ข่าวประจำวัน » #การเมืองผวาตาย! แฉคสช.วางยางคำสั่ง“ม.44”รีเซตพรรค

#การเมืองผวาตาย! แฉคสช.วางยางคำสั่ง“ม.44”รีเซตพรรค

23 December 2017
478   0

บรรดาตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่อย่าง ประชาธิปัตย์ และ เพื่อไทย ต่างพากันตบเท้าออกมาถล่มรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันอย่างหนัก ภายหลังจาก

แนวหน้า-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ลงนามคำสั่งตามมาตรา 44 วางกรอบเงื่อนไขการดำเนินงานของพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งฝ่ายการเมืองมองว่า เป็นวางยาเพื่อตัดกำลังพรรคการเมืองเก่า และอาจถึงกับต้องถูกรีเซตจำนวนสมาชิกพรรคจนไม่เหลือ

ปชป.จวกคำสั่ง”ม.44″วางยารีเซตสมาชิก

โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คำสั่งที่ออกมาเกือบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่กลับทำให้พรรคเก่ามีปัญหา เพราะเดิมสมาชิกพรรคเก่า สมาชิกยังไม่รีเซ็ต แต่ต้องเสียค่าสมาชิกภายใน 4 ปี หลังจากนั้นมีคนไปร้องว่าพรรคใหม่กับพรรคเก่าเท่าเทียมกัน ทำให้พรรคเก่าที่สมาชิกมีอยู่แล้ว ต้องมายืนยันสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ภายในวันที่ 30 เมษายน 2561 ไม่เช่นนั้นจะขาดจากการเป็นสมาชิกพรรค ทำให้ปชป.ที่มีสมาชิกพรรคอยู่ 2.8 ล้านคน ทำให้สมาชิกพรรคต้องมายืนยันภายในกรอบเวลาดังกล่าว ซึ่งมันไม่มีทางทำได้ทัน

โวยพ.ค.ปีหน้าเหลือสมาชิกถึงแสนคนก็บุญแล้ว

“วันนี้นั่งคุยกันในพรรคว่าต้นเดือนพ.ค. 2561 พรรคประชาธิปัตย์์มีสมาชิก 1 แสนคน ก็ถือว่าบุญแล้ว เพราะมันทำไม่ทัน สมาชิกเขาไม่มาหรอก ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเหลือน้อยลง ความร่วมมือลดน้อยลง การรณรงค์ในพื้นที่เหลือน้อยลง เราทำเรื่องสมาชิกพรรคมา 71 ปี มาทำแบบนี้หมดกันภายใน 30 วัน”

แฉชัดๆจ้องเซตซีโร่ไม่ใช่ปลดล็อก

ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าว ในการเริ่มต้นเขียนอารัมภบท เหมือนเข้าใจคำว่าพรรคการเมือง เข้าใจประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะในคำสั่ง ท้ายที่สุดกลับให้คนที่เคยเป็นสมาชิกพรรค ต้องกลับมายืนยันตัวตนใหม่ ยื่นหลักฐานใหม่ เสียค่าบำรุงสมาชิกใหม่ภายใน 30วัน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และในทางปฏิบัติภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค ความหมายนี้ไม่ต่างอะไรกับการให้มาสมัครใหม่ และเป็นเรื่องที่ยากมาก และ เหมือนเป็นการเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง

“ประชาชนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมายาวนานและเป็นโดยชอบด้วยกฎหมาย มีความผูกพันและมีส่วนร่วมกับพรรคมาโดยตลอด แต่กลับออกคำสั่งดังกล่าวมาเพื่อจำกัดสิทธิ ถือเป็นความไม่เป็นธรรม ไม่เห็นประโยชน์แก่ระบบประชาธิปไตย วันนี้ผู้มีอำนาจกำหนดระยะเวลาที่เร่งรัดแล้วตัดสิทธิ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลา ผู้มีอำนาจบอกว่าให้สมาชิกผูกพันกับพรรคการเมืองให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน แต่คำสั่งที่ออกมานี้กลับตรงกันข้าม ไม่อายบ้างหรือที่เขียนคำสั่งออกมากันแบบนี้ ปากพูดเหมือนดี แต่นี้คือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ” นายราเมศ ย้ำ

พรรคใหม่ได้ประโยชน์-พรรคใหญ่ตายอย่างเขียด

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายนี้ ถ้ามองในแง่ดีจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจะเป็นพวกพรรคที่เพิ่งจดทะเบียนใหม่ ซึ่งในวันที่ 1 มีนาคม 2561 ก็สามารถขออนุญาต คสช.จัดประชุมอะไรได้เลย ในเมื่อขอมา คสช.ก็ต้องอนุญาตอยู่แล้ว เพราะรู้ๆกันอยู่ว่าพรรคพวกนี้ ตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร ส่วนพรรคใหญ่ คิดว่าเราจะดำเนินกิจกรรมได้ราวเดือน มิถุนายน 2561 จะได้เปรียบเสียเปรียบประมาณ 3 เดือน แต่พรรคที่มีสมาชิกมากอย่างพรรคประชาธิปัตย์ จะมีปัญหาคือต้องให้สมาชิกพรรคมาสมัครใหม่ทั้งหมด โดยเขียนใบสมัครใหม่ เอาจริงๆก็คือการเซตซีโรพรรค

