ่งเน้นหรือส่งเสริมให้สามารถดำเนินโครงการต่างๆ ในเขตชานเมืองได้มากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถลดปัญหาลงได้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้ได้ข้อสรุปภายในปีหน้า

“เมื่อเส้นทางครบ จะสามารถเชื่อมโยงทั้งคนและสินค้า รวมถึงด้านการท่องเที่ยว โดยบทบาทของการรถไฟ จะมีส่วนสำคัญมากในอนาคต ที่ผ่านมาการรถไฟไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญมาก ขณะเดียวกันอะไรที่เอกชนทำได้ ก็ให้เอกชนเข้ามาทำ อันไหนที่เอกชนทำไม่ได้ ก็ถือเป็นภาระของรัฐบาลที่เข้ามาเร่งดำเนินการ ขอให้เอกชนกล้าลงทุน เพราะถ้าคุณไม่กล้า เดี๋ยวมีคนอื่นเข้ามาลงทุนแทนแน่นอน” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวต่ออีกว่า เน้นให้หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟฯ รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือและเครื่องบิน ที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ว่าจะดำเนินการโครงการใดก่อนหลัง พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้การรถไฟฯ วางแผนการปฏิรูปองค์กร โดยเชื่อว่า 4-5 ปีหลังจากนี้จะเห็นสิ่งใหม่ๆ ในวงการคมนาคมอย่างแน่นอน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางนั้น เป็นการต่อยอดความเชื่อมโยง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟ และบริเวณย่านสถานีรถไฟ ทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่และกระตุ้นให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น การเดินทางมีความรวดเร็วปลอดภัย ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น โดยในปี 2561 กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 9 เส้นทางด้วย

“ส่วนระยะเริ่มต้นมีพื้นที่เป้าหมาย ไม่ว่าการเชื่อมโยงรถไฟสายรองระหว่างพื้นที่อีสานเหนือและอีสานใต้ โดยอีสานตอนกลางก็สามารถสร้างโครงข่ายรถไฟสายรองได้ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวบริเวณจังหวัดสุโขทัยก็จะทำให้การเดินทางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวเกิดความสะดวกมากขึ้น” นายอาคม กล่าว

สำหรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่นิยมใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีถนนหลายเส้นทางที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเขตพื้นที่และสามารถเชื่อมโยงได้ทั่วทุกภูมิภาค แต่การขนส่งทางถนนนั้นจะมีต้นทุนการขนส่งที่สูงมากเมื่อเทียบกับการขนส่งทางน้ำและทางราง โดยค่าใช้จ่ายหลักจะมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเมื่อถึงมือผู้บริโภค

ทั้งนี้ ภาครัฐมีแนวนโยบายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาสู่การขนส่งที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า (Modal Shift & Multimodal) โดยทำการปรับปรุง พัฒนาโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถไฟทางเดี่ยวให้เป็นรถไฟทางคู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง เป็นการเตรียมความพร้อมสาหรับการรองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ให้สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางและลดต้นทุน สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านและในระดับภูมิภาคต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการยกระดับหรือเป็นทางลอดกับแนวระดับพื้นถนน จะช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถไฟ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะเป็นการลดอุบัติเหตุจากการข้ามทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการในครั้งนี้ เป็นโครงการในระยะเร่งด่วน (ระยะที่ 1) โดยเป็นการลงนามก่อสร้าง 5 เส้นทาง จำนวน 9 สัญญา ประกอบไปด้วย 1.เส้นทางช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมระยะทาง 702 กิโลเมตร มีมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 69,531 ล้านบาท

“หากดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 7 เส้นทางแล้วเสร็จ รฟท.จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 995 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 24.6% ของเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ จะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม จึงสามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้อีกไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว ซึ่งภายหลังการลงนามแล้ว จะให้ผู้รับเหมาเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2561 ให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2565” นายอานนท์กล่าว

สำหรับรายละเอียดทั้ง 9 สัญญา ประกอบด้วย 1.งานก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 136 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290 ล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้าง

2.เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 168 กิโลเมตร แบ่งเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงประจวบฯ-บางสะพานน้อย วงเงิน 6,465 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร วงเงิน 5,992 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าเคเอส-ซี และกิจการร่วมค้าเอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้าง 3.เส้นทางช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน 8,198 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,520 ล้านบาท โดยบริษัท เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง

4.เส้นทางช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม วงเงิน 10,050 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ วงเงิน 8,649 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า ยูเอ็น- เอสเอช และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง และ 5.เส้นทางช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร วงเงิน 5,807 ล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง.

สำนักข่าววิหคนิวส์