ข่าวประจำวัน » #สมเด็จพระบรมราชินี..!! พระองค์แรกสู่สมเด็จพระพันปี

#สมเด็จพระบรมราชินี..!! พระองค์แรกสู่สมเด็จพระพันปี

17 July 2017
784   0


#สมเด็จพระบรมราชินี.!!พระองค์แรกสู่สมเด็จพระพันปี

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงพระราชดำริว่า พระราชประเพณีได้เคยมีมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกใหม่ ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศแลเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระพันปีหลวงฉลองพระเดชพระคุณเป็นปฐม เพื่อเป็นศุภมงคลและราชสมบัติ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี และต่อมา ได้ทรงย้ายสถานที่ประทับจากพระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ หรือตำหนักที่บน ภายในพระบรมมหาราชวังมาประทับ ณ พระราชวังพญาไท และประทับอยู่ที่นั่นตราบจนกระทั่งเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ในครั้งนั้น ได้มีข้าราชสำนักฝ่ายในที่ย้ายติดตามพระองค์มาด้วยกัน ๒ ท่านคือ ท้าววรคณานันท์ หรือเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ปั้ม มาลากุล และท้าวสมศักดิ์หรือหม่อมราชวงศ์ปุย มาลากุล ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ หม่อมราชวงศ์ปั้ม มาลากุล หรือที่หมอสมิธเรียกว่า คุณปั้ม มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าท้าวนางชั้นสูงสุดในทำเนียบข้าราชบริพารฝ่ายใน รับหน้าที่ดูแลข้าหลวงและข้าราชสำนักฝ่ายใน ดูแลพระราชทรัพย์ ดูแลห้องเครื่อง และรับผิดชอบงานทุกอย่าง ยกเว้นเฉพาะหน้าที่ภายในห้องพระบรรทม ส่วนหม่อมราชวงศ์ปุย มาลากุล หรือที่หมอสมิธเรียกว่า คุณปุย มีตำแหน่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ หัวหน้าห้องพระบรรทม มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดสุดแต่จะมีพระประสงค์ ท่านมีนามเป็นที่เรียกขานกันในบรรดาข้าราชสำนักฝ่ายในว่า คุณผู้รับสั่ง

สำนักข่าวตรงประเด็น – หมอสมิธ ได้เล่าถึงพระราชจริยาวัตรและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงไว้ในหนังสือของเขาว่า สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ค่อนข้างที่จะมีพระราชจริยาวัตรผิดแผกไปจากบุคคลธรรมดา กล่าวคือ จะทรงใช้เวลาบรรทมในช่วงเวลากลางวัน และทรงตื่นบรรทมขึ้นมาปฏิบัติพระราชภารกิจในช่วงกลางคืน ซึ่งในฐานะแพทย์ประจำพระองค์ หมอสมิธได้เคยทูลถามถึงเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าพระจริยาวัตรดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดผลดีต่อพระพลานามัยของพระองค์เลย แต่สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงได้ตรัสตอบว่า พระองค์ทรงพอพระทัยเช่นนั้น พระมารดาตลอดจนพระอัยกีของพระองค์ต่างก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่อาจมีผู้ใดทัดทานพระองค์ได้

โดยปกติแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง จะทรงตื่นบรรทมในราว ๖ โมงเย็นถึง ๒ ทุ่ม หลังจากที่ตื่นบรรทมแล้วก็จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจส่วนพระองค์ตามปกติ หลังจากนั้นก็จะได้เวลาเสวยพระกระยาหารซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพระกระยาหารมื้อเดียวของทั้งวัน พระกระยาหารที่นำขึ้นเทียบเครื่องเสวยบ่อยครั้งได้แก่ ข้าวต้มปลา ข้าวสวยกับแกงชนิดต่างๆ และเนื้อทอด หมอสมิธได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือของเขาว่า มีพระกระยาหารอีก ๒ ชนิดที่ทรงโปรดปราน คือ ด้วงมะพร้าวทอด* และรวงของผึ้งอ่อน หรือที่เรียกว่ามิ้ม ซึ่งพระกระยาหารทั้งสองชนิดนี้หมอสมิธได้เคยถูกชักชวนให้ลองชิมมาแล้ว และเขาไม่เข้าใจเลยว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นที่โปรดปราน หลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง จะทรงสูดพระโอสถนัตถุ์เป็นกิจวัตร

