รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสข้อความเกี่ยวกับทัวร์ศูนย์เหรียญระบุว่า
1. ความเป็นมาของกฎหมายฟอกเงินเกิดจากการประชุมสุดยอด G – 7 ในปี พ.ศ. 2532 และมีการจัดตั้ง FATF ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลและเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสากลที่ออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย
ประเทศไทยออกกฎหมายฟอกเงินฉบับแรกปี พ.ศ.2542 ภายใต้พันธะกรณีในฐานะรัฐภาคีขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นมาตรการทางกฎหมายในการสกัดกั้นไม่ให้นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือ “เงินสีดำ” ไปแปรสภาพเป็นทรัพย์สินที่สะอาดหรือนำไปผ่านสถาบันการเงินเพื่อให้กลายเป็น “เงินสีขาว”
2. กรณีบริษัท OA ถูกตำรวจท่องเที่ยว และปปง. กล่าวหาและมีการฟ้องร้องต่อศาลอาญาในข้อหาว่าเป็น “อั้งยี่” ซึ่งเข้าข่ายมูลฐานความผิดเรื่องการฟอกเงิน
“อั้งยี่” เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา หมายถึง บุคคลระหว่าง 2 – 4 คนร่วมกันสมคบคิดที่จะกระทำความผิดทางอาญาหรือทางแพ่ง ดังนั้นผู้ที่จะถูกกล่าวว่าเป็นอั้งยี่ต้องมีการประชุมและมีการวางแผนที่จะกระทำความผิดของบรรดาอาชญากรกลุ่มหนึ่ง ในทางปฏิบัติการจะกล่าวหาใครว่าเป็นอั้งยี่กระทำได้ยาก เพราะจะต้องมีหลักฐานการประชุมที่ชัดเจนและผู้ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพว่าตั้งใจจะกระทำความผิดจริง ดังนั้น เท่าที่ผ่านมาการที่ภาครัฐจะฟ้องร้องบุคคลหนึ่งบุคคลใดว่าเป็นอั้งยี่ จึงมักต้องเกี่ยวข้องกับความผิดของบุคคลผู้นั้นที่ได้ทรัพย์จากข้อหาอื่นประกอบด้วย เช่น ข้อหารับของโจร เป็นต้น กล่าวได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “อั้งยี่” เป็นกฎหมายโบราณที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลจึงสมควรที่จะทบทวน และยกเลิกข้อกล่าวหาเรื่องการเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญาเสีย
3. หากพิจารณาจากเจตนารมณ์และมาตรฐานสากลด้านการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง ประเภทความผิดขององค์กรอาชญากรรม (organized crime) ตามที่ FATF กำหนดไว้ 21 ประเภทหมายถึง 1) การเข้าร่วมในกลุ่มองค์อาชญากรรมและแก๊งขู่เข็ญเรียกค่าคุ้มครอง 2) การก่อการร้ายถึง TF 3) การค้ามนุษย์และการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นฐาน 4) การคอรัปชั่นและการเรียกรับสินบน 5) การกระทำอันเป็นโจรสลัด 6) การข่มขู่กรรโชก
(21) การซื้อขายหุ้นด้วยข้อมูลภายในและการปั่นหุ้น (ดูเอกสารหมายเลข 1)
จากนิยามของ FATF เรื่องการต่อต้านการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงจะพบว่า ข้อกล่าวหาของตำรวจและปปง. ที่มีต่อบริษัท OA ไม่อยู่ในนิยามของ FATF
4. ตามกฎหมายอาญา ม.209 ระบุ “ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่…”
(ดูเอกสารหมายเลข 2)
คำถามก็คือ เจ้าของธุรกิจ OA มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นอั้งยี่ได้อย่างไร? เพราะบริษัทนี้มีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของบริษัทแห่งนี้เป็นไปอย่างเปิดเผย เป็นที่ปรากฎอย่างชัดแจ้งแล้วว่าการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อบริษัทโอเอในข้อหาดังกล่าวข้างต้นไม่มีเอกสารหรือพยานหลักฐานใดๆที่จะมายืนยันได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว (คำพิพากษาศาลอาญาชั้นต้น)
นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้วคดีอาญาจะต้องมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของบุคคลหรือองค์กร และผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือหากเป็นคดีอาญาของแผ่นดิน พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) สามารถร้องทุกข์เองได้ แต่คดีบริษัทโอเอไม่ปรากฎว่ามีใครเป็นผู้เสียหายในสำนวนการฟ้องร้องของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเลยแม้แต่ผู้เดียว คำถามคือปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้วางตัวอย่างเป็นธรรมและปฏิบัติต่อธุรกิจเอกชนอย่างมีธรรมาภิบาลหรือไม่?
