ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พระโกศพระบรมอัฐิ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ทองคำลงยา ทรง 9 เหลี่ยม กับธรรมเนียมการเก็บรักษาพระบรมอัฐิในอดีต จวบจนปัจจุบัน
อิศรา – ธรรมเนียมการเก็บรักษาพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ของเจ้านาย มีมานานตั้งเเต่โบราณกาล เปลี่ยนเเปลงไปตามยุคสมัย โดยได้รับอิทธิพลมาจากคติความเชื่อทางพุทธศาสนา
สำหรับพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระโกศทองคำลงยาประดับเพชร ซึ่งมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ พระโกศพระบรมอัฐิที่จะเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระโกศพระบรมอัฐิทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ทั้งนี้ พระโกศพระบรมอัฐิ ที่เชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิทองคำลงยาทรงเก้าเหลี่ยมประดับเพชรเจียระไนสีขาว ทั้งสิ้น 5,368 เม็ด โดยฝาพระโกศพระบรมอัฐิเป็นทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทอง ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบสุวรรณฉัตรเก้าชั้น นพปฏลมหาเศวตฉัตร เครื่องประดับพระโกศ ได้แก่ ดอกไม้เอว ดอกไม้ไหว ส่วนยาที่ใช้ คือ สีเหลือง สีประจำพระชนมวาร สีแดง สีแห่งพลังความเข้มแข็ง และการหล่อหลมจิตใจของคนในชาติ และสีเขียว สีแห่งความมั่นคั่ง สมบูรณ์ของประเทศ ด้วยพระเมตตาปราณีของพระองค์ ออกแบบโดยนายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ส่วนพระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระโกศพระบรมอัฐิทองคำลงยาประดับพลอยทรงแปดเหลี่ยม ฝาพระโกศพระบรมอัฐิเป็นยอดมหามงกุฎแปดเหลี่ยม
สุดท้าย พระโกศพระบรมอัฐิที่จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นพระโกศพระบรมอัฐิทองคำลงยาประดับพลอยทรงแปดเหลี่ยม ใช้แนวคิดเกี่ยวกับพระโกศจันทร์พระนารายณ์ทรงครุฑ ลงยาสีขาว เหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระชนมวาร สีเขียว สีเดชพระบรมราชสมภพ สีชมพู ความเป็นมงคล และสีน้ำเงิน น้ำและพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีการบรรจุอัฐิธาตุเเต่โบราณมา ชั้นเดิมผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเช่นพระเจ้าเเผ่นดิน
เมื่อทำญาปนกิจที่ใด เขาทำพระเจดีย์ลงที่ฌาปนกิจนั้น ครอบทั้งอัฐิเเละอังคารธาตุ
ต่อมา เปลี่ยนเป็นเก็บอัฐิธาตุบรรจุในพระเจดีย์ ซึ่งมีไว้ที่อื่น อย่างเช่น บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้
ทั้งนี้ การเก็บรักษาอัฐิธาตุของไทยในอดีตนั้น ‘นพพร อยู่มั่งมี’ ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย อย่างละเอียดว่า เดิมจะถูกนำมาฝังและก่อกองดินหรือกองหินไว้ เรียกว่า ‘สถูป’ ส่วนคนชั้นต่ำจะนำไปฝังไว้ใต้ต้นโพธิ์
โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมีการสร้างพระสถูปเจดีย์ โดยเริ่มต้นสมัยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ที่มีการบรรจุอัฐิของเจ้านาย โดยทรงให้ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้ในสถูป จากเดิมที่สร้างวัดบนพื้นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการเก็บพระอัฐิใส่พระโกศน้อยเชิญขึ้นพระยานมาศ แห่เป็นกระบวนเข้ามาถึงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วจึงพระโกศอัฐิมาบรรจุไว้ท้ายจระนำพิหารใหญ่ แต่การเก็บพระอัฐิไว้ท้ายจระนำพิหารใหญ่ มิได้กระทำอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากเดิมใช้วัดในการเก็บเปลี่ยนมาเก็บไว้ในพระบรมมหาราชวัง เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำรัสว่า “ถ้าบ้านเมืองแตกเสียจะได้พาเอาไปด้วย” ซึ่งสถานที่ใช้เก็บพระอัฐิในสมัยดังกล่าว คือ หอพระธาตุมณเฑียร อยู่ด้านทิศตะวันตกของพระราชมณเฑียร เคียงคู่กับหอพระสุราลัยพิมาน ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 และบุรพกษัตริย์ทั้ง 4 รัชกาล ยังประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทั้งสองพระองค์
อีกทั้งยังมีการจัดสร้าง หอพระนาก ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิของพระบรมราชวงศ์ฝ่ายในที่ทรงศักดิ์ เช่น พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1-3
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยภายใต้ยอดพระมหาปราสาททั้ง 3 ยอด ทรงจัดให้ประดิษฐานพระบรมอัฐิ โดยยอดองค์ตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร องค์กลาง ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี และองค์ตะวันตก ประดิษฐานพระอัฐิพระประยูรญาติ
Cr.https://www.isranews.org/isranews/60675-king-60675.html
สำนักข่าววิหคนิวส์