.
ศาลรธน.ตีตกคำร้อง “วิโรจน์ นวลแข” อดีตผู้บริหารธ.กรุงไทย ปมอ้างวิธีพิจารณาศาลฎีกานักการเมืองละเมิดสิทธิฯหลังพิพากษายกฟ้อง “ทักษิณ”
.
วิโรจน์ นวลแข – เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาในคดีที่ นายวิโรจน์ นวลแข ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ถูกร้อง ฟ้องผู้ร้องกับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลพิพากษาว่าผู้ร้องมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 8 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 และมาตรา 308 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 แต่ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และ ผู้ร้องเห็นว่า เมื่อศาลยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวในคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจถูกดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องทำให้ผู้ร้องต้องตกอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาค้นหาความจริงที่แตกต่างจากการพิจารณาแบบทั่วไปและถูกพิพากษาให้มีความผิด จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 มาตรา 29 มาตรา 188 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง ขัดต่อกฎหมาย และหลักนิติธรรม ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย
.
นอกจากนี้ ผู้ร้องกล่าวอ้างด้วยว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 และมาตรา 27 ทำให้ผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิจากการกระทำของผู้ถูกร้อง โดยศาลฯพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
.
ส่วนที่กล่าวอ้างว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 นั้น เป็นการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้ เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้อง ไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
.
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดีนี้ของคณะตุลาการฯ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจาก เคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่นซึ่งเคยพิจารณาวินิจฉัยในคดีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้น มาก่อน และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต
.
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กับพวกถูกอัยการยื่นฟ้องในคดีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครโดยมิชอบร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายทักษิณเป็นจำเลยที่ 1 เหตุเกิดเมื่อปี 2555 และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา สั่งจำคุก วิโรจน์ พร้อมพวกรวม 4 คนๆละ 18 ปี พร้อมสั่งชดใช้เป็นเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท แต่นายทักษิณหลบหนีคดี ศาลจึงได้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดีและจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งเมื่อ 30 สิงหาคม 2562 ศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังโดยมีคำพิพากษายกฟ้องนายทักษิณ
.