24 ธ.ค.60 มีรายงานจากคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เปิดเผยว่า
แนวหน้า-ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ที่มี นายธานิศ เกศวพิทักษ์ เป็นประธาน ในประเด็นการปรับปรุงโครงสร้างพนักงานสอบสวน การยกระดับความก้าวหน้าของสายงานสืบสวนให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกับตำรวจสายงานอื่นๆ ให้สามารถเจริญเติบโตได้จนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ข่าวแจ้งว่า ส่วนการสร้างกลไกตรวจสอบสำนวน และการทำความเห็นทางคดีนั้น ยังคงให้หัวหน้าสถานีตำรวจเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน มีอำนาจลงความเห็นว่าสมควรเสนอพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีหรือไม่ หากมีความเห็นแย้งกันกับพนักงานสืบสวนสอบสวนก็ให้หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนระดับกองบังคับการเป็นผู้ชี้ขาด
สำหรับการเรียกคืนหรือโอนสำนวนคดีนั้น ไม่ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ เรียกคืนหรือโอนสำนวนคดีไปให้คนอื่นทำโดยพลการ เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวนนั้นๆ จะล่าช้า หรือมีข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เป็นกลาง ถูกร้องเรียนหรือปรากฎว่าพนักงานสืบสวนสอบสวนนั้นๆ เข้าไปมีส่วนได้เสีย ก็ให้เรียกคืนสำนวน และสั่งให้โอนสำนวนคดีไปยังพนักงานสืบสวนสอบสวนคนอื่นได้ ตามเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น
ส่วนเรื่องการรับโอน บุคคลภายนอกมาเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีนั้น มีข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญาว่า ให้รับโอนบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่มีความรู้ความสามารถทางนิติศาสตร์และการพิจารณาอรรถคดี เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนได้
ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อาจเสนอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีคำสั่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่ใน สตช.เพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนสอบสวนคดีนั้นได้ และให้ถือเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีที่ได้รับแต่งตั้ง
ข่าวแจ้งว่า กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อความโปร่งใส และให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นในความเป็นธรรม หรือเพื่อประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีเฉพาะทาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจมีมติแต่งตั้งให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นที่ประจักษ์ ให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะคดีก็ได้ หรือให้พนักงานสืบสวนสอบสวนคนใดหรือพนักงานอัยการคนใดเป็นผู้ช่วยเหลือในการสอบสวนได้
คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบการสอบสวนคดีอาญา ยังเห็นสมควรกำหนดกรอบระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม โดยไม่ล่าช้า รวมทั้งให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโดยให้มีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโดยมีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 หน่วยงาน ที่มีอิสระจากกันและให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ข่าวแจ้งอีกว่า ทั้งนี้ ยังมีมาตรการสำคัญอีก 5 ประการ ที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควรกำหนดขึ้น เพื่อความเป็นธรรมในคดีอาญา คือ 1.ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และเคร่งครัด ห้ามเลือกปฏิบัติ 2.ให้สร้างกลไกควบคุมป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจสอบสวนโดยวิธีการที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันจะนำไปสู่การดำเนินการด้วยวิธีการอันโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม 3.มีมาตรการป้องกันการควบคุมหรือคุมขังโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องหาหลบหนีเท่านั้น คำขอประกันผู้ต้องหาจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว ไม่เรียกหลักประกันเกินควรแก่กรณี ให้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ สั่งประกันอย่างชัดเจน คำสั่งไม่อนุญาต ต้องระบุเหตุผลตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
4.กำหนดให้มี “พนักงานสืบสวนสอบสวนผู้ช่วย” ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานสืบสวนสอบสวนในระดับต่างๆ ในการจัดเก็บพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์การจัดทำเอกสารประกอบสำนวนการสอบสวนหรืออื่นๆ ตามระเบียบที่กำหนด และ 5.ควรเปิดกว้างให้มีพนักงานสืบสวนสอบสวนที่เป็นเพศหญิง เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชาย
ข้อเสนอดังกล่าวได้มีการพิจารณาไปแล้วซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบการสอบสวนได้รับเอาข้อสังเกตบางประการไปปรับปรุง หลังจากนั้นจะนำไปถามความเห็นประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 77 ได้กำหนดไว้ให้กระทำ และเมื่อได้นำความเห็นมาปรับแก้อีกครั้งหนึ่งแล้วก็จะได้นำเสนอรัฐบาล ให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือน เม.ย.61
สำนักข่าววิหคนิวส์