ข่าวประจำวัน » #วิกฤติต่างด้าวทะลัก…!! ออกจากไทยไม่หยุดจ่อ ม.44 ชะลอ

#วิกฤติต่างด้าวทะลัก…!! ออกจากไทยไม่หยุดจ่อ ม.44 ชะลอ

4 July 2017
503   0


วิกฤติต่างด้าวทะลัก…!!ออกจากไทยไม่หยุดจ่อ ม.44 ชะลอ
BBCรายงานว่า- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ในการชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวออกไป 120 วัน โดยจะมีการหารือกันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวจะให้นายจ้างดำเนินการอะไรบ้าง
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 23-28 มิถุนายนที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวเดินทางออกจากไทยแล้วราว 60,000 คน โดย พล.ต.ต.พรชัย ขันตี รองผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยตัวเลขดังกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยให้เหตุผลว่าแรงงาน “น่าจะรู้สึกหวาดกลัว”
ด้าน เกตา เดวี คนงานพม่าวัย 28 ปี ซึ่งทำงานที่กรุงเทพฯ บอกกับรอยเตอร์ว่า เพื่อนของเธอหลายคนต่างกลัวผลของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และเดินทางกลับเมียนมาไปแล้ว

ด้านเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา ระบุว่ารถบรรทุกของรัฐบาลไทยหลายคันได้นำแรงงานจำนวนมากไปส่งให้เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาในเมืองเมียวดี โดยไม่ชัดเจนว่าแรงงานเหล่านี้เดินทางออกจากไทยด้วยความสมัครใจหรือไม่
นายออง เต วิน เจ้าหน้าที่ประสานงานของกระทรวงแรงงานเมียนมา กล่าวกับรอยเตอร์ว่า นับตั้งวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา มีแรงงานมากกว่า 16,000 คน เดินทางกลับบ้านแล้ว โดยคนเหล่านี้เป็นทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมายและที่ไม่มีเอกสารรับรอง ซึ่งหวาดกลัวการกวาดล้างจับกุม รวมถึงแรงงานที่นายจ้างสั่งให้กลับบ้าน
ด้านนายชิน พิเศษ รองหัวหน้าสำนักงานความสัมพันธ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ของกองทัพกัมพูชา กล่าวว่า นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วมีแรงงานอพยพชาวกัมพูชาสูงถึง 500 คน เดินทางกลับบ้าน
เอ็นจีโอเสนอปลดล็อคขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติแรงงาน

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบเป็นแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายหลักแหล่ง และเปลี่ยนนายจ้างบ่อย ได้แก่ กลุ่มแรงงานก่อสร้าง แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารที่มีความต้องการสูง ภาคเกษตร และแรงงานในบ้าน
หากรัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวใน 3 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษที่รุนแรงทั้งต่อนายจ้างและแรงงาน ออกไป 120 วัน นายอดิศรมองว่า อาจช่วยได้ในแง่การลดแรงตึงเครียดระหว่างนายจ้างกับรัฐ แต่ยังไม่เพียงพอ และเสนอให้ตัดลดขั้นตอนเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศต้นทาง

จากเดิม การดำเนินการดังกล่าว ทางการไทยจะเป็นตัวกลางในการติดต่อผ่านทางสถานทูตเพื่อให้ประเทศต้นทางของแรงงานออกเอกสารรับรองบุคคลให้ทำงานในประเทศไทยได้ รวมแล้วต้องใช้เวลาราว 2 เดือนในการพิสูจน์สัญชาติของแต่ละคน นายอดิศร เสนอให้ตัดลดขั้นตอนในส่วนที่ทางการไทยเป็นตัวกลางออกไป โดยให้ตั้งแค่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่ชายแดนเพื่อดำเนินการจ้างงานแก่แรงงานที่มีเพียงแค่หนังสือเดินทางเข้าประเทศไทย
“คุยกับประเทศต้นทางว่าให้แรงงานกลับไปทำพาสปอร์ตเข้ามา แล้วตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสที่ชายแดน เมื่อแรงงานถือพาสปอร์ตเข้ามา นายจ้างยื่นคำร้องจ้างงานแล้วออกวีซ่าทำงานให้ ก่อนจะออกใบอนุญาตทำงาน 2 ปี” อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังว่าหากเปิดแบบนี้ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้บริษัทนายหน้าจัดหางานแสวงหาประโยชน์จากแรงงานด้วย
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ยังได้เสนอทางออกในระยะเร่งด่วน ให้ใช้ช่องทางที่มีอยู่ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในมาตรา 14 ที่ ระบุว่า กรณีที่มีเหตุที่กระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจของประเทศ ครม.สามารถมีมติยกเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ในกรณีใดกรณีหนึ่งได้

‘ผลประโยชน์จากการตื่นตระหนก’
ขณะที่นายอานดี้ ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิของแรงงานอพยพ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการติดตามสถานการณ์แรงงานอพยพในประเทศไทยมากว่า 10 ปี เป็นที่ชัดเจนว่า การเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ เขาตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจมีการหาผลประโยชน์เกิดขึ้น โดยอาศัยความตื่นตระหนกและความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แม้จะมีการเตือนว่าอาจถูกลงโทษ และแม้ทางการไทยจะพยายามจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานและการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็มีกลุ่มคนที่ต้องการทำลายการจัดการที่มีประสิทธิภาพนี้
นายฮอลล์ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยไร้ความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติต่อแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ราวกับพลเมืองชั้นสอง และไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ตำรวจที่พยายามกรรโชกเงินจากนายจ้างหรือแรงงานอพยพ จะถูกลงโทษ
เมื่อเดือนที่แล้ว ในรายงานการค้ามนุษย์ฉบับล่าสุดของสหรัฐฯ ไทยยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ที่ยังต้องจับตามอง เนื่องจากยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการยุติการค้ามนุษย์ได้ ด้านไทยได้โต้แย้งว่า ได้ดำเนินความพยายามหลายอย่างเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ และขอให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มาเยือนประเทศไทยเพื่อประเมินผล

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่าปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างชาติมากกว่า 3 ล้านคน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เห็นว่ามีสูงกว่านั้น


ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน