ข่าวประจำวัน » #’อ๋อย-นิพิฏฐ์’โยนหินรบ.2พรรคใหญ่เซ็ตซีโร่ระบบคสช.

#’อ๋อย-นิพิฏฐ์’โยนหินรบ.2พรรคใหญ่เซ็ตซีโร่ระบบคสช.

26 November 2017
436   0

วงเสวนาสับเละปรองดอง”อดุลย์”ชี้คสช.ไม่มีความตั้งใจในการสร้างความปรองดอง ขณะที่”จาตุรนต์-นิพิฏฐ์”โยนหินรบ.2พรรคใหญ่ ดัดหลังรธน.ไม่เป็นธรรมไล่ระบบคสช. ด้าน”ณัฐวุฒิ”เสนอให้สสร.ร่างใหม่แก้ไขคำสั่งฯให้เป็นกฎหมายปกติ

26 พ.ย.60 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนมหกรรมโต๊ะกลมสาธารณะ (ครั้งที่ 2) จัดเสวนา “บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” โดยในภาคบ่ายเป็นการเสวนา เรื่อง ปรองดอง แบบ คสช.เมื่อไรจะเจออุโมงค์ มีผู้ร่วมเสวนา คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนกลุ่ม นปช.

นายอดุลย์ ระบุว่า ตนขอแสดงความเสียใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาเรื่องปรองดองชุดของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งตนร่วมเป็นกรรมการด้วย ที่ให้อัยการสามารถพิจารณายุติคดีที่จะสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ และหลายข้อเสนอที่ส่งไปกลายเป็นอุโมงค์ที่ คสช.หาไม่เจอ ซึ่งหาก คสช.เต็มใจที่จะสร้างความปรองดองก็น่าจะเกิดขึ้นได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีตั้งคำถาม 6 ข้อ ทำให้กลายเป็นคนที่เข้ามาร่วมชกมวยด้วย จึงรู้สึกผิดหวัง เพราะนายกฯ ควรถอยกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องปรองดองเลย

“อยากเตือน คสช.ว่า 3 ปีกว่า ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองรวมทั้งประชาชนยอมสงบนิ่ง ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับแนวทางที่ คสช.ทำ แต่ไม่ต้องการสร้างความปั่นป่วน เพราะเนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองหลายเรื่อง” นายอดุลย์ กล่าว

ด้าน นายจาตุรนต์ เห็นว่า การที่รัฐบาลเชิญฝ่ายๆ ต่างไปหารือโดยอ้างเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น ความจริงเชิญไปเพื่อปิดปากไม่ให้วิจารณ์ คสช.โดยไม่เคยแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลถึงต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง ในขณะที่ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา คสช.ซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการมาตั้งแต่ต้น ยังสะสมเงื่อนไขความวุ่นวายมากขึ้น เพราะต้องการบริหารประเทศยาวนาน และมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ในเรื่องสำคัญ ที่กระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม กดคนเห็นต่างไว้ จะทำให้เกิดปัญหากลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังเป็นผู้ใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง ด้วยการใช้ถ้อยคำเหยียดหยามผู้อื่นเป็นประจำ และเห็นว่ายังมีการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม

“ที่สำคัญคือเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมในหลายเรื่อง เช่น หลังเลือกตั้งอาจได้รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือก แต่ถ้าสองพรรคใหญ่จับมือกันมีโอกาสตั้งรัฐบาลได้แต่ก็อาจอยู่อย่างไม่ราบรื่น เพราะมีเงื่อนไขเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ทำก็อาจถูกถอดถอน อย่างไรก็ตามไม่ควรปิดโอกาสการร่วมมือระหว่างสองพรรคใหญ่ หากไม่ต้องการให้คสช.สืบทอดอำนาจต่อไป 10 ปีหรือ 20 ปี” นายจาตุรนต์ กล่าว

ส่วน นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า คสช.อ้างความขัดแย้งมาเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ จึงควรเร่งสร้างความปรองดองตั้งแต่วินาทีแรก แต่ คสช.กลับมาทำในช่วงสุดท้าย ทำให้สังคมไทยอยู่ในอุโมงค์ที่ไม่เห็นแสงสว่าง และเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้คสช.เป็นผู้นำทางไปสู่แสงสว่าง สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่รัฐบาลกลับพยายามอยู่ให้นานที่สุด โดยไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์แต่กลับเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่ และเปลี่ยนสภาพจากกรรมการมาไล่นักมวยลงจากเวทีแล้วเอาถ้วยรางวัลมาเป็นของตัวเอง ทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นยาก

“อีกทั้งเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญก็ไม่เอื้อต่อความปรองดอง เพราะไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ หาก ส.ว.250 คนไม่เอาด้วย เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ คสช.ก็อาจใช้เป็นเหตุผลอยู่ต่อ จึงอาจเกิดสภาพที่นักมวยหันมาจับมือกันไล่ถลุงกรรมการ เพื่อเปลี่ยนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และเอาระบบที่ไม่พึงปรารถนาออกไป เซ็ตซีโร่ระบบคสช. ด้วยการที่พรรคการเมืองทุกพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล แทนที่จะสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง แม้ว่าโอกาสจะน้อยก็ตาม โดยเห็นว่าเราคุยกันด้วยเลือดและชีวิตพอแล้ว ต้องหันมาใช้สันติวิธี” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ระบุว่า ไม่ตั้งความหวังว่าคสช.จะสร้างความปรองดอง แม้แต่ในร่างสัญญาประชาคมก็เป็นเหมือนคำขวัญไม่มีรูปธรรมในการแก้ปัญหา ในทางกลับกันผู้มีอำนาจก็ยังมีทัศนะเหมือนเดิม และเห็นว่าคำว่าปรองดองกลายเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจเข้ามาต้องพูดแต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะทำ ขณะเดียวกันกติกาใหม่ก็ไม่เอื้อให้เกิดการปรองดองแต่จะสร้างความขัดแย้งใหม่ โดยเฉพาะความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จึงขอเสนอว่าต้องให้ประชาชนเลือก สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และลงประชามติ และต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาคำสั่ง คสช.เพื่อยกเลิกหรือแปรสภาพให้เป็นกฎหมายปกติ

Cr. Naewna

สำนักข่าววิหคนิวส์