ในหลายประเทศที่เผชิญวิกฤตความยากจนและสาธารณสุข เงื่อนไขปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟมีส่วนทำให้การใช้จ่ายทางสังคม (social spending) ลดลง ก่ออุปสรรคต่องานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศเหล่านั้น และยังทำให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น มาตรฐานแรงงานต่ำลง ตลอดจนทำลายสุขภาวะของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
“มิติด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยกู้นั้นไม่ควรถูกละเลย” อัลเฟรด เดอ ซายาส ผู้เชี่ยวชาญอิสระซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นมอบหมายให้ศึกษาแนวทางส่งเสริมความเป็นธรรมในระเบียบสากล ระบุ
“ผมขอตำหนิแนวทางการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งบางครั้งขัดต่อวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ไม่ใช่แค่ในด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ด้วย”
ในรายงานฉบับนี้ เดอ ซายาส ได้ชี้ถึงผลในด้านลบของนโยบายไอเอ็มเอฟที่ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) และบีบให้ประเทศลูกหนี้ต้องรัดเข็มขัดเข้มงวด
เดอ ซายาส อ้างถึงวิกฤตการเมืองและหนี้สินของกรีซ อาร์เจนตินา และตูนิเซีย และการที่ไอเอ็มเอฟกำหนด “เงื่อนไขปลดล็อกเงินกู้แบบสุดโต่ง” เช่น บังคับให้รัฐบาลตัดลดรายจ่ายทางสังคม ทั้งที่ประชาชนหลายล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือไม่มีสิทธิ์ได้เงินอุดหนุนกรณีว่างงาน
ปีนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังระงับวงเงินปล่อยกู้งวดใหม่แก่ตูนิเซีย แต่เรียกร้องให้มีการแปรรูปธนาคารของรัฐ และให้ปลดพนักงานของรัฐออกถึง 10,000 ตำแหน่ง
ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นรายนี้ยังอ้างอิงบทความวิชาการซึ่งระบุว่า เงื่อนไขปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟที่กำหนดให้ประเทศลูกหนี้ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเร็วๆ และใช้นโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยม (conservative fiscal policy) มีส่วนบั่นทอนศักยภาพของกลุ่มประเทศแอฟริกาในการยับยั้งวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาเมื่อปี 2014
ผู้แทนไอเอ็มเอฟปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้ และขอให้ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีไปอ่านถ้อยแถลงเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุน ซึ่งกล่าวชื่นชมที่ไอเอ็มเอฟสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น ซึ่งตั้งเป้าขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030
ที่มา manager
ไวยวิทย์ ตั้งจิตต์
สำนักข่าววิหคนิวส
สำนักข่าววิหคนิวส์