หมอสมิธได้บันทึกถึงพระอุปนิสัยในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ไว้ในหนังสือของเขาดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า

“..สมเด็จพระพันปีหลวงทรงสนพระทัยในความเป็นไปของบ้านเมืองในทุกๆ ด้าน แต่มิได้ทรงเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจนั้นๆ ยุคสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่สมเด็จพระพันปีหลวงมิได้ทรงเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเหล่านั้น ภายในราชสำนักเล็กๆ ของพระองค์ วิถีชีวิตทุกอย่างยังคงรักษารูปแบบไว้เหมือนเมื่อในอดีต กิริยามารยาทอันงดงามตลอดจนการถวายการปรนนิบัติรับใช้ด้วยความอ่อนน้อมล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงได้รับมาจนเคยชิน และการกระทำประการหลังนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมจนถึงวาระที่พระองค์สวรรคต

สมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้หมอสมิธเข้าเฝ้าพระองค์เกือบจะทุกวัน ทั้งนี้มิได้เป็นเพราะทรงวิตกกังวลในพระพลานามัยของพระองค์เองแต่ประการใด หากแต่มีพระประสงค์จะสนทนากับเขาเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไปของโลกภายนอก นอกเหนือไปจากในราชสำนักของพระองค์ พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ของยุโรปเป็นอย่างดี และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของหมอสมิธ

“สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ของยุโรปที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นอย่างดี และทรงรู้ไปถึงวงศ์วารของพระราชวงศ์เหล่านั้นดีเสียยิ่งกว่าตัวข้าพเจ้า

ระหว่างการสนทนาแม้ว่าพระองค์จะมิได้ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ทรงรู้คำศัพท์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์เกี่ยวกับการเมืองและการทูตที่ไม่มีคำภาษาสยามอธิบายได้อย่างชัดแจ้ง ถ้อยคำเหล่านี้มักจะสอดแทรกอยู่ในพระราชดำรัสราวกับลูกเกดที่กระจัดกระจายอยู่ในก้อนขนมปัง พระองค์ไม่เคยผูกขาดการสนทนาแต่เพียงผู้เดียว แนวพระราชดำริอันชาญฉลาดของพระองค์ทำให้การสนทนาดำเนินไปอย่างราบรื่นตามที่ควรจะเป็น.

จากการที่หมอสมิธได้มีโอกาสเข้าไปถวายการรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวงอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงเป็นที่มาของถ้อยคำของเขาที่ว่า

“.ในบรรดาชาวต่างชาติที่จะได้มีโอกาสเห็นภาพชีวิตภายในราชสำนักฝ่ายในเหล่านี้ ก็เห็นจะมีแต่เพียงแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในราชสำนักเท่านั้น…” และจากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว ทำให้เขาได้ประจักษ์ในพระอุปนิสัยและพระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นอย่างดี โดยเขาได้กล่าวยกย่องสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ไว้ในหนังสือของเขาว่า

“ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้ และไม่เคยที่จะทรงผูกขาดการสนทนาแต่เพียงผู้เดียว ทรงมีความรู้กว้างขวางในเรื่องทุกเรื่อง รวมถึงทรงรอบรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในบ้านเมืองของพระองค์เอง และข่าวคราวความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทรงแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งส่งผลให้การสนทนากับพระองค์ดำเนินไปอย่างราบรื่น”

พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

Cr. นิตยสารศิลปากร
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน