“…การที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ยื่นฟ้องในข้อหาที่ 3 ในคดีนี้ โดยมีข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีและคําขอบังคับในลักษณะเดียวกันกับประเด็นที่ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ในคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566 มาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการต้องห้ามตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543…”
………………………………………….
จากกรณีที่ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 395/2568 ลงวันที่ 27 พ.ค.2568 ซึ่งเป็นคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน กับพวกรวม 3 ราย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 5,083 ไร่ ซึ่งสรุปได้เป็น 4 ข้อหา คือ
ข้อหาที่ 1 รฟท. มีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0561.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 ที่มีคำสั่งให้ยุติเรื่องการสอบสวน การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนในเขตที่ดินของ รฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
ข้อหาที่ 2 รฟท. มีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีกรมที่ดิน (อธิบดีกรมที่ดิน) และปลัดกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งได้มีคําวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ กรณี รฟท.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่มีคำสั่งให้ยุติเรื่องการสอบสวนการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนในเขตที่ดินของ รฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
ข้อหาที่ 3 รฟท. มีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ร่วมกันเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 995 ฉบับ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของ รฟท. ภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด หรือภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
ข้อหาที่ 4 รฟท. ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตร 375+650 ตามระวางที่ดิน 4638 IV 3452-00 ถึง 4638 IV 3454-00 บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นอกเหนือจากหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้ง 995 ฉบับ ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ในบริเวณทางแยกเขากระโดง
โดยศาลฯมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาบางข้อหา ได้แก่ ข้อหาที่ 3 และข้อหาที่ 4 เนื่องจากเห็นว่า มีข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี และคําขอบังคับในลักษณะเดียวกันกับประเด็นที่ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ในคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566 มาฟ้องเป็นคดีนี้อีก
จึงเป็นการต้องห้ามตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ศาลจึงไม่สามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ นั้น (อ่านประกอบ : ฟ้อง 4 ข้อหาไม่รับ 2!‘ศาลปค.’ตีตกคำขอ‘รฟท.’สั่ง‘กรมที่ดิน’เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’995 ฉบับ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของคำสั่งศาลปกครองกลาง ในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ 395/2568) มีรายละเอียด ดังนี้
@‘รฟท.’ฟ้อง‘กรมที่ดิน-พวก’4 ข้อหา ปมที่ดิน‘เขากระโดง’
ศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสํานวนคดี รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
คดีนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ยื่นฟ้องคดีรวม 4 ข้อหา
ข้อหาที่ 1 ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195/2560 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 และคำสั่งที่ 1196/2560 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อสอบสวนการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
แต่เมื่อทำการสอบสวนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) กลับมีคำสั่ง ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0561.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 มีคำสั่งให้ยุติเรื่องการสอบสวน โดยผู้ฟ้องคดี (รฟท.) มีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือดังกล่าว
ข้อหาที่ 2 ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดี มีหนังสือ ที่ รฟ 1/2780/2567 ลงวันที่ 12 พ.ย.2567 อุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ที่ให้ยุติเรื่องการสอบสวน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับคําอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงได้มีหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/25841 ลงวันที่ 11 ธ.ค.2567 แจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคําวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/760 ลงวันที่ 13 ม.ค.2568 โดยผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3
ข้อหาที่ 3 ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ฟ้องว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยมีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 995 ฉบับ ที่เจ้าพนักงาน ที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ ของผู้ฟ้องคดี ภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุดหรือภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
ข้อหาที่ 4 ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ฟ้องว่า นอกจากหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้ง 995 ฉบับแล้ว ยังมีหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดินอื่นอีกที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีในบริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
ตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตร 375+650 ตามระวางที่ดิน 4638 IV 3452-00 ถึง 4638 IV 3454-00 บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นอกเหนือจากที่ดิน 995 ฉบับ
@สั่งไม่รับคำฟ้องขอสั่งเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’995 ฉบับ
กรณีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ศาลสามารถรับคําฟ้องในข้อหาที่ 3 และที่ 4 ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “คําฟ้อง” หมายความว่า การเสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคําฟ้องหรือคําร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคําฟ้องเพิ่มเติมหรือ แก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยความสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคํา ขอให้พิจารณาใหม่
มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) … (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกิน สมควร (3)…
มาตรา 72 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า (1)… (2) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เกินสมควร
ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 97 กำหนดว่า คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
