.
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2568 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งคดีที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯดำเนินการไต่สวน กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฯ
โดยศาลฯพิเคราะห์คำร้องและเอกสารท้ายคำร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้อง (นายชาญชัย) ไม่ใช่คู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ อีกทั้งไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยในคดีดังกล่าว
เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในชั้นบังคับตามคำพิพากษา จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลนี้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้ ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
จึงเห็นควรส่ง ‘สำเนาคำร้อง’ ให้โจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ แล้วให้โจทก์และจำเลยดังกล่าวแจ้งต่อศาลว่า มีข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในคำร้อง หรือไม่ อย่างไร
กับ ‘สำเนาคำร้อง’ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาล เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ประกอบการพิจารณาของศาลว่า
การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาล หรือไม่ อย่างไร ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 6
โดยให้โจทก์ จำเลยดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แจ้งให้ศาลทราบ พร้อมกับแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล นั้น (อ่านประกอบ : เปิดคำสั่งศาลฎีกาฯ คดีประวัติศาสตร์ เรียกไต่สวน‘ทักษิณ-ชั้น14’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จาก ‘สำเนาคำร้อง’ ในคดี ‘ทักษิณชั้น 14’ ที่ศาลฯมีคำสั่งให้แนบส่งไปยังโจทก์ จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ประกอบการพิจารณาของศาลว่า การดำเนินการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ เป็นไปตามหมายจำคุกฯหรือไม่ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
@ส่งตัว‘ทักษิณ’เข้า‘รพ.ตำรวจ’ ไม่มีหลักฐานต้องรักษา‘ด่วน’
ขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ กรณีมีข้อสงสัยว่า จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ในฐานะนักโทษ ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เพื่อจงใจหลีกเลี่ยงไม่ให้นักโทษในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล อันถือเป็นการไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในคดีที่ถึงที่สุดเด็ดขาดแล้ว
ผู้ร้อง (นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์) มีสิทธิเสรีภาพ ตามหน้าที่ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ข้อ 62 ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้ดำเนินการไต่สวน กรณีไม่บังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล
โดยกรณีดังกล่าว ผู้ร้องเห็นว่า ฝ่ายบริหาร โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการบังคับโทษนายทักษิณ ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เป็นการก้าวก่าย แทรกแซงอำนาจตุลาการศาลยุติธรรม ก่อให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคงของศาลด้านกระบวนการยุติธรรม และกระทบต่อความเรียบร้อยของงประชาชน
คดีนี้ ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ได้รับโทษจำคุก ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ,คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 และคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 แต่จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) หลบหนีไปต่างประเทศเป็นเวลาประมาณ 17 ปี จึงไม่อาจบังคับโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้
ต่อมาวันที่ 22 ส.ค.2566 จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) เดินทางกลับมาภายในราชอาณาจักรไทย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง รับตัวทำบันทึกการจับกุมร่วมกับหน่วยงานอื่น จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำตัวจำเลยมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อรับทราบคำพิพากษาคดีนี้ และอีก 2 คดีดังกล่าว
จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยนำตัวจำเลยเข้าควบคุมในแดน 7 ซึ่งเป็นแดนที่ใช้กักขังระหว่างกักโรค
โดยอ้างว่า มีรายงานประวัติการรักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศว่า จำเลยมีโรคประจำตัวหลายโรค และอยู่ระหว่างการติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งไม่เป็นความจริง
ไม่มีหลักฐานรายงานใดระบุว่า ต้องทำการรักษาหรือรักษาเร่งด่วนในโรคใด และไม่ปรากฏว่าจำเลยป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน และการรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้นแต่ประการใด ตามมาตรา 5 วรรคสอง และหากไม่ทำการรักษาโรคเร่งด่วนจะเป็นอันตรายถ้าต้องจำคุกหรือไม่ อย่างไร
จากนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลางดึกคืนวันที่ 22 ส.ค.2566 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจำเลยไปที่โรงพยาบาลตำรวจ และอ้างว่ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาวันที่ 31 ส.ค.2566 จำเลย ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษให้จำเลยคงเหลือจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา
หลังจากได้รับอภัยโทษแล้ว จำเลยยังคงอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แจ้งชัดว่า จำเลยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากต้องรักษาโรคใด และมีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สามารถดูแลรักษาได้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 54
โดยไม่ปรากฏว่าจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน และการรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้นแต่ประการใด ตามมาตรา 55 วรรคสอง
@อ้างความเห็น‘แพทย์’ต่อเวลารักษาตัว แต่ไม่แจงรายละเอียด
ต่อมาวันที่ 20 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบกำหนด 30 วัน นับแต่จำเลยไปอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ผู้เกี่ยวข้องไม่อาจให้ความจริงได้ว่า จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ต้องอยู่ในโรงพยาบาลดังกล่าว ด้วยความจำเป็นต้องรักษาโรคเฉพาะด้านใด และมีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงใด
กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กรณีจำเลยที่อยู่ในความควบคุมตัวของเรือนจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 และต่อมามีอาการป่วยฉุกเฉิน และส่งตัวออกไปรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลตำรวจในคืนดังกล่าว โดยจะครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่ส่งตัวออกไปรักษาภายนอก ในวันที่ 21 ก.ย.2566 นั้น
ในการนี้ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
กรมราชทัณฑ์ ได้รับหนังสือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รายงานความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ระบุเหตุผลความจำเป็นของจำเลยที่จำเป็นต้องรักษาตัวเกิน 30 วัน เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะได้รับการผ่าตัด และยังคงรักษาตัวอยู่ณ โรงพยาบาลตำรวจ
โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่า ได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคใด ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงว่า ผ่าตัดแล้ว มีความจำเป็นต้องอยู่ต่อ ณ โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งนับแต่ครบกำหนด 30 วัน ที่จำเลยอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยให้รายละเอียดขอความคืบหน้าในการอยู่ต่อ ณ โรงพยาบาลตำรวจของจำเลย
อีกทั้งได้กระทำขัดขวางการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆของประชาชน ที่เห็นว่าไม่มีการรักษาอาการเจ็บป่วยของจำเลยจริง เพราะจำเลยไม่มีอาการป่วยจำเป็นต้องทำการผ่าตัด ตามที่อ้าง หรือป่วยทิพย์นั่นเอง
ต่อมาวันที่ 21 ต.ค.2566 กรมราชทัณฑ์ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงอีกว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำกรุงเทพมหานครว่า จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ยังต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลภายนอกครบ 60 วัน ในวันที่ 21 ต.ค.2566 เนื่องจากความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ทำการรักษา เห็นว่า
มีความจำเป็นต้องรับการรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลตำรวจ แต่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการรักษาว่า ต้องรักษาด้วยโรคอะไร รักษาอย่างไร ความคืบหน้าการรักษาไปถึงไหน แต่อ้างระเบียบว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนได้ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
แม้ว่า แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ จะอ้างสิทธิผู้ป่วยไม่อนุญาตให้เปิดเผยได้ก็ตาม แต่เนื่องจากกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในฐานะเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ตามกฎหมายราชทัณฑ์ มีอำนาจหน้าที่ นำตัวผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาลไปควบคุมตามอำนาจหน้าที่โดยตรง
จึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะชี้แจงได้ว่า สถานะของนักโทษกหรือผู้ต้องขังที่อยู่ในการควบคุมเป็นอย่างไร ดังเช่น เมื่อคราวเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในเรือนจำต่างๆ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ ยังมีอำนาจหน้าที่แถลงข่าวนักโทษในเรือนจำติดเชื้อโรคกี่รายเป็นร้อยละเท่าไหร่
และมีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร ที่ต้องย้ายนักโทษไปควบคุมยังสถานที่อื่น เพื่อความปลอดภัยของนักโทษหรือผู้ต้องขัง หาได้กระทำเหมือนกรณีนักโทษชายทักษิณ ที่มีการย้ายที่ควบคุม โดยมิได้แถลงเหตุผลใดๆทั้งสิ้น การอ้างสิทธิของผู้ป่วยดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้
@ส่งตัว‘ทักษิณ’ไป‘รพ.ตำรวจ’ ต้องทำตามขั้นตอน‘ป.วิ.อาญา’
ส่วนข้อเท็จจริงในการนำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ไปโรงพยาบาลตำรวจที่กรมราชทัณฑ์อ้างว่า มีอำนาจกระทำได้ตามกฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 7
แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
“กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น นอกจากการควบคุม ขัง หรือจําคุกไว้ในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมตลอดถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ”
และตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 89/2 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เมื่อพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษ ตามที่ระบุไว้ในหมายศาลที่ออกตามคำพิพากษานั้น หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกินสามสิบปีขึ้นไป หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ก็ได้
(1) ให้จำคุกไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอ หรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ทั้งนี้ ลักษณะของสถานที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย…”
และมาตรา 246 บัญญัติว่า “เมื่อจําเลย สามีภริยา ญาติของจําเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จําคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อจําเลยวิกลจริต
(2) เมื่อเกรงว่าจําเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก…
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้น ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจําคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง
ลักษณะของสถานที่อันควรตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจําเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย
เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังจําเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจําคุกได้
ให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตามมาตรานี้ออกจากระยะเวลาจําคุกตามคําพิพากษา”
ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำกรุงเทพมหานคร ส่งตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยป่วยเป็นโรคอะไร ร้ายแรงเพียงใด หากจำเลยถูกจำคุก และบังคับโทษอยู่ในเรือนจำดังกล่าว จะถึงอันตรายต่อชีวิต อีกทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 89/2 (1) และมาตรา 246 (2) จึงไม่ชอบ
โดยจะอ้างว่าดำเนินการตามกฎกระทรวง (พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560) เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 23 ก.ย.2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาได้ไม่
@ชี้‘ทักษิณ’ยังไม่ได้รับโทษ‘จำคุก’ตามคำพิพากษาศาลฯ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ที่มีการนำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ออกจากเรือนจำกรุงเทพมหานครไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่มีการรายงานอาการป่วย ให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทราบ คงมีแต่รายงานว่า พยาบาลเวรขอคำปรึกษาจากแพทย์กรมราชทัณฑ์ ซึ่งพิจารณาจากรายงานแพทย์ต่างประเทศ
และมีความเห็นว่า ให้นำตัวจำเลยไปโรงพยาบาลตำรวจ เพียงเฝ้าระวังเท่านั้น อันเป็นการขัดต่อกฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 2 (1) (2)
และเมื่อนำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) มาถึงโรงพยาบาลแล้ว ก็ได้นำตัวจำเลยไปที่ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องที่แยกต่างหากจากผู้ป่วยทั่วไปที่รับการรักษาอยู่โรงพยาบาลตำรวจ โดยนำจำเลยไปอยู่ชั้น 14 คนเดียว อันเป็นการขัดต่อกฎกระทรวง เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 4 (2)
ผู้ร้อง (นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์) ขอประทานกราบเรียนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดรวม 8 ปี และเมื่อจำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษได้รับโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยจะต้องถูกจำคุกคุมขังในเรือนจำในเขตศาลที่มีอำนาจ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ได้นำตัวจำเลยไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ซึ่งมิใช่เรือนจำ จนกระทั่งถูกปล่อยตัว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และนำตัวจำเลยไปอยู่อย่างอิสระ สบายๆ แยกจากผู้ป่วยอื่นๆ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยป่วย ซึ่งความจริงแล้ว จำเลยมิได้ป่วยตามที่อ้าง
พฤติกรรมการกระทำของจำเลย (นายทักษิณ) และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ สมคบร่วมกันเพื่อหลอกลวง ตบตาประชาชนว่า จำเลยป่วย ทั้งที่จำเลยมิได้ป่วยแต่ประการใด
ดังจะเห็นได้จาก เมื่อจำเลยได้รับการปล่อยตัว จากโรงพยาบาลตำรวจแล้ว จำเลย ได้หายป่วยรุนแรงในทันที และกลับมาใช้ชีวิตปกติ เดินทางหาเสียงทางการเมือง ครอบงำทางการเมือง และดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งอยู่เบื้องหลังการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
เช่นนี้ จำเลยจึงยังไม่ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการทางการเมืองแต่อย่างใด
การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลย เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลย อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการบังคับโทษตามกฎหมาย แต่กรณีถึงขั้นเป็นการทำลายระบบกระบวนการยุติธรรม และหลักนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศชาติอย่างร้ายแรง ทำให้คำพิพากษาของศาลถึงที่สุดขาดความศักดิ์สิทธิ์ ขาดความน่าเชื่อถือ
เป็นการกระทำที่ไม่มีความเป็นภราดรภาพ หรือเสมอภาคกับนักโทษคนอื่นๆที่ถูกคุมขังในเรือนจำต่างๆในประเทศไทย อันเป็นการบังคับโทษโดยไม่มีหลักนิติรัฐ ทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว ขาดความเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชน และชาวต่างชาติที่มาติดต่อทำมาค้าขาย และการลงทุนทำธุรกิจกับประเทศไทย
ทั้งนี้ โดยมุ่งประโยชน์แก่จำเลยเพียงคนเดียว ไม่ได้มุ่งประโยชน์แก่ประชาชนและประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งประเทศชาติ ขัดหลักยุติธรรมอย่างร้ายแรง
เมื่อการนำตัวจำเลยออกไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมาย ดังที่ผู้ร้อง (นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์) กราบเรียนมาแล้ว ตามลำดับข้างต้น การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่จำเลย ให้ไม่ต้องถูกบังคับคดีหรือไม่ต้องถูกบังคับโทษจำคุกตามคำพิพากษาอันถึงที่สุด ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 65 ที่บัญญัติว่า
“การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา”
การนำตัวจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ออกไปที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการประวิงเวลาและช่วยเหลือจำเลย จำเลยไม่ได้ถูกบังคับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างจริงจังและเด็ดขาด อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย
@ขอศาลฯรับคำร้องไว้ไต่สวนฯ-สั่งบังคับโทษจำคุก‘ทักษิณ’
นอกจากนี้ ผู้ร้อง (นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์) ยังได้ทราบว่า เมื่อต้นเดือน ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบอนุญาตให้คุมขังนอกเรือนจำได้ด้วย จึงสามารถเล็งเห็นได้ว่า เพื่อประโยชน์แก่จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ผู้เดียว หากเป็นเช่นนี้ คำพิพากษาของศาลย่อมไม่มีความหมาย
ทั้งที่กว่าศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ต้องใช้องคาพยพในการดำเนินการ ผ่านการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจหรือ ป.ป.ช. จากนั้นพนักงานอัยการจะพิจารณาว่า จะมีคำฟ้องจำเลยต่อศาลหรือไม่ และฝ่ายกระบวนการของศาลต้องใช้เวลา ทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณจำนวนมหาศาล กว่าศาลจะตัดสินหรือมีคำพิพากษาได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีนี้ เป็นคดีของศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) กระทำผิด ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคดีสำคัญ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองระดับชาติ
สมควรที่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล ต้องบังคับโทษให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
หากเป็นดังเช่น การบังคับโทษของจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ในคดีนี้ ย่อมไม่ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นการทำลายหลักกฎหมายโดยตรง ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำลาย หลักกฎหมายและหลักความยุติธรรมของประชาชน
ด้วยเหตุผลดังที่ ผู้ร้องได้ประทานกราบเรียนมาแล้วข้างต้น ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้โปรดรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาไต่สวน แล้วมีคำสั่งบังคับโทษจำคุกจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจตุลาการ ศาลยุติธรรม และระบบนิติรัฐของประเทศ
เหล่านี้เป็น ‘สำเนาคำร้อง’ ของนายชาญชัย ในคดี ‘ทักษิณชั้น 14’ ที่ศาลฯส่งให้ โจทก์ จำเลย และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ประกอบการพิจารณาของศาลฯ กรณีการดำเนินการบังคับโทษจำคุก ‘นายทักษิณ’ ซึ่งศาลฯจะมีเปิดไต่สวนฯคดีดังกล่าวในวันที่ 13 มิ.ย.นี้