แนะ2กม.ลูกเสร็จ-ปลดล็อกใหญ่

นอกจากนี้ นายวิรัตน์ เสนออีกว่า เมื่อร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. เสร็จเมื่อใด คสช.ต้องรีบประชุมทันที ก็ต้องรีบปลดล็อคคำสั่ง คสช.ฉบับที่57/2557 ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ไม่ว่าการประชุมพรรค คัดเลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคและประชุมกำหนดนโยบาย รวมทั้งรับรองอุดมการณ์พรรค อย่างเร่งด่วน ในคำสั่งมาตรา 44 ข้อ 8 ระบุไว้อย่างชัดเจน

“เสี่ยตือ”อัดคำสั่งคสช.ไม่ได้ปลดล็อก

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเช่นกันว่า คำสั่งฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นการปลดล็อคทางการเมือง เพราะการปลดล็อกหมายถึงการให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ในทันที แต่คำสั่งนี้เป็นเพียงการขยายเวลา และการขยายเวลาแบบนี้ ไม่ใช่ความผิดของพรรคการเมือง หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะพ.ร.ป.นี้ได้ประกาศใช้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560มีการกำหนดห้วงเวลาไว้แต่ละพรรคการเมืองจึงต้องการดำเนินตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลให้เป็นไปตามโรดแมป คสช. แต่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ จนท้ายที่สุดเวลาทอดมาจนครบกำหนด ถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามก็จะถูกตัดสิทธิการส่งสมาชิกลงสนามเลือกตั้ง ต้องย้อนถามว่า เป็นความผิดของพวกเราที่ละเลยไม่ทำตามกฎหมายหรือไม่ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่เลย และเชื่อว่ากระทบต่อโรดแม็ปการเลือกตั้ง

“นิกร”ชี้คำสั่งซ่อนรูปหวังรีเซตสมาชิก

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เนื้อหาที่มีการแก้ไขขาดการประสานงานพูดคุยกับนักการเมือง เพราะพบประเด็นปัญหา โดยเฉพาะประเด็นของสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคด้วยการชำระค่าบำรุงพรรค ซึ่งตนมองว่ามีความขัดกันระหว่าง คำสั่งข้อ 1 ที่ให้แก้ไขมาตรา 140 ซึ่งกำหนดให้สมาชิกพรรคทำหนังสือยืนยันพร้อมชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง ภายใน 30 วันนับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 หากพ้นกำหนดดังกล่าวถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งขัดแย้งกับส่วนที่แก้ไข มาตรา 141 (2) และ (3) ที่กำหนดจัดให้สมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 500 คนชำระค่าบำรุงพรรค ภายใน 180 วัน และอีกไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปีและไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปีนับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 และหากพ้น 4 ปีสมาชิกพรรคยังไม่ชำระค่าบำรุงพรรคให้พ้นจากความเป็นสมาชิก

“เหตุที่ขัดกันก็เพราะว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคต้องพ้นสภาพไปตั้งแต่ภายใน 30 วันแรกแล้วก็เท่ากับไม่มีความเป็นสมาชิกภาพเหลือ การจะกำหนดให้คงสภาพถึง 4 ปีนั้น จึงเป็นความขัดกัน ผมไม่ทราบว่า เป็นการตั้งใจหรือไม่ แต่การเขียนคำสั่งแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองเท่ากับเป็นซ่อนรูปเพื่อจะรีเซตสมาชิกพรรคในรูปแบบหนึ่ง เพราะได้สร้างความลำบากให้พรรคการเมืองมากกว่าเนื้อหาเดิมก่อนการแก้ไข” นายนิกร กล่าว

“เพื่อไทย”ย้ำทำพรรคเก่ายุ่งยาก

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรมและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำสั่งที่ออกมาเป็นประโยชน์ต่อพรรคเล็กเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจต้องหาผู้สนับสนุนและเอื้อต่อคนที่เข้ามาใหม่ ส่วนพรรคเก่าจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปทีหลัง คำสั่งนี้ทำให้พรรคใหม่ได้ประโยชน์กว่าพรรคเก่า เพราะได้เริ่มต้นหาสมาชิกก่อน แต่หากไม่ออกคำสั่งนี้ พรรคที่มาทีหลังก็ต้องออกแรงหาสมาชิก 

ส่วนคำสั่งที่ออกมาเป็นการรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองเลยหรือไม่ มองว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นแต่ทำให้มีความยุ่งยาก และเสียเวลามากกว่าเดิม เพราะต้องมาตรวจสอบสมาชิกให้มีการทบทวนมายืนยันความเป็นสมาชิกแต่ในเมื่อผู้มีอำนาจเขาอยากจะสร้างกติกาอย่างไร นักการเมืองก็พร้อมสู้ทุกรูปแบบ ซึ่งการเอาเปรียบกันทางการเมือง มันเป็นเรื่องปกติของผู้ที่อยู่ในอำนาจอยู่แล้ว

สำนักข่าววิหคนิวส์