ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #กรรมาธิการแก้จน ! วุฒิสภาหารือผู้ว่าราชการจ.ศรีสะเกษ

#กรรมาธิการแก้จน ! วุฒิสภาหารือผู้ว่าราชการจ.ศรีสะเกษ

7 October 2021
368   0

 

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภาหารือผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ 2-4 ตุลาคม 2564

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม 2564 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล และนายอนุรักษ์ ธรรมประจำจิต และ หัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดศรีสะเกษในประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

หลังจากที่ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวต้อนรับและมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรายงานต่อประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแล้ว

ประธานคณะกรรมาธิการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ได้กล่าวขอบคุณรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการทุกคนที่กรุณาเสียสละเวลาอันมีค่ามาร่วมประชุมในวันหยุด นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวว่าจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดแรกที่ได้เชิญสถาบันการศึกษาคือมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษให้เข้าร่วมในการเสนอรายงานเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้ให้คุณค่าและความสำคัญของความรู้จากสถาบันระดับอุดมศึกษาของจังหวัดเป็นอย่างยิ่ง

ประธานคณะกรรมาธิการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของแนวคิดแก้จนลดเหลื่อมล้ำ และภารกิจเฉพาะหน้าว่า การเผยแพร่ความรู้เรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กและการส่งเสริมให้มีการนำความรู้ใหม่ไปทดลองทำและนำไปปฏิบัติให้เห็นจริง เป็นภารกิจใจกลางของกรรมาธิการคณะนี้

นายสังศิต กล่าวว่าในบรรดาปัจจัยการผลิตทางด้านการเกษตร น้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร เขาชี้ให้เห็นว่าหากไม่มีน้ำเกษตรกรก็ไม่มีโอกาสในชีวิต และเกษตรกรก็จะไม่มีอนาคตด้วยเช่นกัน

เขากล่าวว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ เรามีน้ำฝนมากเกินพอแต่คนไทยไม่ได้เรียนรู้วิธีการเก็บกักน้ำฝนอย่างมีประสิทธิภาพและนำมันมาใช้อย่างมีประสิทธิผลในหน้าแล้ง

ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ของโลกที่มีปริมาณน้ำฝนตกชุกมากที่สุดในโลก คือมีปริมาณฝนตกเฉลี่ย 770,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เรามีความสามารถที่จะเก็บกักน้ำฝนได้ประมาณ 5% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกมาทั้งหมดในแต่ละปี

ในช่วงประมาณ 60 ปีที่ผ่านมาเราสามารถสร้างระบบชลประทานได้ราว 22% ของพื้นที่การเกษตรในประเทศ นั่นหมายความว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องพึ่งพาแต่น้ำฝนในการทำการเกษตร พื้นที่นอกเขตชลประทาน นี้คิดเป็น 78% ของพื้นที่การเกษตรทั้ง ประเทศ

นายสังศิต กล่าวว่าความรู้ที่เราใช้ในการจัดการเรื่องน้ำ ในปัจจุบันเป็นความรู้ชุดเก่า ที่ต้องการควบคุมธรรมชาติ การควบคุมธรรมชาติเป็นวลีที่เกิดจากความอหังการ์ เป็นผลผลิตทางชีววิทยา และปรัชญาโบราณ ที่ตีขลุมว่า ธรรมชาติมีไว้เพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์ ปรัชญาโบราณของมนุษย์ หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ( industrial revolution ) คือต้องการเอาชนะธรรมชาติด้วยการใช้การสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ในการเก็บกักน้ำจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ในการเกษตรยุคใหม่

นายสังศิตกล่าวว่า ความรู้ชุดหนึ่งที่แก้ปัญหาได้อย่างดีนั้นเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป เราจึงจำเป็นต้องมี และจำเป็นต้องสร้างความรู้ชุดใหม่ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของยุคสมัยขึ้นมาเพื่อ แทนที่ความรู้และความจริงชุดเดิม ประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการความเจริญของมนุษย์ก็เป็นเช่นนี้ตลอดมา ไม่มีความรู้และความจริงใดที่ยืนยงอยู่ได้ตลอดกาล ความรู้ชุดหนึ่งของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยนั้นเป็นอนิจจัง และไม่มีความเที่ยงแท้เสมอไป มันเกิดขึ้น แล้วค่อยๆเสื่อม และหายไปในที่สุด แต่ความรู้ชุดเดิมของมนุษย์ไม่ได้หายไปเอง หากมันไม่ผนวกตัวของมันเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ความรู้ชุดใหม่ มันก็จะถูกแทนที่ด้วยความรู้ชุดใหม่เสมอไป

