20 มี.ค.2562 – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 แล้วในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนที่ 34 ก และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มี.ค.นี้แล้ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวระบุเหตุผลไว้ว่า “โดยที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติได้กำหนดให้นาระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนซึ่งรวมถึงการรับชำระเงินภาษี ประกอบกับลักษณะในการทำธุรกรรมของภาคเอกชนในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูลเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีอากร สมควรปรับปรุงวิธีการนำส่งเงินภาษีบางประเภทและการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากรเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรและปรับปรุงอัตราโทษสาหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวมีเพียง 7 มาตรา แต่กลับส่งผลต่อการค้าขายในโลกออนไลน์อย่างมาก โดยเนื้อหาที่สำคัญเริ่มตั้งแต่มาตรา 3 ที่ระบุว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 3 ปัณรส มาตรา 3 โสฬส มาตรา 3 สัตตรส และมาตรา 3 อัฏฐารส แห่งประมวลรัษฎากร
“มาตรา 3 ปัณรส เพื่อประโยชน์ในการนาส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 การนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 และมาตรา 83/6 ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีอาจเลือกวิธีนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงแทนวิธีนำส่งตามที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องก็ได้
กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดระยะเวลานำส่งเงินภาษีเกินกว่าที่บัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องแต่ละกรณีไม่ได้
มาตรา 3 โสฬส การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรและการจัดทำเอกสารอื่นใดตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร จะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 3 สัตตรส เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(2) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(3) ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมา ดังต่อไปนี้
(1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป
(2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป
รายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานตามวรรคหนึ่ง และวิธีการรายงาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จำนวนครั้งหรือยอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินตามวรรคสอง ให้กำหนดเพิ่มขึ้นได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้อธิบดีมีหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับตามมาตรานี้และให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้
ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูล
มาตรา 3 อัฏฐารส ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 3 สัตตรส ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงานปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 13 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา 13 เจ้าพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 10 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจาทั้งปรับ”
มาตรา 5 ให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลตามมาตรา 3 สัตตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะต่อกรมสรรพากรครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563
มาตรา 6 การดำเนินการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามมาตรา 3 ปัณรส มาตรา 3 โสฬส และมาตรา 3 สัตตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
ก่อนหน้านี้นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากรได้เคยชี้แจงถึงกฎหมายดังกล่าวกฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และจะมีผลต่อการยื่นแบบเสียภาษีในปี 2564.
Cr.thaipost
สำนักข่าววิหคนิวส์