เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #’สังศิต’ร่วม สตง.ป.ป.ช. ป.ป.ท. !ลงพื้นที่ศึกษา นวัตกรรม’ ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์’ เห็นพ้องประชาชนได้ ประโยชน์’

#’สังศิต’ร่วม สตง.ป.ป.ช. ป.ป.ท. !ลงพื้นที่ศึกษา นวัตกรรม’ ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์’ เห็นพ้องประชาชนได้ ประโยชน์’

22 August 2022
294   0

 

‘ สตง. ป.ป.ช, ปปท ‘ OK !
เห็นกับตา ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ประโยชน์คุ้ม

‘สังศิต’ร่วม สตง.ป.ป.ช. ป.ป.ท. สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางลงพื้นที่ศึกษา นวัตกรรม’ ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์’ เห็นพ้องประชาชนได้ ประโยชน์’

‘ฝายแกนดินซีเมนต์ที่บ้านแม่หล่ายหมู่ 4 ใช้งบก่อสร้าง เพียง 360,000 บาท แต่สร้างรายได้ถึง 85,050,000 บาท เพียงหนึ่งฤดูเก็บเกี่ยว!!’

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ได้จัดการเสวนา เรื่อง “การกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ” ณ ห้องอาชาพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยนวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์

หลังจากการลงทะเบียนเข้าร่วมการเสวนาในช่วงเวลา 08.00 – 8.30 นาฬิกา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมการ คนที่สาม นางสาวภัทรา วรามิตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะ ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้นำผู้เข้าร่วมการเสวนาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมที่ดิน กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งผู้แทนของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง จังหวัดสุโขทัย เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ในสองพื้นที่ดังนี้

1. บ้านแม่หล่ายหมู่ 4 ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่ เป็นฝายที่กั้นลำน้ำแม่หล่ายซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำยม ฝายมีความยาว 60 เมตร สันฝายกว้าง 4 เมตร มีความสูง 2 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 16 วัน โดยใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 360,000 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรกรรม 15,000 ไร่

นอกจากมีน้ำในลำน้ำให้นำไปใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคแล้วปริมาณน้ำใต้ดิน ยังยกระดับสูงขึ้นมากประมาณ 40 เมตร
(โดยใช้เครื่องวัดระดับความสูงของน้ำใต้ดิน)

2. บ้านบุญเจริญ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 6 ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่ เป็นฝ่ายที่มีความยาวประมาณ 60 เมตร สันฝายกว้าง 4 เมตร มีความสูง 2 เมตรใช้งบประมาณและ ระยะเวลาในการก่อสร้างใกล้เคียงกับฝายที่บ้านแม่หล่าย จะเห็นได้ว่าฝายทั้งสองใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่มาก แต่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ซึ่งผู้นำในท้องถิ่นได้ให้ข้อมูลว่า เดิมลำน้ำแม่หล่ายไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ เมื่อมีการก่อสร้างฝาย ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เช่นประปาหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งอาหาร เพราะมีปลาในลำน้ำ และยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งแสดงความเชื่อมั่นว่าในหน้าแล้งปีหน้า คนในหมู่บ้านจะมีงาน เกษตรทำและจะไม่ออกไปเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเมืองอีกต่อไป

จากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางกลับเข้ามาร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน ณ ห้องอาชาพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้กล่าว ต้อนรับและกล่าวขอบคุณผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ นวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ นับว่าเป็นนวัตกรรมและความรู้ใหม่ในสังคมไทย ซึ่งจังหวัดแพร่นับว่าเป็นต้นแบบ จึงได้มีการจัดเสวนาเชิญหน่วยงานตรวจสอบและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสวนาและลงพื้นที่ศึกษาดูงานเพื่อให้เห็นฝายจริง ได้พบปะพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ดำเนินการสร้างฝายและประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายดังกล่าว เพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญและมีความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน เพราะฝ่ายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์นั้น เป็นฝ่ายที่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างน้อย สร้างเสร็จได้อย่างรวดเร็วและใช้ประโยชน์ได้ทันที

งานที่สำคัญเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการ คือการส่งเสริมให้เกิดแหล่งน้ำขนาดเล็กที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ แนวทางในการของบประมาณจากแหล่งงบประมาณต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการเขียนโครงการ นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการยังได้ทำความเข้าใจและแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารจังหวัดแพร่ ได้กล่าวว่า จากการเดินทางไปศึกษาดูงานฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในลำน้ำชี จังหวัดชัยภูมิ แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงนำมาทดลองสร้างที่ตำบลทุ่งแค้ว อำเภอหนองม่วงไข่ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมากเนื่องจาก

1. ประหยัดงบประมาณ
2. สร้างได้อย่างรวดเร็ว
3. ใช้วัสดุในพื้นที่คือใช้ปูนซีเมนต์และดินในอัตราส่วน 1 : 10 – 30
4. เห็นผลในทันทีเพราะ น้ำซึมลงดินและริมตลิ่งทั้งสองฝั่ง ทำให้เกิดความชุ่มชื้น และยกระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น ทำให้มีน้ำในการทำการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

นายอนุวัธ เสนอความเห็นน่าสนใจอีกว่า ในฐานะ อปท. ผู้สร้างฝายได้กล่าวว่า ถ้าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ และมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน การดำเนินการต่าง ๆ ก็จะมีความสะดวกมากขึ้น และถ้ามีรูปแบบและวิธีการการเขียนโครงการที่มีความชัดเจนและหลากหลาย ฝ่ายตรวจสอบก็จะทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น บางพื้นที่อาจใช้ผู้รับเหมาในการดำเนินการทั้งหมด และดินในแต่ละพื้นที่มีสภาพแตกต่างกัน การผสมปูนซีเมนต์กับดินก็จะมีปริมาณที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งสภาพ ความลาดชันของลำน้ำ ความแรงของน้ำ ความลาดชันของตลิ่ง มีความแตกต่างกัน รายละเอียดในการก่อสร้างและงบประมาณที่ใช้ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป

ถ้าหน่วยตรวจสอบและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจถึงความจำเป็นและข้อจำกัดต่าง ๆ จะทำให้ทั้งฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายตรวจสอบทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม ได้กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีคูน้ำรอบเมืองที่เรียกว่า “ละลม” และแอ่งน้ำบ่อน้ำต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ตะพัง” และน้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกร จากการไปดูฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในลำน้ำชีที่จังหวัดชัยภูมิ ทำให้เห็นว่าถ้าสร้างฝายขนาดเดียวกันและได้ประโยชน์เท่ากัน แต่ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์สามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 10 เท่า และฝ่ายที่ลำน้ำแม่หล่าย มีน้ำเอ่อขึ้นไปยาวถึง 8 กิโลเมตร

เมื่อปี 2554 กรมชลประทานได้ส่งการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่ไปประกวดได้ที่ 1 ระดับโลก ซึ่งเป็นการสร้างฝายชั่วคราวจากถุงทราย ทั้งหมด 10 ฝายใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท แต่ใช้ได้เพียงปีเดียว ถุงทรายก็ถูกน้ำพัดหายไป ในส่วนของพื้นที่ชลประทานในประเทศไทยที่ดำเนินการมากว่า 60 ปี มีพื้นที่ชลประทานเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น

การเสวนาในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำฝาย คนที่ได้ประโยชน์ หน่วยตรวจสอบ และคนที่คิดจะสร้างฝายว่ามีข้อกังวลหรือประเด็นปัญหาอย่างไรบ้าง

นายสุภวัฒน์ ศุภศิริ นายกเทศมนตรีตำบลป่าแมต ได้กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ว่า การสร้างฝายทำให้มีน้ำเอ่อขึ้นไปยาวถึง 2 กิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 12 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 14 ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่า 3,000 ไร่ ได้มีน้ำใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เช่น การทำประปาหมู่บ้าน สถานีสูบน้ำมีระดับน้ำสูงเพียงพอให้สูบน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ก็ประหยัดต้นทุนในการสูบน้ำและมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

นาวาอากาศเอกณัฐพงศ์ คชเสนี นายกเทศมนตรีตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้าน โฮ่งจังหวัดลำพูน ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ และยังช่วยลดความรุนแรงของมวลน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการของบประมาณเพื่อก่อสร้างฝายดังกล่าวในลำดับต้น ๆ และในขณะนี้ ปัญหาในเรื่องการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าและหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้รับการคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว
ส่วนทางด้านผู้แทนหน่วยตรวจสอบได้ให้ความเห็นในภาพรวมว่า เห็นด้วยกับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ จากการสร้างฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ และมีข้อพึงระวังและข้อเสนอแนะดังนี้

1. ต้องให้ความสำคัญกับการทำประชาคม และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

2. ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาตการก่อสร้างจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

3. การก่อสร้างต้องเป็นไปตามรูปแบบที่ขออนุมัติ

4. ให้ระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

5. การกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการต้องมีระยะเวลาที่เพียงพอเพื่อทำให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ

6. ควรให้มีการตรวจเยี่ยมก่อนที่จะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในขณะที่ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด

จากการจัดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว ได้เห็นความตั้งใจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ทำให้มีความหวังว่า แนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยนวัตกรรมฝ่ายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ จะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นเป็นที่แพร่หลายต่อไป

ผู้แทนของสำนักงบประมาณได้กล่าวว่าเมื่อได้เห็นฝายแม่หล่าย และได้เห็นงบประมาณการก่อสร้าง ประสิทธิภาพและประสิทธิผลแล้วเห็นว่าคุ้มค่ากับการก่อสร้างจริง จึงขอสนับสนุนโครงการนี้เพราะจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ให้ความเห็นในเวลาต่อมาว่า ‘ ฝายแกนดินซีเมนต์’ที่ บ้านแม่หล่ายหมู่ 4 ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่ ใช้งบก่อสร้าง 360,000 บาท พื้นที่เกษตรได้ประโยชน์ 15,000 ไร่ จะสร้างมูลค่าทางทางเศรษฐกิจได้ถึง
85,050,000 บาท !

คิดได้ดังนี้ ‘พื้นที่ได้ประโยชน์จากฝายแกนดินซีเมนต์15,000 ไร่ ผลิตข้าวได้ 8,505,000 กิโลกรัม หรือ 8,505 ตัน ( ข้าวพันธุ์ กข.5 เก็บเกี่ยวได้ 567 กิโลต่อไร่ // กรมการข้าว) ..

คิดราคา ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ตามราคาประกันรายได้ข้าว 2564/65 ฝายแกนดินซีเมนต์ที่บ้านแม่หล่ายหมู่ 4 ใช้งบก่อสร้าง เพียง 360,000 บาท สร้างรายได้ถึง 85,050,000 บาท เพียงหนึ่งฤดูเก็บเกี่ยว เท่านั้น !!มากกว่าราคาฝายกว่า 200 เท่า หากทำนาปีละ 2-3 ครั้ง ความคุ้มค่ายิ่งมากขึ้น !! และขอให้พี่น้องเกษตรกรจังหวัดแพร่ช่วยกันทำเกษตรอินทรีย์ ต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสภาพพื้นดินและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำลายสุขภาพของตัวเองและของผู้บริโภค

 

ขอบคุณครับ… จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ ปัญหาความยากจนและลดความ เหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

22 สิงหาคม 2565