เขื่อนเป็นความรู้ (knowledge) และเป็นความจริง (truth) ( ความจริงเป็นสถานการณ์ที่ความรู้ชุดหนึ่งสามารถเบียดขับและเอาชนะชุดความรู้อื่นๆที่เหลือในสังคม จนกระทั่งอยู่ในสถานะที่ครอบงำ ( domination หรือ hegemony) ทั่วทั้งสังคม ได้สำเร็จ ) ที่กำลังจะค่อยๆพ้นยุคสมัยของตัวเอง ( ดัง จะได้เห็นจากการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศให้ทำลายเขื่อนในประเทศจำนวน 40,000 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ) เพราะมันไม่สามารถตอบโจทย์ของสังคมปัจจุบันได้ดีเหมือนกับในอดีตอีกต่อไป เช่น การก่อสร้างใช้งบประมาณสูง ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างค่อนข้างนานหลายปี มีประชาชนต่อต้านการสร้างเขื่อนอยู่ทั่วไป เพราะมีผลกระทบด้านลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น การถูกบังคับให้ต้องอพยพออกจากพื้นที่ การสูญเสียโอกาสในชีวิต (life chance) สูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน สูญเสียอาชีพ และยังมีผลต่อการทำลายสภาพแวดล้อมโดยรวมของสังคมอีกด้วย

นายสังศิตกล่าวว่า ความรู้ชุดใหม่ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรในประเทศไทย เป็นวิธีคิดแบบใหม่เกี่ยวกับโลก ในศตวรรษที่ 20 ที่มนุษย์ต้องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติ ความรู้ชุดใหม่นี้เป็นศาสตร์ใหม่ และเป็นปรัชญาใหม่

โดยหลักการ พื้นฐานของชุดความรู้ใหม่นี้ควรจะเป็นโครงการที่มีขนาดเล็ก ราคาประหยัด สามารถใช้วัตถุดิบหรือวัสดุในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี ใช้เวลาในการก่อสร้างสั้น และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมทั้งเกษตรกรสามารถใช้และควบคุมเทคโนโลยีประเภทนี้ได้ด้วยตนเอง

นายสังศิตกล่าวว่า ความรู้ใหม่ที่กรรมาธิการแก้จนลดเหลื่อมล้ำได้นำเสนอ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างมีประสิทธิผล และเกษตรกรสามารถ ที่จะมีน้ำใช้ได้ตลอดปีมีหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น การทำฝายแกนซอยซิเมนต์หรือฝายแกนดินซีเมนต์ การขุดร่องดินเติมน้ำ การทำธนาคารน้ำใต้ดิน และการใช้โซล่าเซลล์ดึงน้ำจากบ่อบาดาลน้ำตื้นและน้ำลึก เป็นต้น

นายสังศิตกล่าวว่า นวัตกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เรียกว่าฝายแกนดินซีเมนต์สามารถจัดการปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรในแต่ละครัวเรือน แต่ละชุมชน แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด หรือหลายๆ จังหวัด หรือเป็นระดับภาค รวมทั้งยังมีศักยภาพในการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งของ 22 ลุ่มน้ำของประเทศไทยได้ นั่นก็คือ นวัตกรรมแบบนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำของเกษตรกรและของประเทศไทยได้ ทั้งในระดับจุลภาค (micro) และในระดับมหภาค (macro) ได้ด้วย

นายสังศิต กล่าวว่าความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีพอใช้ได้ตลอดทั้งปี ทั้งในการผลิต พืชผลการเกษตร การอุปโภคและบริโภค ที่ถูกนำเสนอขึ้นในวันนี้ มิใช่เป็นแนวคิดหรือทฤษฎีลอยๆ หากแต่ได้มีการนำไปทดลองทำขึ้นแล้ว ได้ใช้จริงแล้วกว่า 200 ตัว และได้มีการพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานจริง โดยปราศจากข้อสงสัย

อย่างไรก็ดี นายสังศิตเห็นว่า ความรู้ใหม่นี้ควรที่ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหลายควรจะนำไปทดลองปฏิบัติให้เห็นจริงก่อน หรือจะไปดูของจริงที่ได้สร้างและใช้งานแล้ว หลายแห่งในจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิเป็นต้นก่อนที่ท่าน ทั้งหลายจะยอมรับว่าความรู้นี้เป็นความจริงชุดใหม่ของสังคม

ในท้ายที่สุด นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้ให้ความเห็นว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของพี่น้องเกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งเสริมให้มีการทำธนาคารน้ำใต้ดินอยู่ทั่วไป และพบว่าธนาคารน้ำใต้ดินสามารถเก็บกักน้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกร และเป็นประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านได้รับฟังและรับรู้เรื่องฝายแกนซอยซิเมนต์ในวันนี้ ท่านพบว่าหลักคิดของฝายแกนซอยซีเมนต์กับธนาคารน้ำใต้ดินมีจุดร่วมกัน ดังนั้นท่านจึงสามารถเข้าใจหลักคิดเรื่องฝายแกนซอยซิเมนต์ได้ทันที ข้อที่แตกต่างบางประการเช่นธนาคารน้ำใต้ดินสามารถเก็บน้ำได้เป็นจุด แต่ฝายแกนซอยซิเมนต์สามารถเก็บกักน้ำได้ในปริมาณที่ มากกว่าและสามารถตอบโจทย์ของพี่น้องเกษตรกรที่อยู่บริเวณต้นน้ำกับที่อยู่บริเวณท้ายน้ำได้ดีกว่าธนาคารน้ำใต้ดิน

ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษตอบรับที่จะนำเรื่องของฝายแกนซอยซิเมนต์ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดอย่างจริงจังต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และเพื่อความสุขของพี่น้องเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