ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #คสรท. เล็งยื่นทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ย้ำจุดยืนจะต้องเท่ากันทั่วประเทศ

#คสรท. เล็งยื่นทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ย้ำจุดยืนจะต้องเท่ากันทั่วประเทศ

19 January 2018
610   0

เครือข่ายแรงงานไม่พอใจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เล็งยื่นทบทวนใหม่ ย้ำ จุดยืนต้องเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งข้อสังเกตบางพื้นที่ขึ้นค่าจ้างไม่เหมาะสม ด้านปลัดแรงงานยันไม่มีทบทวนใหม่ ฝ่ายนายจ้างห่วงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี เชื่อคนไทยค่าจ้างเกินค่าแรงขั้นต่ำ มองเป็นการช่วยต่างด้าวมากกว่า

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ อัตรา 5 – 22 บาท พร้อมเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า

(18 ม.ค.) นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างก็ยังดีกว่าไม่ขึ้น แต่ยังไม่ตอบโจทย์ที่เรียกร้องคือขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งยังยืนยันในจุดนี้ ส่วนตัวเลข 5 – 22 บาท ก็น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ความแตกต่างกันเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ ยังมีข้อสังเกตหลายอย่างที่กรรมการค่าจ้างน่าจะต้องออกมาชี้แจงว่าพิจารณาอย่างไร ยกตัวอย่าง เศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ตอนนี้ไม่แพงสุดแล้วหรือ ถึงได้ปรับขึ้นค่าจ้างต่ำกว่าภูเก็ต ชลบุรี และ ระยอง หรือจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้กันกลับได้รับการขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ติดกัน แต่ค่าจ้างไม่เท่ากัน มีปัญหาหรือไม่ หรืออย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ 308 บาท เหตุใดจึงได้น้อยกว่า ซึ่งถ้ามองถึงเศรษฐกิจ ค่อนข้างอ่อนไหวในหลายเรื่องทั้งการเมืองและความรุนแรง ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำค่าจ้างแล้วใครจะไปอยู่ตรงนั้น เป็นต้น

นายชาลี กล่าวว่า ปัญหาของการขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากันทุกจังหวัด ทำให้เกิดปัญหากระจุกตัว ไม่กระจายไปที่ค่าจ้างน้อย ทำให้เศรษฐกิจประเทศเจริญไม่ทั่วทุกจังหวัด เงินไม่หมุนเวียน การเก็บภาษีภายในจังหวัดได้น้อย การพัฒนาของจังหวัดไม่เท่ากัน แล้วยังสังเกตอีกว่าทำไมต้องให้มีผล 1 เม.ย. เท่ากับว่า ทำให้พ่อค่าแม่ค้าราคาของต่างๆ ขึ้นไปรอ ลูกจ้างไม่ได้อะไรอีกตามเคย ต่อไปนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ส่วนเรื่องการประกาศโครงสร้างเงินค่าจ้างก็ถือว่าการเรียกร้องเราประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง แต่ทำไมต้องเริ่มแค่สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป เราอยากให้ทำพร้อมกันทั้งหมดไม่ว่าลูกจ้างกี่คน

“ปัญหาทั้งหมดนี้ คสรท. จะมีการคุยกันในวันที่ 22 ม.ค. แล้วคงมีการเคลื่อนไหวอะไรออกไป ส่วนตัวอยากให้ทบทวนใหม่ ซึ่งก็ได้ยินว่าฝ่ายผู้ประกอบการเองก็ไม่พอใจเตรียมยื่นหนังสือขอให้มีการทบทวนเหมือนกัน” นายชาลี กล่าว

น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. กล่าวว่า มองว่า การขึ้นค่าจ้างดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ ทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้อีก 2 คน แรงงานจึงจะอยู่ได้ จริงๆ ถ้าปรับ 330 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ยังจะเป็นตัวเลขที่ยังรับได้ ทำให้ทางกลุ่มเห็นว่าต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้าง ประจำปี 2561 ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่านั้น เดิมทีกลุ่มนายทุนและบริษัทรายใหญ่ รัฐบาลได้มีนโยบายมากมายในการอุ้มกลุ่มทุนนี้อยู่แล้ว และกลุ่มนายทุนต่างได้รับมาตรการลดหย่อนภาษีมาตลอด โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่มีจำนวนมากในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแน่นอน เพราะไปกระตุ้นให้รายจ่ายต้นทุนการผลิตมากขึ้น ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือใด จึงอยากให้กระทรวงแรงงานช่วยทบทวนมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีด้วยเช่นกัน

