สส.ศุภโชติ-สส.วรภพ แฉรัฐบาลลักหลับ รีบลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์ ในวันที่ 29 ก.ค. โดยไม่เปิดเผยผลเจรจา ส่อเอื้อเอกชน-คนไทยต้องจ่ายไฟแพง จี้นายกฯ – รมว.พลังงาน ยกเลิกทันที ขู่ยื่น ป.ป.ช. หยุดยั้งกระบวนการ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ และ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวติดตามความคืบหน้ากรณีการคัดค้านการลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติมรอบ 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่เต็มไปด้วยข้อกังวล ทั้งด้านความโปร่งใส ความคุ้มค่า และผลกระทบต่อประชาชน
แม้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจะเป็นเป้าหมายที่ดีในหลักการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่สะท้อนถึงหลักธรรมาภิบาลหรือการวางแผนพลังงานที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง พรรคประชาชนได้คัดค้านประเด็นนี้ตั้งแต่ปลายปี 2567 โดยระบุปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. ไม่มีการเปิดประมูลแข่งขันอย่างโปร่งใส การกำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าในรอบนี้ใช้ข้อมูลต้นทุนพลังงานหมุนเวียนจากอดีต ซึ่งสูงกว่าราคาจริงในปัจจุบัน ทั้งที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกลดลงต่อเนื่องทุกปี จึงเป็นราคาที่ “แพงเกินจริง” โดยไม่มีการแข่งขันใด ๆ มากำกับ
2. ไม่มีความจำเป็นต้องรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ประเทศไทยในขณะนี้มีสำรองไฟฟ้าเกินความจำเป็นแล้ว การเดินหน้ารับซื้อเพิ่มเติมจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับระบบโดยไม่จำเป็น และจะผลักต้นทุนส่วนเกินเหล่านี้ไปสู่ค่าไฟฟ้าของประชาชน
3. มีการล็อกโควตาให้เฉพาะกลุ่มทุนรายเดิม โครงการรอบนี้กำหนดให้เฉพาะเอกชนที่เคยยื่นโครงการไว้ตั้งแต่ปี 2565 ได้รับการคัดเลือกก่อนโดยอัตโนมัติ เป็นการปิดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่และทำลายหลักการแข่งขันเสรี
ในช่วงปลายปี 2567 ภายใต้แรงกดดันจากภาคประชาชนและฝ่ายค้าน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ “ชะลอ” การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารอบนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการพิจารณาใหม่อย่างรอบคอบ แต่แทนที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะรับฟังเสียงคัดค้านและยกเลิกโครงการดังกล่าว กลับมีมติ กพช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ให้เดินหน้ากระบวนการเจรจากับเอกชนต่อไป โดยให้มีการปรับลดราคารับซื้อบางส่วนก่อนลงนามในสัญญา
แม้จะมีการ “เจรจาต่อรอง” เพื่อให้ราคาถูกลง แต่ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ราคาเพียงอย่างเดียว เพราะการดำเนินโครงการที่ไม่จำเป็นนี้ยังจะสร้างภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนไปอีกกว่า 25 ปีตลอดอายุของสัญญา ซึ่งเป็นภาระระยะยาวที่ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น
สิ่งที่สำคัญและน่ากังวลที่สุด คือความไม่โปร่งใสของกระบวนการล่าสุด เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ให้เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอบ 3,600 เมกะวัตต์ ภายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2568 โดยไม่มีการเปิดเผยผลของการเจรจาราคาต่อสาธารณะแต่อย่างใด ประชาชนจึงไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการปรับลดราคากันจริงหรือไม่
ถ้าราคาที่เจรจาลดลงเพียงเล็กน้อย เช่น 1 สตางค์ และรีบเร่งให้ลงนามในสัญญาโดยไม่มีการเปิดเผย รายละเอียดต่อประชาชน นั่นเท่ากับว่าเป็นการ “ลักหลับ” เอาผลประโยชน์ของประชาชนไปมอบให้กับ กลุ่มทุนพลังงานโดยไร้ความยุติธรรม พลังงานควรเป็นของประชาชน ไม่ใช่สินค้าของกลุ่มทุนไม่กี่รายที่สามารถล็อกสัญญาระยะยาวกับรัฐไปได้โดยไม่ต้องแข่งขัน พรรคประชาชนขอยืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานควรเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่ใช่เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อผลักภาระใหม่ให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้นในอนาคต
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยกเลิกกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นนี้ทันที และดำเนินการจัดทำกระบวนการใหม่ที่มีความยุติธรรม โปร่งใส และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่หากรัฐบาลยืนยันที่จะเพิ่มภาระค่าไฟแก่ประชาชน ภายในสัปดาห์หน้าพรรคประชาชนจะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นกลไกสุดท้ายเพื่อหยุดยั้งกระบวนการนี้