เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #รัสเซียไม่สนสหรัฐขู่ ! คว่ำบาตร ปูติน ยันไม่ส่งผลกระทบอะไร

#รัสเซียไม่สนสหรัฐขู่ ! คว่ำบาตร ปูติน ยันไม่ส่งผลกระทบอะไร

27 January 2022
291   0


.
รัสเซียออกโรงเตือนในวันพุธ (26 มกราคม) ว่า การคว่ำบาตรประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นการส่วนตัว จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้นำรัสเซีย แต่จะ “เป็นการทำลายทางการเมือง” หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ขู่ว่าอาจพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวหากรัสเซียบุกยูเครน
.
ไบเดนกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า การเจาะจงคว่ำบาตรปูติน ซึ่งเป็นมาตรการที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามร่วมกันของวอชิงตันและชาติพันธมิตรที่จะโน้มน้าวให้มอสโกตระหนักว่า การรุกรานครั้งใหม่ต่อยูเครนจะนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล
.
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า สมาชิกสภาคองเกรสและวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ที่กำลังหารือเรื่องการคว่ำบาตรส่วนตัวต่อผู้นำระดับสูงของรัสเซียนั้น ล้วนแล้วแต่ไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้นำของรัสเซียถือครองทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ และบัญชีธนาคารในต่างประเทศอยู่แล้ว
.
เปสคอฟกล่าวว่า การคว่ำบาตรปูตินจะไม่สร้างความเสียหายต่อผู้นำรัสเซียเป็นการส่วนตัว แต่จะเป็นการทำลายทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้โฆษกเครมลินได้เผยว่าเตรียมที่จะตัดความสัมพันธ์ทางการทูต
.
ทั้งนี้ในขณะที่เจ้าหน้าจากฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และยูเครน ได้เริ่มเปิดฉากการเจรจา 4 ฝ่ายในกรุงปารีส รัสเซียก็ได้จัดการซ้อมรบครั้งใหม่ทั้งบนบกและในทะเล ตลอดจนเคลื่อนพลร่มและเครื่องบินขับไล่ไปยังเบลารุส ทางเหนือของยูเครน ซึ่งรัสเซียให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมการซ้อมรบร่วมกับเบลารุสในเดือนหน้า
.
ยูเครนระบุว่า รัสเซียซึ่งรวบรวมกำลังทหารหลายหมื่นนายใกล้ชายแดน แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนจะบุกรุกนั้น กำลังพยายามสร้างความตื่นตระหนก โดย ดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า แม้มอสโกยังไม่ได้รวบรวมกำลังเพียงพอสำหรับการโจมตีขนาดใหญ่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะไม่สามารถทำได้ในภายหลัง
.
เกือบ 8 ปีหลังจากที่รัสเซียยึดไครเมียและสนับสนุนการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาสส์ทางตะวันออกของยูเครน ยูเครนก็ได้กลายเป็นจุดเผชิญหน้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกที่อาจอันตรายที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
.
รัสเซียกล่าวว่า วิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เกิดจากการกระทำของ NATO และสหรัฐฯ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติตะวันตกรับประกันความมั่นคงของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงคำสัญญาของ NATO ที่จะไม่ยอมรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากมอสโกมองว่ายูเครนเป็นกันชนระหว่างรัสเซียกับ NATO
.
สหรัฐฯ ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเจรจาหารือกับพันธมิตรยุโรปเกี่ยวกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงหากรัสเซียโจมตียูเครน แต่ภารกิจดังกล่าวมีความซับซ้อน เนื่องจากบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย อีกทั้งการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
.
บรรดาบริษัทชั้นนำของอิตาลี ซึ่งรวมถึง เอเนล ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ธนาคารยูนิเครดิต และบริษัทประกันภัย เจนเนอราลี่ เดินหน้าจัดการประชุมทางวิดีโอกับปูตินในวันพุธ แม้รัฐบาลอิตาลีร้องขอไม่ให้เข้าร่วมก็ตาม
.
“ผมต้องการเน้นย้ำว่าอิตาลีเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางเศรษฐกิจชั้นนำของเรา” ปูตินกล่าว พร้อมยกย่องความร่วมมือกับบริษัทและธนาคารอิตาลีในโครงการพลังงานที่สำคัญๆ
.
สหภาพยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียถึงราว 1 ใน 3 ของความต้องการทั้งหมด การระงับนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจะทำให้วิกฤตการณ์ขาดแคลนพลังงานที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
.
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เดินหน้าเจรจากับประเทศผู้ผลิตและบริษัทพลังงานรายใหญ่ทั่วโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนเส้นทางการจัดส่งพลังงานไปยังยุโรป หากรัสเซียรุกรานยูเครน
.