ด้าน นายปัณณพงษ์ อิทธิ์อรรถนนท์ ประธานสมาคมนายจ้างพิทักษ์ทรัพย์ผู้ประกอบการค้าไทย ในฐานะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เมื่อมติการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับในมติ จะมาบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจคงไม่ได้ เพราะเป็นมติเอกฉันท์โดยเฉพาะจากทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง แต่อาจจะมีได้ที่ตัวแทนลูกจ้างเห็นว่าได้น้อยไปหรือนายจ้างเห็นว่าเพิ่มมากไปก็อาจยื่นให้ทบทวน แต่เชื่อว่าอาจจะเป็นการยื่นทบทวนในระดับของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างก็พิจารณาจากข้อมูลของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

เมื่อถามถึงกรณีเครือข่ายแรงงานมองว่า การขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากันทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของแรงงาน นายปัณณพงษ์ กล่าวว่า ต้องมองไปที่จุดเริ่มต้น ก่อนที่จะปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ก็ไม่เท่ากันอยู่แล้วใช่หรือไม่ จริงๆ มองว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราแรกเริ่มเข้าทำงาน ซึ่งเมื่อเข้าไปทำงานแล้ว ผ่านการทดลองงาน ก็อยู่ที่ผู้ประกอบการจะดูแลอย่างไร ขึ้นเงินให้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าค่าจ้างคนไทยในตอนนี้ก็เลยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว ตนมองว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นอานิสงส์ให้แก่แรงงานต่างด้าวมากกว่าที่จะกังวลว่าแรงงานจะไหลไปพื้นที่ใด เพราะอย่างที่บอกว่าขึ้นกับนายจ้างว่าจะดูแลลูกจ้างอย่างไรให้อยู่ดี ทั้งนี้ สิ่งที่ควรจับตามากกว่า คือ มาตรการช่วยเหลือต่างๆ หลังขึ้นค่าจ้างไปแล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องของการลดหย่อนภาษี หรือมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่างๆ

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้นำผลพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำเสนอต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานแล้ว เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งต่อไป ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า อัตราดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสม และยืนยันว่าจะไม่มีการทบทวนอีก เพราะถือเป็นฉันทามติร่วมกันจากทุกฝ่าย ส่วนข้อท้วงติงจากกลุ่มแรงงานว่า อัตรา 308 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมาะสมนั้น ในที่ประชุมรับฟังหลักเกณฑ์จากทุกภาคส่วน ได้มีข้อเสนอและความคิดเห็นอย่างหลากหลาย จนท้ายสุดที่ประชุมมีมติยืนยันปรับตัวเลขในอัตราดังกล่าว สำหรับหลักเกณฑ์ได้ใช้สูตรคำนวณจากตัวชี้วัดทางปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ อัตราจ่างที่ลูกจ้างได้รับ ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ โดยลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและสามารถอยู่ได้ และต้องสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นายจรินทร์ กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ประชุมขอให้ค่าจ้างอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากเป็นข้อตกในที่ประชุม โดยสาเหตุดังต่อไปนี้ 1. หลังมีมติและข้อสรุปการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 แล้ว จำเป็นต้องนำมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนด อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถใช้ค่าจ้างแรงงานลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า เสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนนี้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2. ในเรื่องประกันสังคมจำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เพื่อดำเนินการ และ 3. ต้องให้เวลานายจ้างหรือผู้ประกอบการได้มีเวลาเตรียมตัว เพื่อดำเนินการปรับคาจ้างอัตราใหม่ ทั้งหมดจึงมีผลบังคับใช้ในวันดังกล่าว

Cr.mgronline

สำนักข่าววิหคนิวส์