5. กรณีนี้หน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งได้อายัดรถทัวร์ จำนวน 2,000 คน ของบริษัทโอเอเอาไว้เป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งทำให้ธุรกิจเอกชนได้รับความเสียหายจากค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจ (opportunity cost) นับหมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าความเสียหายทางด้านจิตใจ ซึ่งประเมินค่ามิได้ หน่วยงานของภาครัฐหน่วยงานไหนที่จะต้องออกมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
6. พรบ. ปปง. (ฉบับที่ 4) ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สมควรจะถูกจะยกเลิกเพราะสาระของกฎหมายฉบับนี้ที่มีการกำหนดความผิดเรื่องการกระทำอันเป็นอั้งยี่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการต่อต้านการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของ FATF (เอกสารหมายเลข 1) ผมเห็นว่า พรบ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้เสนอสอดคล้องกับมาตรฐานของ FATF มากกว่า
7. ข้อกล่าวหาของตำรวจท่องเที่ยวและปปง. ว่าบริษัท OA มีพฤติกรรมการฟอกเงินเพราะบริษัท OA ขายสินค้าในราคาแพง และนำผลกำไรที่สูงมาแบ่งให้กับบริษัททัวร์และไกด์
ในเรื่องนี้ผมเห็นว่า 1) การจ่ายค่าคอมมิชชั่นของธุรกิจที่ให้แก่บริษัททัวร์และไกด์เป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไปของธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก ในที่นี้ค่าคอมมิชชั่น (commission) จึงไม่ใช่เงินผิดกฎหมายและไม่ใช่การทุจริตและไม่ใช่การฟอกเงินตามความหมายของ FATF 2) ราคาสินค้าที่แพงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน แต่ราคาสินค้าจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับกลไกราคาของตลาด หากสินค้าที่ลูกค้าต้องการมีจำนวนน้อยหรือหาได้ยาก แต่ผู้ซื้อมีจำนวนมากสินค้าจะมีราคาแพงขึ้น 3) สินค้าชนิดหนึ่งในตลาดจะถูกหรือแพงยังขึ้นอยู่กับกับโครงสร้างของตลาดด้วย ถ้าผู้ให้บริการมีรายเดียวในตลาดจะเกิดอำนาจการผูกขาด (monopoly) และสินค้าจะมีราคาแพง แต่ตลาดรถทัวร์ของไทยมีผู้ให้บริการ 4 รายใหญ่ ถือว่าเป็นตลาดผูกขาดน้อยราย (oligopoly) คำถามก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 4 รายมีการฮั้วกันหรือไม่ ถ้ามีการฮั้วราคาจะแพงขึ้น แต่ในกรณีนี้ผู้ประกอบการทั้ง 4 รายมีการแข่งขันกัน ดังนั้นราคาสินค้าจึงเป็นราคาตลาดที่มีการแข่งขัน มิใช่ราคาที่เกิดจากการผูกขาดตามที่ตำรวจและปปง. กล่าวหา
8. “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นเพียงวาทกรรม (discourse) ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปฏิบัติต่อธุรกิจเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม ในโลกนี้ไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญ มีแต่ทัวร์ราคาถูก ราคาปานกลาง และราคาสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการซื้อทัวร์ของกลุ่มลูกค้า ในโลกทุกวันนี้มีทัวร์ราคาถูกที่แข่งขันกันทั่วโลกเพื่อดึงลูกค้านักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าชาวจีนที่มีอำนาจการซื้อมากกว่านักท่องเที่ยวทุกประเทศ ผมเห็นว่าทัวร์ราคาถูกไม่ได้เป็นไปตามกลไกราคาทุกกรณี รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเวลานี้ต่างบิดเบือนราคาของตลาดทัวร์เหมือนๆ กัน ตัวอย่างเช่น เราจะพบว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ มาเลเซีย ตุรกี และรัฐบาลต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนทัวร์ราคาถูก รัฐบาลให้เงินอุดหนุน (subsidy) แก่บริษัทท่องเที่ยวในประเทศ
9. การทำงานของตำรวจท่องเที่ยวในรอบปีที่ผ่านมาทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นเงินนับแสนล้านบาท ธุรกิจขนาดเล็กและย่อยได้รับความเสียหาย และพนักงานบริษัทหลายพันคนตกงาน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ รัฐบาลกลับยกระดับหน่วยงานของตำรวจท่องเที่ยวขึ้นเป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐออกไปบังคับเก็บส่วยจากธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป หน่วยงานนี้หากรัฐบาลไม่ตระหนักอย่างเพียงพอ อาจเป็นพลังด้านลบที่ทำลายความสามารถในการแข่งขันของนักธุรกิจทัวร์ไทยกับเพื่อนบ้าน เพราะ “ส่วย” เป็นต้นทุนทางด้านธุรกรรม (transaction cost) ที่ไม่สามารถลงในบัญชีของบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมายๆ ได้ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการเห็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจำเป็นต้องยุบกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวเสีย
10. เพื่อทำให้มาตรการควบคุมการฟอกเงินในประเทศไทยเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและตามมาตรฐานของ FATF ปปง.ควรเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงการคลัง เจ้าหน้าที่ควรเป็นนักการเงิน นักบัญชี นักบัญชีนิติการ (forensic accounting) ของตำรวจ ฯลฯ หน่วยงานนี้ควรทำหน้าที่หลักคือตรวจสอบเส้นทางการไหลเวียนของเงินที่ผิดปกติเท่านั้น หากมีหลักฐานเพียงพอจึงส่งให้หน่วยงานด้านการสอบสวนเช่นดีเอสไอดำเนินการต่อ และเมื่อดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเพียงพอจึงส่งต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดและฟ้องร้องต่อศาลต่อไป หากศาลวินิจฉัยเป็นที่สุดว่าเป็นการฟอกเงินแล้ว ปปง.จึงเข้าดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่ผิดกฎหมายให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
สำนักข่าววิหคนิวส์