ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #คะแนนนิยมลดฮวบ ! เพื่อไทย -ก้าวไกล หนุนม๊อบ

#คะแนนนิยมลดฮวบ ! เพื่อไทย -ก้าวไกล หนุนม๊อบ

11 October 2020
853   0

   วันที่ 11 ตุลาคม 2563 นายนพล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาพคสนาม เรื่องการเมืองใหม่ หรือ เก่าสาดสี ด้วยการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 5,260 ตัวอย่าง ระหว่าง1 มิถุนายน –วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เมื่อถามถึง การเมืองของพรรคการเมืองต่าง ๆ วันนี้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุเป็นการเมืองเก่า เพราะ นำมวลชนลงถนน เคลื่อนไหวนอกสภา สนับสนุนกลุ่มจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ สาดสี เสียดสี พ่นสี จ้องโค่นล้มรัฐบาล ไม่สนใจ ว่าจะซ้ำเติมวิกฤตชาติและทุกข์ยากของประชาชน ขอให้พรรคพวกตนขึ้นมีอำนาจ ปล่อยต่างชาติเข้าแทรกแซงสั่นคลอนประเทศ ยังไม่มีผลงานแต่จะเข้ามาทำงาน กลุ่มการเมืองระดมทุนบริจาคจากประชาชนไปช่วยเหยื่อโควิดแต่เอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟกักเก็บไว้จ่ายประชาชนไม่หมด ยังเห็นการทำงานการเมืองแบบเดิม ๆ ในขณะที่ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นการเมืองใหม่ เพราะ มีคนรุ่นใหม่ นโยบายใหม่ มาตรการใหม่ สถานการณ์ใหม่ช่วงโควิด-19 มีประเด็นใหม่ ใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียทำงานการเมือง เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้ม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ต้นเดือนตุลาคม 2563 ต่อพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกตั้ง ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า ในเดือนมิถุนายน พรรคอันดับหนึ่งได้แก่ พรรค ก้าวไกล (อนาคตใหม่เดิม) ร้อยละ 11.7 และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 13.0 แต่ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ปลายเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ตั้งใจจะเลือกพรรคก้าวไกล หรือ อนาคตใหม่เดิม ร่วงหล่นลงมาตามลำดับจากร้อยละ 13.0 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ในต้นเดือนกันยายน ร้อยละ 2.4 ในปลายเดือนกันยายน และร้อยละ 1.2 ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในขณะที่พรรคเพื่อไทย ช่วงเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 10.8 เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต้นเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ปลายกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 2.3 แต่ ต้นตุลาคมขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9

ที่น่าสนใจคือ พรรคพลังประชารัฐ ช่วงเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 9.4 กรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ต้นกันยายน (ช่วงถูกอภิปราย) กลับสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.8 แต่ปลายกันยายนตกหล่นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 แต่ต้นตุลาคมขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ส่วนพรรคอื่น ๆ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน อื่น ๆ สัดส่วนไม่แตกต่างกันนักในแต่ละช่วงเดือนที่ทำการสำรวจ อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ทุกช่วงเวลาสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ต้องการพรรคการเมืองใหม่แท้จริง ไม่เป็นต้นตอของความขัดแย้งของคนในชาติ ไม่ล่วงละเมิดร่วมมือกับต่างชาติสั่นคลอนสถาบัน เสาหลักของชาติ ซื่อสัตย์ไม่แย่งตำแหน่ง ทรยศหักหลังกัน มีผลงานช่วยเหลือประชาชนได้จริง และอื่น ๆ คือสัดส่วนเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 57.0 เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 59.6 ต้นกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 62.9 ปลายกันยายน พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 84.0 และต้นตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 81.9

ความเป็นจริงในโลกโซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 ใช้อินเทอร์เน็ต ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 17.2 ไม่ได้ใช้ และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ไม่ใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) ทวีต รีทวีต เรื่องการเมืองเลย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 5.7 เท่านั้นที่ใช้ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ไม่เคยใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) โพสต์ แชร์ เรื่องการเมืองเลย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 5.3 เท่านั้นที่ทำ ยิ่งไปกว่านั้นอีก ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.0 ไม่เคยใช้ อินสตาแกรม (IG) โพสต์อะไรเรื่องการเมืองเลย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ทำ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 ระบุ ถือว่าเป็นการแทรกแซงประเทศไทยที่มีการออกมาเคลื่อนไหวของ บริษัทโซเชียลมีเดียข้ามชาติ บางบริษัท เรื่องการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองต่างชาติบางประเทศ กับการแทรกแซงการเมืองและเรื่องละเอียดอ่อนกระทบจิตใจของคนไทย ในขณะที่ ร้อยละ 16.0 ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.8 ระบุ น่ารังเกียจ ที่มีการออกมาเคลื่อนไหวของ บริษัทโซเชียลมีเดียข้ามชาติ บางบริษัท เรื่องการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองต่างชาติบางประเทศ กับการแทรกแซงการเมืองและเรื่องละเอียดอ่อนกระทบจิตใจของคนไทย