สำหรับข้อหาที่ 3 เมื่อคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตั้งแต่ส่วนแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ไปจนถึงเขากระโดง รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร เนื้อที่รวม ประมาณ 5,083 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.เสม็ด และต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่ดินที่กรมรถไฟหลวงได้สํารวจและจัดซื้อตามตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทาง รถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย. พระพุทธศักราช 2462
พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 25 พ.ย.2464 และ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 22 ธ.ค.2464
ทำให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินรถไฟ ตามมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดิน และได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494
ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) และที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564
ต่อมา ศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษา เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษา ให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของผู้ฟ้องคดี
หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่ง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195/2560 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 และคำสั่งที่ 1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการสอบสวนและพิจารณาเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกคลาดเคลื่อนบนที่ดินของผู้ฟ้องคดี
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ 0561.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 ให้ยุติเรื่อง ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) มีคําวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาล
โดยมีคําขอท้ายคําฟ้องข้อที่ 3 ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 995 ฉบับ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดี ภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุดหรือภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า คําฟ้องในข้อหาที่ 3 นี้ แปลความได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) และที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในที่ดินของผู้ฟ้องคดีภายในเวลา 60 วัน หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
จึงเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ซึ่งในคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566 ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้ยื่นฟ้อง กรมที่ดินเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ตามลำดับ) โดยผู้ฟ้องคดีได้กล่าวอ้างถึงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และได้รับความเสียหายจากการถูกออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี
เมื่อมีการขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในคดีเดิม ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาล
โดยขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว และขับไล่ผู้ครอบครองและถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
โดยในคดีดังกล่าวศาลปกครองกลาง ได้มีคําวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและมีคําพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคําฟ้องข้อหาที่ 3 ผู้ฟ้องคดีในคดีนี้
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาในคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566 ที่พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดแต่อย่างใด
กรณีจึงต้องถือว่า คดีในประเด็นข้อพิพาทที่มิได้มีการอุทธรณ์คําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในประเด็นดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคําบังคับนับแต่วันที่กำหนดในคําพิพากษา
การที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ยื่นฟ้องในข้อหาที่ 3 ในคดีนี้ โดยมีข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีและคําขอบังคับในลักษณะเดียวกันกับประเด็นที่ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ในคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566 มาฟ้องเป็นคดีนี้อีก
จึงเป็นการต้องห้ามตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ศาลจึงไม่อาจรับคําฟ้องในข้อหาที่ 3 ไว้พิจารณาได้
@ไม่รับคำฟ้อง‘ข้อหาที่ 4’ เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘แปลงอื่น’
สำหรับข้อหาที่ 4 ที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) มีคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตร 375+650 ตามระวางที่ดิน 4638 IV 3452-00 ถึง 4638 IV 3454-00 บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นอกเหนือจากที่ดิน 995 ฉบับ ตามคําฟ้องข้อหาที่ 3 นั้น
แม้คําขอในข้อหานี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคําในคําขอให้แตกต่างไปจากคําฟ้องข้อหาที่ 3 ก็ตาม แต่คําขอดังกล่าว ก็เป็นการขอให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเนื้อที่ 5,083 ไร่ บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่ดินพื้นที่บริเวณเดียวกันกับที่ดินในข้อหาที่ 3 และตามคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566
เมื่อผู้ฟ้องคดี ไม่ได้บรรยายคําฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ต้องการให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับใดให้ชัดเจน ย่อมทำให้ศาลไม่สามารถพิจารณาถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือสิทธิในที่ดินและทราบได้ว่าจะมีคําพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับใด
จึงต้องแปลความคําขอในข้อหานี้ว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) และที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและมีอำนาจเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันกับคําฟ้องในข้อหาที่ 3
และเมื่อศาลได้วินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่า คําฟ้องในข้อหาที่ 3 เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี และคําขอบังคับในลักษณะเดียวกันกับคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 หมายเลขแดงที่ 582/2566 ซึ่งศาลได้มีคําพิพากษาในประเด็นนี้ถึงที่สุดแล้ว
จึงต้องห้ามตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ.2543 ศาลจึงไม่อาจรับคําฟ้องในข้อหาที่ 4 ไว้พิจารณาได้เช่นกัน
จึงมีคำสั่งไม่รับคําฟ้องในข้อหาที่ 3 และข้อหาที่ 4 ไว้พิจารณา
เหล่านี้เป็นรายละเอียดคำสั่ง ‘ศาลปกครองกลาง’ ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีพิพาท ‘เขากระโดง’ ในคดีใหม่ ไว้พิจารณา จำนวน 2 ข้อหา จากทั้งหมด 4 ข้อหา และต้องติดตามกันต่อไปว่า กรณีการเพิกถอนคำสั่ง ‘กรมที่ดิน’ ที่มีคำสั่งยุติการสอบสวนการเพิกถอนโฉนดโฉนดที่ดิน ‘เขากระโดง’ จะมีบทสรุปอย่างไร?